xs
xsm
sm
md
lg

“ชูวิทย์” แฉสถานบันเทิงใน กทม.90% ผิด กม.ไม่มีใบอนุญาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชูวิทย์” ชี้ สถานบันเทิงใน กทม.90% ผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาต ยันเดินหน้าแฉสถานบริการในทุกท้องที่ที่ผิดกฎหมาย เตือนตำรวจดูแลให้ดี พร้อมเสนอให้ กทม.มีอำนาจสั่งปิดสถานบันเทิงที่ไม่มีใบอนุญาต ไม่ใช่เป็นหน้าที่ตำรวจอย่างเดียว ส่วนการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ควรระบุให้ชัดเจนเป็นอาคารพาณิชย์ หรือสถานบันเทิง พร้อมเตรียมขอหารือ “กรณ์-พีระพันธุ์” ต่อไป ด้าน “สุขุมพันธุ์” เตรียมประสานรัฐบาลขอมีอำนาจเบ็ดเสร็จเรื่องสถานบันเทิง พร้อมเตรียมแก้-อุดช่องโหว่กฎหมาย แถมให้ “เสี่ยอ่าง” วิจารณ์หาก 3 เดือนไม่เห็นผล

เมื่อเวลา 10.50 น.นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้เชี่ยวชาญสถานบันเทิงของเมืองไทย เดินทางมายังศาลาว่าการ กทม.เพื่อเข้าให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะช่องโหว่เกี่ยวกับสถานบันเทิงในพื้นที่ กทม.ตามคำเชิญของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.

นายชูวิทย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบว่า คนกรุงเทพฯโชคดีที่มีผู้ว่าฯ กทม.ใจคอกว้างขวาง รับฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ซึ่งวันนี้ตนจะมาชี้ช่องโหว่ทางกฎหมายสถานบริการต่างๆ โดยจะนำข้อมูลบางประการ ซึ่งจะยกตัวอย่างสถานบริการที่สามารถทำให้ถูกต้องไม่มีปัญหาอย่างกรณีซานติก้า ผับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ กทม.ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งในแง่ใบรับรองการใช้อาคารที่ระบุชัดเจนถึงสถานบริการซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ ว่า อาคารนั้นถูกต้อง รวมถึงใบอนุญาตสถานบริการจากตำรวจซึ่งที่ซานติก้า ผับไม่มีรวมถึงสถานบริการอื่นก็ไม่มีด้วยเช่นกัน เพราะหากมีทั้ง 2 อย่างนี้ประกอบกันก็จะทำให้สถานบริการนั้นถูกต้อง

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สถานบริการในพื้นที่ กทม.ส่วนใหญ่ 90% นั้น ผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาต เพราะมีกฎหมายโซนนิงบังคับอยู่ อย่างสถานบันเทิงย่านเอกมัย ทองหล่อ ไม่มีใบอนุญาต เพราะสถานีตำรวจที่สามารถออกใบอนุญาตสถานบันเทิงได้มีเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ สน.สุทธิสาร สน.เอกมัย และ สน.มักกะสัน ดังนั้น คนที่จะลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้มีน้อยแต่ตนจำเป็นต้องออกมาเพราะอยากให้สังคมได้รับบทเรียนของซานติก้า ผับซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 66 คน มันไม่น้อยและการที่ กทม.จะเป็นเมืองมหานคร จะเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงต้องแก้ปัญหาแบบนี้ให้ได้บทเรียนของซานติก้าจะไม่ใช่ที่สุดท้ายแน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องมีการป้องกันให้ถูกต้อง

“หลังจากที่ผมออกรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งไปทำให้สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เอกมัย ปิดในเวลาเที่ยงคืน แต่ผมเชื่อว่า คงทำอย่างนี้ได้ไม่นาน และผมต้องขออภัย หลายคนโทร.มาหาผมบอกผมว่าไม่อยากให้เปิดเผยเรื่องนี้ แต่ผมยืนยันว่า คนตาย 66 คน สังคมไทยจะต้องได้รับบทเรียนในเรื่องนี้ และเจ้าหน้าที่โยธา สำนักงานเขต เปรียบเสมือนโรงงาน เรามัวแต่ไปโทษโยธา โทษวิศวกร ทั้งที่จริงแล้วต้นตอมันมาจากผู้ประกอบการ ซึ่งต้องดูว่าทำถูกต้องหรือไม่ และการออกมาเปิดเผยของตนในครั้งนี้ไม่ได้ทำเพราะหวังผลทางการเมือง แต่ผมอยากชี้ช่องให้ดูในฐานะที่ผมเคยทำสถานบริการมาก่อน แต่จะให้ไม่มีสถานบริการเลยก็ไม่ได้เพราะจำเป็นต้องมีสถานบริการเพื่อการพักผ่อน” นายชูวิทย์ กล่าว

