xs
xsm
sm
md
lg

ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย แนะผู้ใหญ่ของบ้านเมือง พูดสุภาพ เหมาะสม รื่นหู เป็นแบบอย่างเยาวชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 "ศ.พิเศษ ประคอง นิมมานเหมินท์" ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ปี 51 แนะผู้ใหญ่ของบ้านเมือง พูดสุภาพ เหมาะสม รื่นหู เป็นแบบอย่างเยาวชน ย้ำพูดดีต่อกัน ช่วยคลี่คลายปัญหาได้ พร้อมให้คนรุ่นใหม่เรียนให้รู้จริงใน 3 ภาษา ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และภาษาถิ่น   

วันที่ 26 ก.ค. ศ.พิเศษ ประคอง นิมมานเหมินท์ ราชบัณฑิต ซึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 2551 กล่าวว่า ภาษามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะต้องใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในสังคม ทำความเข้าใจระหว่างกัน มีผลต่อกิจการที่ทำจะบรรลุผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าใช้ภาษาสื่อสารเข้าใจถูกต้องกันเพียงใด สำหรับคนไทยโชคดีที่มีภาษาประจำชาติ ต้องการให้ช่วยกันอนุรักษ์ ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เหมาะสม อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ต้องการความเข้าใจ แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย การพูดจาดีต่อกันอาจช่วยให้ปัญหาที่เลวร้ายคลี่คลายลงได้

 "สำหรับวันภาษาไทยปีนี้ ต้องการให้ครอบครัว ครู และโดยเฉพาะผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เมื่อจะพูดจาสิ่งใดควรพูดอย่างสุภาพ เลือกใช้คำที่เหมาะสม เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชน เพราะการพูดจาที่ฟังแล้วรื่นหูจะช่วยให้อีกฝ่ายที่เห็นขัดแย้งอยากเจรจาด้วย ส่งผลไม่ให้ปัญหาทวีความรุนแรง แต่กลับมีความสงบสุขตามมา"ศ.พิเศษประคองกล่าว

ศ.พิเศษประคอง กล่าวต่อว่า ภาษาสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคตามสมัย จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ใช้ภาษาอย่างไม่ระมัดระวัง เพราะปัจจุบันสังคมอาจให้ความสำคัญกับภาษาไทยน้อยไป เห็นภาษาต่างประเทศสำคัญมากขึ้น ซึ่งก็ไม่อาจโทษใครได้ เพียงแต่อยากฝากแนวคิดว่า แม้พ่อแม่อยากจะให้ลูกเก่งภาษาต่างประเทศ แต่ภาษาไทยเองก็ไม่ควรละทิ้ง หรือไม่สนใจการใช้ที่ถูกต้อง เพราะภาษาทุกภาษาย่อมมีหลักการใช้ที่เหมือนกันคือ ต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ สถานที่ ถูกบุคคล ต้องชัดเจนทั้งการออกเสียงและใช้ประโยค ถูกต้องตามความหมาย และบริบทของภาษา

ศ.พิเศษ ประคอง กล่าวต่อว่า นอกจากการเรียนรู้ภาษาไทยกลางและภาษาต่างประเทศแล้ว ตนมองว่า ภาษาถิ่นของไทยก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กระแสสังคมคนอาศัยในต่างจังหวัดจะสอนลูกให้พูดภาษากลางอย่างเดียว ไม่สอนภาษาถิ่น ทำให้ลูกพูดภาษาถิ่นไม่ได้ ทำให้เด็กขาดความรู้ในเรื่องนี้ และสังคมท้องถิ่นก็ขาดการสืบทอดสิ่งที่บรรพบุรุษถ่ายทอดกันมา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ตำราที่ใช้คำท้องถิ่นทั้งตำรับยา ชื่อต้นไม้ หรือพิธีกรรม เป็นต้น เมื่อเด็กรุ่นใหม่มาอ่านก็ไม่รู้ความหมาย มองเป็นสิ่งโบราณไม่มีค่า แต่หากมองอีกด้านว่าสิ่งนี้คือ ภูมิปัญญาที่หาค่ามิได้ ไม่มีประเทศใดในโลกจะมี เป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ และสืบทอดไปสู่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้เห็นกระทรวงวัฒนธรรมเริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้ ตนคาดหวังว่าสถานการณ์ของภาษาถิ่นน่าจะดีขึ้น แต่อยากให้รณรงค์หรือทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เห็นหลายโรงเรียนในท้องถิ่น เริ่มหันมาฟื้นฟูอนุรักษ์กันแล้ว ตนอยากฝากให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นความสำคัญเรื่องนี้ช่วยกันอนุรักษ์กันไว้เป็นสมบัติทางสังคมที่มีค่า ถือเป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของไทย

“ฝากว่าอยากเห็นคนเยาวชนรุ่นใหม่รู้จริงใน 3 ภาษา คือ ภาษาไทยที่เป็นภาษากลางสำหรับติดต่อราชการ ภาษาต่างประเทศที่จำเป็นต้องใช้ในการสื่อสารกับโลกภายนอก และภาษาท้องถิ่น ที่เป็นเสน่ห์ของแต่ละภาคไว้ ที่สำคัญหลักการใช้ ต้องพูดให้ชัดเจน ไม่พูดภาษาไทยคำ อังกฤษคำ หรือพูดภาษาท้องถิ่นแต่ใช้คำภาษากลางไปประกอบคำ ทำให้ภาษาผิดเพี้ยน อย่าอายที่จะพูด ขอให้ภูมิใจว่านี่คือวัฒนธรรมไทย ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เช่น ภาษาเหนือคำว่า โฮงยา หมายถึง โรงพยาบาล แต่คนรุ่นใหม่ อาจพูดว่า โฮงบาลแทน และขอให้พ่อแม่ ครู หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลเป็นแบบอย่างให้เยาวชนในเรื่องนี้“ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย กล่าว

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต บรรยายพิเศษเรื่อง “เป็นครู รู้ภาษาไทยเพียงใดจึงพอเพียง” ว่า ครูภาษาไทยเป็นบุคคลที่ทันสมัย เพราะต้องทันกับภาษาที่เปลี่ยนแปลงเสมอ ครูภาษาไทยไม่ใช่สอนแค่วิชาภาษาไทยแต่ต้องสอนความเป็นคนไทย สอนวัฒนธรรม และการเป็นคนดีของสังคมให้แก่เด็กนักเรียนด้วย ในด้านวิชาการนั้น ยิ่งสอนในระดับชั้นสูง ครูยิ่งต้องมีความรู้ที่ตอบคำถามได้ ต้องให้นักเรียนใช้ภาษาไทยอย่างเข้าใจถูกต้อง หากเด็กยังไม่เข้าใจไม่ควรให้เลื่อนชั้นขึ้นไป ใช้คำที่ถูกต้องทำเนียบ เช่น ไม่นำภาษาที่คุยในอินเทอร์เน็ตมาใช้เป็นทางการ

นอกจากนี้ ยังต้องสอนให้เด็กพูดชัดถ้อยชัดคำ คำควบกล้ำต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันสูญหายไปอย่างมากแล้ว ภายในงานนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ยังได้มอบรางวัลเกียรติยศภาษาไทยให้กับอาจารย์ภาษาไทย 3 ท่าน ได้แก่ นางอัญชลี จิตสุทธิญาณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รศ.สุกัญญา สุจฉายา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายสมบัติ เสริมสิน โรงเรียนปราจีนกัลยาณี จ.ปราจีนบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น