xs
xsm
sm
md
lg

“บัณฑิตรักถิ่น” แหล่งบ่มเด็กอีสาน ต่อยอดสร้างคน-ชุมชนเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ถ้าหมู่เฮาไปจากที่นี่ แล้วต่อไปที่นี่จะเหลือไผ” …
 
ประโยคหนึ่งที่ออกจากปากหนุ่มน้อยชาวน่านในหนังโฆษณาสำนึกรักบ้านเกิดเรื่องหนึ่ง ทำให้นึกย้อนถึงกระแสการไหลบ่าของบัณฑิตที่จบการศึกษาแล้วมุ่งหน้าสู่กรุงเทพเพื่อไขว่คว้าโอกาสของการลืมตาอ้าปาก แต่ผลที่ตามมาคือกำลังหลักในแต่ละชุมชนลดลง ด้วยกำลังคนวัยทำงานในแต่ละท้องถิ่นขาดแคลน ทว่า ผู้สูงวัยและเด็กมีเพิ่มมากขึ้น 

จากปัญหาดังกล่าว ประกอบกับการมองการณ์ไกลของผู้บริหารสถานศึกษาวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี ที่กำลังจะแปรสภาพตัวเองเป็นมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีเอเชีย ในปีการศึกษา 2552 นี้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่เตรียมการไว้เพื่อรองรับธุรกิจระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวในระยะเวลาอันใกล้ อีกทั้งยังจะขยายแนวทางการศึกษาไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน กระนั้นในก้าวย่างสู่ความเติบใหญ่ ยังมีแนวคิดที่เตรียมการบ่มเพาะเด็กอีสานให้รักถิ่นเกิดสอดแซมอยู่ ด้วยการผลิต “บัณฑิตรักถิ่น”
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์
-1-
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์
อธิการบดีวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อธิบายให้เห็นภาพของแนวคิดบัณฑิตรักถิ่นว่า มีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตให้กลับบ้านเกิด โดยสร้างให้นักศึกษาสำนึกรักและกลับไปพัฒนาท้องถิ่น สามารถเป็นผู้ประกอบการในชุมชนได้ โดยไม่ต้องเข้าไปแย่งงานในกรุงเทพฯ ที่นับวันยิ่งหางานยากไปทุกที ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถสร้างอาชีพหรือผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้มากขึ้น การกระจายรายได้สู่ชุมชนก็จะมีมากตามมา เศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ตำบลหรืออำเภอก็จะเติบโตขึ้นได้เองหลังจากที่มีบัณฑิตกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของแต่ละคน ในเบื้องต้นวิทยาลัยจึงเริ่มต้นแนวคิดนี้ที่สาขาวิชาการจัดการธุรกิจชุมชน คณะบริหารธุรกิจ ซึ่งขณะนี้มีการรวมตัวกันของนักศึกษาและบัณฑิตที่จบการศึกษา ผนวกกับชุมชนและชาวบ้านซึ่งตั้งศูนย์บ่มเพาะสมัชชาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอุบลราชธานีมาก่อนหน้านี้ร่วมกับสหกรณ์บัณฑิตรักถิ่นของวิทยาลัยทำงานสอดประสานกัน

“เราอยากให้นักศึกษาของเราเป็นผู้ประกอบการในท้องถิ่นและสามารถทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านได้โดยไร้ปัญหา เราจึงเปิดให้ศึกษาภาษาถิ่นของจีน ลาว เวียดนาม กัมพูชาด้วย เพราะแทนที่เราจะแย่งตลาดกันเองในประเทศก็ไปเปิดตลาดใหม่ที่เพื่อนบ้านซึ่งมีแนวโน้มทางเศรษกิจที่น่าสนใจ โดยมีชุมชนให้การผลักดันและสนับสนุน” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ ให้ภาพ
อ.ศศิธร จินารัตน์
อ.ศศิธร จินารัตน์ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการธุรกิจชุมชน คณะบริหารธุรกิจ กล่าวถึงหน้าที่ของสหกรณ์บัณฑิตรักถิ่นว่า เป็นตัวกลางเชื่อมประสานการทำงานจัดส่งสินค้าให้ชุมชน ซึ่งเป็นร้านที่นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการเอง ขณะนี้มีอยู่ที่ อ.น้ำขุ่น อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และอ.โนนคูน จ.ศีรษะเกศ รวมแล้วหลายสิบร้าน

