xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ถกสำนักพิมพ์ 18 แห่ง เห็นพ้องใช้ตำราเรียนเดิม ยกเว้น สนพ.แม็ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.ถกสำนักพิมพ์ 18 บริษัท พบ 90% เห็นพ้องใช้ตำราปี 44 ส่วนโรงเรียนนำร่องใช้ผสมปี 44 และ 51 ด้านตัวแทนแม็ค อ้างไม่ได้ยึดธุรกิจ ยึดคุณภาพ อีกทั้งมีข้อเสนอให้เน้นพัฒนาครู

วันนี้ (25 ก.พ.) คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หารือร่วมกับสำนักพิมพ์ 20 สำนักพิมพ์ โดยมีสำนักพิมพ์มาร่วมหารือ 18 สำนักพิมพ์ และคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นฐาน โดยสรุปได้ว่า เราได้เริ่มต้นทำความเข้าใจร่วมกัน ว่า ปีการศึกษา 2552 จะเป็นปีแห่งการนำร่องหลักสูตร จะมีโรงเรียนนำร่อง 1,500 โรง พร้อมกันนี้ยังได้คุยกันในเรื่องหลักสูตรปี 2544 และ 2551 นั้น เนื้อหาสาระไม่ได้ต่างกันมาก แต่มีการซอยเนื้อหาสาระจากเมื่อก่อนเป็นช่วงชั้นให้เป็นปี และเป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องการเรียนการสอนและการบริหารหลักสูตร การประเมินผล มากกว่าเน้นเนื้อหาสาระ ที่ประชุม ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่า ไม่ควรยึดหนังสือเพียงเล่มเดียว ควรมีสื่อที่หลากหลาย และที่สำคัญคือการพัฒนาครู ทำให้ครูทันสมัยแม้ว่าเราจะไม่ทำให้หนังสือเรียนทันสมัยได้ตลอดกาล

ประเด็นที่ได้หารือกันอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการดำเนินงานปี 2552 ซึ่งมีโรงเรียนนำร่อง 1500 โรง และโรงเรียนทั่วไป 20,000 โรง จะใช้หนังสือเรียนปีใด ที่ประชุมก็เห็นพ้องร่วมกัน 99% ยกเว้นแม็ค ว่า ควรจะใช้หลักสูตรปี 2544 และมีพันธสัญญาร่วมกันว่า สิ่งใดที่ค้นพบว่าล้าสมัยไม่ทันกาลจะทำใบแทรกแจกให้ รวมทั้ง สพฐ.และสำนักพิมพ์ จะเปิดเว็บไซต์จะเป็นเว็บที่ที่แก้เนื้อหาสาระให้ทันสมัย และช่วยเหลือครู นำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีสำนักพิมพ์ประกันคุณภาพหนังสือได้เองใน 3 กลุ่มสาระ คือ ศิลปะ สุขศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ และภาษาอังกฤษที่เขียนโดยเจ้าของภาษา จะเพิ่มเติมเพื่อให้มีหนังสือทันให้ซื้อในปีนี้ ซึ่งหลายสำนักพิมพ์ไม่ขัดข้อง ทั้งนี้ สำนักพิมพ์จะเสนอชื่อกรรมการตรวจหนังสือวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม เมื่อตรวจแล้วจะประกาศรายชื่อเพิ่มเติมใน 3 กลุ่มบวกภาษาอังกฤษ ภายในวันศุกร์นี้

ทั้งนี้ มีคำถามว่า ทำไมไม่ตรวจ 3 กลุ่มสาระหลักสูตรปี 2551 สำนักพิมพ์หลายแห่งบอกว่าทำเสร็จ แต่เคยตกลงไว้กับ สพฐ.ว่าจะส่งหนังสือรุ่นนี้ทั้ง 3 กลุ่มสาระในเดือนสิงหาคม หากรีบร้อนทางสำนักพิมพ์จะต้องปั่นต้นฉบับ เกรงว่าจะไม่ได้คุณภาพ ทั้งนี้ ศธ.ตกลงกับสำนักพิมพ์ว่า วิชาหลักจะตรวจเดือนมีนาคม ส่วนวิชาอื่นจะตรวจเดือนสิงหาคม

