เผยยอดผู้ปกครองสละสิทธิ์ไม่ขอรับเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลกว่า 3 หมื่นราย กทม.มียอดสละสิทธิ์สูงสุด “คุณหญิงกษมา” ยืนยันใช้จ่ายเงินที่ผู้ปกครองสละสิทธิ์อย่างโปร่งใส พร้อมให้โรงเรียนเอกชนสำรวจยอดผู้สละสิทธิ์ด้วย
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า หลังจากที่สพฐ.ได้ทำหนังสือแจ้งให้สถานศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในสังกัดจำนวน 32,150 โรงเรียน ไปสำรวจจำนวนนักเรียนที่ต้องการสละสิทธิ์ไม่ขอรับเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีนั้น ขณะนี้มีโรงเรียนแจ้งข้อมูลการสำรวจมาแล้วจำนวน 16,476 แห่ง จำนวนนักเรียนประมาณ 4 ล้านกว่าคน พบว่า มียอดนักเรียนสละสิทธิ์ไม่ขอรับเครื่องแบบนักเรียน จำนวน 16,284 คน ไม่ขอรับอุปกรณ์การเรียน จำนวน 14,000 กว่าคน รวมสองรายการมียอดสละสิทธิ์ 3 หมื่นกว่าคน โดยสำนักงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (สพท.กทม.) เขต 1 มียอดการสละสิทธิ์ในขณะนี้มากที่สุด ประมาณ 6,000 คน สพท.กทม.เขต 3 ประมาณ 4,000 คน อย่างไรก็ตาม จำนวนนักเรียนสละสิทธิ์จะมากกว่านี้หลังจากที่โรงเรียนแจ้งผลการสำรวจมาครบทั้งหมด
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำหรับที่เกรงว่าจะมีการนำเงินที่มีผู้สละสิทธิ์ไปใช้อย่างไม่โปร่งใสนั้น ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะนำยอดเงินที่มีผู้สละสิทธิ์ไปรวมกันที่ สพท.และแจกแจงว่าจะนำไปช่วยเหลือโรงเรียนไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ โดยให้ผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม คงจะดำเนินการผู้สละสิทธิ์รอบแรกก่อน แล้วจะเปิดให้ผู้ปกครองสละสิทธิ์ในรอบ 2 ต่อไป
ด้านนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า สช.กำลังให้โรงเรียนเอกชนสำรวจยอดนักเรียนที่สละสิทธิ์ไม่ขอรับเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเสนอมายัง สช.ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตนคาดว่าจะมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่สละสิทธิ์ นอกจากนี้ สช.ได้จัดทำร่างประกาศ สช.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนการอุดหนุนเป็นเงินค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2552 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน โดยในร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น การให้เงินอุดหนุนให้คำนวณจากจำนวนนักเรียนที่เรียนอยู่จริงของโรงเรียน ณ วันที่ 10 มิถุนายน ตามอัตราแนบท้ายประกาศ โดยจะต้องไม่เกินความจุของโรงเรียนที่ได้รับอนุญาต หรือตราสาร ซึ่งนักเรียนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีลักษณะดังนี้ต่อไปนี้ ได้แก่ เป็นโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตให้เปิดสอนตามหลักสูตรศธ.ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นโรงเรียนที่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาในทุกระดับชั้นเรียน หรือบางระดับชั้นเรียนเมื่อรวมกับเงินอุดหนุนรายหัวแล้วไม่เกินอัตราที่กำหนด ไม่เป็นโรงเรียนที่ประกาศแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่านักเรียนที่เรียนในโรงเรียนนี้ไม่ได้รับเงินอุดหนุน ไม่เป็นโรงเรียนนานาชาติ
ผอ.สช. กล่าวต่อว่า โรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนจะต้องยื่นคำร้องขอรับเงินอุดหนุนตามระยะเวลาที่จะกำหนดไว้หากเกินจากนี้จะให้ ถือว่าไม่ขอรับการอุดหนุนโดยโรงเรียนต้องรับภาระชดเชยเงินอุดหนุนตามประกาศนี้ให้แก่นักเรียน หรือผู้ปกครองที่ขอรับสิทธิ์ สำหรับการกำกับดูแลการดำเนินการในกรณีที่ตรวจพบว่าโรงเรียนมีการเบิกเงินอุดหนุนผิดพลาดหรือโดยไม่มีสิทธิ์ให้ผู้อนุญาตเรียกเงินคืนจากโรงเรียนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากจำนวนเงินที่เบิกโดยผิดพลาดหรือไม่มีสิทธิ์และหากตรวจสอบพบว่าโรงเรียนดำเนินการเกี่ยวกับการขอรับเงินอุดหนุนโดยทุจริตจะต้องถูกเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีรวมทั้งจะถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 พร้อมถูกดำเนินคดีอาญาและคดีอื่นที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายแก่ผู้กระทำความผิด