“ข้อดีของการมีสหกรณ์บัณฑิตรักถิ่นคือ ช่วยลดภาระด้านต้นทุนและการขนส่งสำหรับบัณฑิตที่เป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน รวมถึงช่วยให้นักศึกษาที่กำลังเรียนเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนและจัดการธุรกิจในชุมชนตนเองได้ เนื่องจากเขาสามารถเรียนรู้ระบบการขายสินค้า การเลือกคู่ค้า เทียบเคียงราคากลาง ราคาขาย และที่สำคัญเป็นการดีที่สามารถเสนอสินค้าที่สนองความต้องการของชุมชนได้”

หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจชุมชน ชี้แนวโน้มของนักศึกษาที่เรียนจบและกลับไปทำงานในพื้นที่ว่า เฉพาะในเขตจังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และนักศึกษาใหม่ให้ความสนใจกับสาขาการจัดการธุรกิจชุมชนมากขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวเลขที่เพิ่มจำนวนผู้เข้าเรียนจากหลักสิบ เป็นหลักร้อยภายในเวลา 2 ปี
พ่ออ่วม บุดดาลี
-2-
พ่ออ่วม บุดดาลี ผู้ใหญ่บ้านบ้านซำสะกวยน้อย อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี หนึ่งในนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการจัดการธุรกิจชุมชน เล่าว่า การตัดสินใจเข้ามาศึกษาต่อและกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกบัณฑิตรักถิ่นนั้นก็เพื่อจะนำไปใช้ร่วมกับความเป็นผู้นำชุมชนและเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการจัดการธุรกิจรวมถึงการเป็นเจ้าของสินค้าด้วยตนเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“เราชาวบ้านเคยถูกเอารัดเอาเปรียบมามากผมอยากให้ชาวบ้านทำธุรกิจเป็น ไม่ต้องใหญ่โตมากแต่อยากให้ทำจึงมาศึกษาดู ตอนแรกก็มีแรงเสียดทานเยอะเพราะเขาไม่เชื่อว่าตัวเขาเองจะเป็นผู้ประกอบการได้ แต่ตอนนี้เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น” ผู้ใหญ่บ้านบ้านซำสะกวยน้อย เท้าความ

พ่ออ่วม แย้มโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่โดยการรวมตัวกันจากสมัชชาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอุบลฯ ว่า กำลังรวบรวมพลังพลในกลุ่มโรงสีเพื่อทำข้าวกล้องงอกปลอดสารพิษร่วมกับอ.ตระการพืชผล เพื่อส่งให้โครงการในพระราชดำริ ทั้งนี้การร่วมเรียนกับรุ่นลูกหลานทำให้พ่ออ่วมเข้าใจระบบการสื่อสารเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
จิระพา สังฆพรม
หนึ่งในตัวช่วยของพ่ออ่วมคือ จิระพา สังฆพรม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และรั้งตำแหน่งสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวน้ำ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จากลูกสาวเจ้าของธุรกิจไวน์โอทอป 4 ดาวที่เจ้าตัวมองว่าตลาดไวน์เริ่มไม่เป็นที่นิยมและคงไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลใหม่เท่าที่ควร จึงอยากหันเหเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตรซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่นดีกว่าผนวกกับแนวคิดการรวมตัวของกลุ่มโรงสี โดยในอนาคตเธอวางโครงการไว้ว่าจะเปิดธนาคารชุมชน เมื่อกลุ่มชาวบ้านเข้มแข็งแล้ว

“ตอนที่เข้ามาเรียนเพราะอยากสืบทอดกิจการของที่บ้าน แต่ไปๆ มาๆ ศึกษาดูแล้วคิดว่าจะรวมกลุ่มกันทำข้างกล้องงอกกับพ่ออ่วมและอ.น้ำขุ่นดีกว่า ซึ่งตอนนี้เราได้กลุ่มโรงสีจำนวนหนึ่งแล้ว คาดว่าจะเป็นปึกแผ่นในไม่ช้า อนาคตคิดว่าน่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและทำเป็นธนาคารชุมชนได้”

“ถ้าเราไม่หนีจากถิ่นเกิด ชาวบ้านก็จะมีหลัก เขาจะเชื่อว่าพวกเราหนีจากการกดขี่ของนายทุนได้...” จิราพา กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น