“เวลาทำงานกับสำนักพิมพ์เมื่อตกปากรับคำต้องทำตามกติกา เมื่อคุยกันวันนี้ ยังขอยืนยันว่า เราจะใช้หลักสูตรปี 2544 เพียงแต่ปรับใบเทรกเนื้อหาให้เป็นปัจจุบัน ส่วนปีหน้าตัดสินใจแน่ๆ เราจะซื้อ ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 อย่างไรก็ตามก็ได้มีการถามคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร บางกลุ่มสาระไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สรุปว่า มีบางกลุ่มต้องเปลี่ยนบางกลุ่มไม่เปลี่ยน เพราะเรายังไม่ได้ฟันธงในที่ประชุมแห่งนี้ แต่เราขอให้คณะกรรมพัฒนาหลักสูตรไปประชุมเต็มองค์คณะอีกครั้งหนึ่ง และมาเรียนให้สำนักพิมพ์ทราบ เพราะขณะนี้สำนักพิมพ์เริ่มร้องทุกข์ว่า จะให้เขาส่งเดือนมีนาคม ต้องให้เขาทราบโดยเร็ว”

คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการพูดถึงหนังสือยืมเรียนในสภา จะจัดซื้อหนังสือให้นักเรียนและหน่วยงานที่ซื้อให้นักเรียนเป็นการซื้อแจก แต่ สพฐ.เสนอว่า ขอให้เป็นหนังสือยืมเรียน เราจะมาคิดว่าหนังสือใดบ้างไม่ต้องซื้อ จะซื้อบ้างเพื่ออุดเล่มที่ชำรุด อีกทั้งยังพูดถึงปีหน้าด้วยว่า หากยังเป็นหนังสือยืมเรียนจริงๆ ต้องเป็นคุณภาพควรแตกต่างเพราะกระดาษปรูฟ บาง แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราไม่ได้คำนึงถึงว่าจะเป็นหนังสือแจกหรือยืมเรียน เท่าว่าจะใช้ประโยชน์ในปี 2553 หรือไม่ ซึ่งจะมีทั้งที่ใช้ได้และเปลี่ยน

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมยังเสนอให้รัฐมนตรีพัฒนาครู ถ้าเราลงทุนหนังสือเรียนมากแค่ไหน หากครูไม่มีความพร้อม ไม่ลงทุนเพื่อช่วยเหลือครู ความหวังเรื่องคุณภาพคงไม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังย้ำว่าควรให้โรงเรียนใช้เงินอุดหนุนรายหัวซื้อหนังสือเสริมอื่นๆ เข้าห้องสมุดด้วย

นายสมเกียรติ ภู่ระหงษ์ สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ กล่าวว่า นโยบายของบริษัทเน้นคุณภาพ ส่วนข้อกังวลเรื่องข้อมูลหรือเนื้อหาสาระบางส่วน ซึ่งเข้าใจว่าหนังสือบางส่วนค้างอยู่ร้านค้าบ้าง ถ้า ร.ร.สั่งซื้อหนังสือไป เป็นเวอร์ชันเก่า ซึ่งเราพิมพ์ข้อมูลใหม่ หาก ร.ร.ได้เวอร์ชันเก่าแจ้งขอเปลี่ยนมายังบริษัทได้ทันที รวมถึงข้อมูลที่บริษัทเปลี่ยนจะนำขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้ครูเปลี่ยนข้อมูล

นายศักดิ์สิทธิ์ โรจนสราญรมย์ สถาบันพัฒนาวิชาการ กล่าวว่า ประชาชนโดยทั่วไปจะมองหลักสูตรที่เนื้อหา จริงๆ ต้องดูมิติเนื้อหา ขบวนการเรียนการสอน มิติมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเนื้อหาหนังสือเพียงเล่มเดียวคงไม่เพียงพอ จะเน้นขบวนการจะทำให้แก่เด็ก ครูควรเก็บข้อมูลซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ห้องสมุด และอื่นๆ ให้เป็นปัจจุบัน จะผ่านการสู่กิจกรรมไปสู่การคิดวิเคราะห์

