xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” สั่ง 3 ก.ตั้งทีมแก้ปัญหานมโรงเรียน “วิชาญ” ชี้ เพิ่มภาษีนำเข้านมผงไม่ช่วยแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นายกฯ” มอบ 3 กระทรวง ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหานมโรงเรียน ด้าน “วิชาญ” ชี้ มาตรการเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้านมผงของรัฐบาล อ้างป้องกันการปลอมปน ยิ่งเพิ่มภาระผู้บริโภค

วันนี้ (24 ก.พ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้มีการนำเรื่องนมโรงเรียนเข้ามาหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ไปตั้งคณะทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน สำหรับ ศธ.จะให้ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับ 2 กระทรวง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ศธ.จะไม่เข้าไปจัดซื้อนมโรงเรียน เพียงแต่จะร่วมกันดูว่าทำอย่างไรให้ได้นมที่มีคุณภาพให้เด็กดื่ม

ขณะที่ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากที่เคยแจ้งเบาะแสว่ามีขบวนการกลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับโควตานำเข้านมผงเพื่อผลิตอาหารสัตว์ แต่นำไปผลิตนมให้นักเรียนดื่ม โดยหลายแห่งมีคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่สนใจตรวจสอบขบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน กลับนำเรื่องมาตรการปรับขึ้นภาษีนมผงนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค ถึงจะอ้างว่าเป็นการป้องกันการปลอมปนนมโรงเรียน ซึ่งหาก ครม.ให้ความเห็นชอบ ถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะสิ่งที่ปลอมปนในนมเป็นขั้นตอนในกระบวนการการผลิต ไม่ใช่เพิ่มมาตรการภาษีแล้วจะหมดไป แต่จะทำให้ราคานมสูงขึ้น และยังเปิดช่องให้ขบวนการนำเข้านมผงเพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มปริมาณนำเข้ามากขึ้น

** อย.แนะเก็บนมให้้ได้มาตรฐานป้องกันการบูดเน่า

นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การเลือกซื้อนมพร้อมดื่ม นมพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งเป็นนมที่ใช้ความร้อนและเวลาที่เพียงพอต่อการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น และบรรจุอยู่ในถุง มีระยะเวลาการบริโภคนับจากวันที่ผลิตไม่เกิน 10 วัน ควรสังเกตการเก็บรักษานมของร้านจำหน่าย โดยต้องเก็บรักษาในตู้เย็นหรือในถังแช่ที่มีน้ำแข็งสะอาดบรรจุอย่างเพียงพอ มีอุณหภูมิไม่ควรเกิน 8oC หากให้เด็กเล็กดื่มนม ผู้ปกครองควรเทนมนั้นใส่แก้วก่อน แล้วหากพบว่าสีเปลี่ยนไป มีลักษณะเป็นฟอง มียางเหนียวเกิดที่ผิวหน้า หรือมีกลิ่นหืน ให้สันนิษฐานว่านมถุงนั้นเสีย และไม่ควรบริโภคเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ควรให้เด็กดื่มนมให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรเก็บไว้และนำมาบริโภคภายหลัง หรือนำถุงนมที่ยังไม่บริโภควางไว้ภายนอกตู้เย็นหรือถังแช่นมเด็ดขาด เพราะอาจทำให้นมเสียก่อนวันหมดอายุ

“ส่วนนมยูเอชที ซึ่งเป็นนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่สูงมาก และบรรจุอยู่ในกล่อง สามารถเก็บไว้ได้นานในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็น แต่หากสังเกตมีรอยแยกฉีกขาดและมีคราบสีบนกล่องนม ไม่ควรบริโภค ควรแจ้งผู้ขายถึงการชำรุดของนมที่ซื้อ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ขอชดเชยส่วนที่เสียนั้นทันที อีกทั้งไม่ควรแช่นมยูเอชทีในกระติกน้ำแข็ง หรือน้ำร้อน เพราะกล่องกระดาษจะอ่อนตัวและชำรุด ทำให้จุลินทรีย์สามารถปนเปื้อนเข้าไปได้ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนมพาสเจอร์ไรซ์ หรือนมยูเอชที ผู้บริโภคต้องตรวจสอบฉลาก เลขทะเบียนตำรับอาหาร วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันหมดอายุ ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เป็นอันดับแรกก่อนตัดสินใจซื้อนมพร้อมดื่มมาบริโภค”นพ.นรังสันต์ กล่าว

รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่า การเสียของนมพร้อมดื่มอาจเกิดได้หลายกรณี เนื่องจากความบกพร่องของกระบวนการผลิต อาจใช้ความร้อนสูงไม่เพียงพอ หรือใช้เวลาฆ่าเชื้อน้อยเกินไป การบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะทำให้มีการปนเปื้อน หรือใช้ภาชนะบรรจุไม่สะอาด เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ในอุณหภูมิไม่เหมาะสม เกิดจากนมหมดอายุ หรือภาชนะบรรจุมีการรั่ว หรือซึม ทำให้จุลินทรีย์จากภายนอกเข้าไปได้ รวมทั้งการขนส่งและการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ผู้บริโภคควรให้ความใส่ใจอ่านฉลากทุกครั้งก่อนซื้อ และตรวจสอบสภาพของนมอย่างละเอียดตามข้อมูลเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต พบมีการแสดงฉลากที่ไม่ถูกต้อง หรือยังไม่มีเลขทะเบียนตำรับอาหาร ให้ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเร่งด่วนต่อไป

“อย.มีมาตรการกำกับดูแลและเฝ้าระวังการผลิตนมพร้อมดื่มอย่างเข้มงวด โดยผู้ผลิตจะต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน และ อย.จะตรวจสอบความเหมาะสมของสถานที่ อุปกรณ์การผลิต กรรมวิธีการผลิต การควบคุมคุณภาพ และรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตทั้งหมด หากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จึงจะออกใบอนุญาตผลิตอาหารให้ แต่ก็ยังผลิตไม่ได้ โดยผู้ผลิตจะต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมให้หน่วยราชการ เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ณ จังหวัดนั้นๆ ตรวจวิเคราะห์ก่อนและนำผลวิเคราะห์และตัวอย่างฉลากมาให้ อย.พิจารณา หากถูกต้องได้มาตรฐานตามกฎหมาย จึงจะได้รับเลขทะเบียนตำรับอาหารหรือเลขสารบบอาหาร และสามารถผลิตนมออกจำหน่ายได้ ขอให้ประชาชนชาวไทยวางใจในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดโดยเฉพาะนมพร้อมดื่มในท้องตลาด ที่ อย.คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิดอีกด้วย" นพ.นรังสังต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น