xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เดินหน้าดันยาขับเหล็กเข้าบัญชียาหลัก ช่วยผู้ป่วยทาลัสซีเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ดันยาขับเหล็กเข้าบัญชียาหลักฯ หวังช่วยผู้ป่วยทาลัสซีเมีย 5 หมื่นคนที่จำเป็นต้องได้รับยาขับธาตุเหล็กเข้าถึงยามากขึ้น ลดการนำเข้า ชี้ อภ.ผลิตได้ราคาถูกแค่เม็ดละ 3.50 บาท ขณะที่ สปสช.ทุ่มงบฯ ซื้อยาปีแรก 38 ล้านบาท ใน 35 โรงพยาบาล ครอบคลุมผู้ป่วย 5 พันราย ตั้งเป้าขยายให้ได้ยาครบทุกคน


วันที่ 5 มีนาคม นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2552 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งประกาศฯ ฉบับดังกล่าว มียาดีเฟอริโพรน (Deferiprone) บรรจุเพิ่มเติมอยู่ในบัญชี จ ข้อย่อย 1 สำหรับผู้ป่วยบัตรทองตาม “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยาขับธาตุเหล็กของผู้ป่วยธาลัสซีเมียในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ และได้มอบนโยบายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่งออกยานี้แก่ประเทศข้างเคียงที่มีปัญหาโรคธาลัสซีเมียด้วย

นายวิทยากล่าวต่อว่า ยาดีเฟอริโพรน เป็นยารับประทานที่มีประสิทธิผลและปลอดภัยในการรักษาภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย สะดวกในการใช้และมีราคาถูกกว่ายาชนิดฉีด อย่างไรก็ตาม ยาชนิดรับประทานที่มีจำหน่ายยังมีราคาสูง เพราะเป็นยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อภ.จึงได้พัฒนาผลิตยานี้ขึ้น ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบตัวยาสำคัญจนกระทั่งการผลิตยาสำเร็จรูป และได้รับทะเบียนยาในชื่อการค้าว่า จีพีโอ-แอล-วัน หรือ GPO-L-ONE ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2551 โดยยาได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาจนได้รับการยืนยันว่าเท่าเทียมกับยาต้นแบบ และจำหน่ายในราคาที่ไม่หวังกำไร คือ 3.50 บาทต่อเม็ด

นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับการเสนอยาดีเฟอริโพรนเข้าบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วมีข้อสรุปว่า โครงการดังกล่าวจะเพิ่มการเข้าถึงยา และมีหลักประกันประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัยของยาที่รัดกุม และมีการติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จึงได้บรรจุยาขับธาตุเหล็กดีเฟอริโพรน ไว้ในบัญชี จ ข้อย่อย 1 ซึ่งมี 3 หน่วยงานข้างต้นเป็นผู้รับผิดชอบ หากโครงการประสบผลสำเร็จจะได้มีการขยายการเข้าถึงยาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

“ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยธาลัสซีเมียประมาณ 5 แสนคน เมื่อยาชนิดนี้บรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่จำเป็นต้องใช้ยาขับธาตุเหล็กที่มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นรายเข้าถึงยาได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยมีปัญหาการใช้เข้าถึงยาขับธาตุเหล็ก เพราะยาชนิดฉีดมีราคาแพงและวิธีการใช้ยายุ่งยาก ขณะที่ยาดีเฟอริโพรนเป็นยาชนิดรับประทาน การใช้สะดวกกว่า แต่ที่ผ่านมาเป็นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาแพง”นายวิทยากล่าว

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อยาดังกล่าว สปสช.จะจ่ายเงินให้กับอภ.แล้วให้อถ.ดำเนินการจ่ายยาตรงให้กับโรงพยาบาล ด้วยวิธีการนี้จะช่วยให้คนเข้าถึงยาได้ง่ายและมีประสิทธิภพามากขึ้น โดยในปีแรกนี้จะจัดซื้อยาให้กับผู้ป่วยใน 35 โรงพยาบาล ใช้งบประมาณ 38 ล้านบาท เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 21 บาต่อคนต่อวัน หรือ 7,665 บาทต่อคนต่อปี คาดว่าจะครอบคลุมผู้ป่วย 5 พันราย และอนาคตจะขยายให้ครบผู้ป่วยทั้ง 5 หมื่นราย ซึ่งการกินยาจะต้องกินวันละ 2 มื้อ ส่วนจะทานมื้อละกี่เม็ด ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย หากน้ำหนักมากก็จะต้องทานยาจำนวนมาก

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.ได้ขยายกำลังการผลิตวัตถุดิบของยาดังกล่าว โดยได้ลงทุนปรุบปรุงสถานที่และติดตั้งเครื่องมือในการสังเคราะห์ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท อีกทั้งได้มีการสนับสนุนยาและงบประมาณจำนวน 8,485,000 บาทให้กับ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.นครปฐม และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นระยะเวลา 1ปี เพื่อประเมินประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยา ดีเฟอริโพรน 500 mg tablet ในขนาดเริ่มต้น 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน และสามารถปรับขนาดยาตามผลการตบอสนองได้สูงสุดถึง 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วันในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการกำหนดแนวทางเวชปฏิบัติของการใช้ยา คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2552

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้รับขึ้นทะเบียนตำรับยาจีพีโอ-แอล-วัน (GPO-L-ONE) โดยได้ตรวจสอบทั้งด้านคุณภาพมาตรฐาน และมีข้อมูลการศึกษาชีวสมมูลของยานี้ เทียบกับยาต้นแบบตามมาตรฐานสากล จึงมั่นใจได้ว่ายามีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยาต้นแบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น