“สิ่งที่ผมกังวล บางคนคิดว่าเนื้อหา คือ ตัวความรู้ จริงๆ ไม่ใช่ เมื่อครูพูดก็จะกลายเป็นความรู้ของเด็กทันที เมื่อเด็กคิดวิเคราะห์แล้วจะเป็นความรู้ของเด็ก จึงต้องให้ประชาชนทุกคนเข้าใจตรงกัน เพราะในมิติเนื้อหาเป็นตัวสำคัญที่ผู้ปกครองเข้าใจผิด ทำให้ครูสอนเนื้อหา ไปเรียนกวดวิชา เพื่อจะจำเนื้อหา สำหรับหลักสูตรปี 2544 ที่จะจัดแจกให้แก่นักเรียน เราได้ปรับปรุงเนื้อหาไว้ในเว็บไซต์และใบแทรก นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงขบวนการสอนของครูอย่างเป็นระบบ” นายสุระ กล่าวว่า หลักสูตรใหม่ สำนักพิมพ์ฯต้องขอเวลาอย่างน้อยอีก 3 เดือน

ตัวแทนสำนักพิมพ์วัฒนาพาณิชย์ แสดงความเห็นว่า เนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเรียน เป็นองค์ความรู้ส่วนหนึ่งที่ครูต้องต่อยอดให้นักเรียน แล้วให้นักเรียนไปค้นคว้าเพิ่มเติม เป็นไปไม่ได้ว่าหนังสือเรียนเมื่อพิมพ์ไปแล้วจะทันสมัยทุกเรื่อง ฉะนั้น โดยหลักของการเรียนการสอน ครูต้องปรับให้เด็กคิดค้นคว้าจากสื่อต่างๆ ไม่ใช่ท่องจากตำรา จุดสำคัญของการเรียนการสอนอยู่ที่ครูผู้สอน

นางทิพาพร ต่อสุวรรณ สำนักพิมพ์แม็ค บอกว่า จุดยืนของแม็คมีอยู่ประการเดียวการศึกษาของชาติเป็นหลัก แม้ว่าจะทำธุรกิจด้วย ทุกแห่งก็อยากได้ผลกำไรผลประโยชน์ด้วย แม็คไม่ได้ยึดธุรกิจเป็นประการสำคัญแต่ยึดคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก ถ้าเราทำหนังสือเรียนมีคุณภาพแล้วได้กำไรนิดหน่อยก็ภูมิใจ

“หนังสือพิมพ์จะพูดกันเรื่องหลักสูตรล้าสมัย จริงๆ หลักสูตรใหม่มีเรื่องของเนื้อหา สลับเนื้อหา จากช่วงชั้นเป็นชั้นปี มีการจัดมาตรฐาน ตัวชี้วัด ตามเนื้อหาที่เปลี่ยนไป เพื่อนำไปสู่การวัดการประเมินผล ฉะนั้นประเด็นหลักสูตรใหม่ไม่ใช่เนื้อหาอย่างเดียว”

น.ส.จารุวรรณ แสงทอง สสวท. กล่าวว่า หลักสูตร 51 เป็นลักสูตรฉบับปรับปรุงจากปี 44 ดังนั้น ความแตกต่างของ 2 หลักสูตรใกล้เคียงกันมาก ในปีการศึกษา 52 ถ้าใช้หลักสูตร 44 กับ 51 ในโรงเรียนนำร่อง ไม่มีปัญหา ส่วนปี 53 อาจจะมีการแบ่งซอยหรือสลับชั้นกันบ้าง คือเดิมไม่ได้แบ่งให้โรงเรียน หากโรงเรียนไม่ซื้อใหม่ ก็ใบแทรก ถ้าซื้อใหม่ก็ให้สอดคล้องกับชั้นปีที่เปลี่ยน

นายกวี กรกวิน หนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร และอาจารย์ มศว กล่าวว่า การทำหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่ที่ครู ตนขอเสนอรัฐมนตรี ทุ่มเงินปรับปรุงซื้อหนังสือ ควรปรับเปลี่ยนวิธีคิดของครูมากกว่า เพราะครูเป็นกลไกสำคัญในการเรียนการสอน นักเรียนเป็นผลผลิต หนังสือเป็นเพียงเครื่องมือ

“ขอเสนอให้คัดคนมาเรียนครู สมัยก่อนเด็กได้ที่ 1-2 เท่านั้นมาเรียนครู เอาคนเก่งมาเรียนหมอ ซึ่งแค่รักษากาย ครูสร้างทั้งกาย ใจ และจิต ควรต้องปฏิวัติใหม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น