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ตนพบผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไปที่ตนอยากเจอ ก็คือนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดก็บภาษีสรรพสามิตสถานบริการที่เก็บได้เพียง 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเป้า และ 100 ล้านบาทนั้น เป็นแค่การจัดการภาษีสรรพสามิตสถานบริการบนถนนรัชดาาภิเษกเท่านั้น ทั้งที่จริงควรจะเก็บได้ถึง 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นจัดเก็บใน กทม.5,000 ล้านบาท และทั่วประเทศอีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งการส่งคนไปประเมินว่าจะจัดเก็บภาษีเท่าไหร่นั้น จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญไปประเมิน เช่น อย่างตนเป็นต้น นอกจากนี้ ตนอยากไปหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หากมีความใจกว้างพอขวาง และหากประชาธิปัตย์มองหาการเมืองใหม่ตนพร้อมจะเข้าไปให้ข้อมูล

จากนั้น นายชูวิทย์ ให้สัมภาษณ์ หลังเข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ด้วยว่า 9 ใน 10 ของสถานบันเทิงในพื้นที่ กทม.นั้น ผิดกฎหมายทั้งสิ้นตามกฎหมายโซนนิง และปัจจุบันโซนนิงมี 3 โซนคือ โซนนิงรัชดา อาร์ซีเอ และโซนนิงเพชรบุรี นอกเหนือจากนี้ต้องปิดเที่ยงคืนหมด แต่สิ่งที่ตนพูดจะเป็นผลร้ายให้ผู้ประกอบการ ตนอยากจะให้สถานบริการใน กทม.ทั้งหมดได้รับผลประโยชน์ เพราะเราจะทำ กทม.เป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานบริการแถวทองหล่อ เอกมัย นานา เกษตรนวมินทร์ สุทธิสาร ข้าวสาร ตนมั่นใจว่า กทม.ไม่มีหมัดเด็ดที่จะจัดการกับสถานบันเทิงที่กระทำผิดกฎหมาย เนื่องจาก กทม.ไม่มีอำนาจไปสั่งปิดเพราะอำนาจเหล่านี้อยู่ที่ตำรวจเท่านั้น และเมื่ออำนาจอยู่ที่ตำรวจ ตำรวจย่อมหวงอำนาจเพราะไม่อยากให้ใครสั่งปิด ดังนั้น ตนจึงได้แนะนำเครื่องมือหลายอย่างให้กับ กทม.เช่น ใบอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งจริงๆ ต้องมีการควบคุม เพราะมีกฎหมายที่ต้องกำหนดกิจการที่ต้องควบคุมอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สถานบริการเสียงดัง

“การปฏิบัติหน้าที่ของ กทม.ลำบากมาก และ กทม.เป็นแค่ต้นน้ำใบอนุญาตก่อสร้าง หลังจากนั้นแล้วผู้ตรวจ ผู้ปิดคือตำรวจทั้งสิ้น ดังนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไปผมจะเดินหน้าเปิดเผยสถานบริการที่ไม่ถูกต้องในท้องที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจหากรู้ตัวก็รีบกำชับในท้องที่ของตัวเอง ผมไม่อยากจะไปพูด แต่เนื่องจากเหตุการณ์ซานติก้า เสียชีวิต 66 คน ผมจึงต้องทำ ทั้งนี้ ผมเห็นใจ กทม.เพราะนอกจากเจ้าหน้าที่จะมีอยู่อย่างจำกัด แล้วจะไปโทษคนก่อสร้าง คนออกใบอนุญาตก็ไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการ คือ กลจักรสำคัญ ทั้งนี้ ผมขอท้าตำรวจเลยใบอนุญาตที่ตำรวจมีมีแต่รูปของนอมินีทั้งนั้น มีแต่เด็กรับรถ แม่บ้านที่ถือแทน ไม่มีเจ้าของคนไหนที่ขอใบอนุญาตเองเพราะไม่มีใครอยากจะติดคุก ดังนั้น จึงไม่ต้องไปหาหรอกใบอนุญาตที่รูปเจ้าของตัวจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ บางครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นใจเสียเองเพราะเห็นสถานบริการมาเปิดในพื้นที่ ก็ตีปิกเพราะจะได้เงิน และยังจะไปชี้ช่องทางให้อีก” นายชูวิทย์ กล่าว

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สถานบริการส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบหลัก 3 อย่าง คือ เมา มืด แน่น ซึ่งตนมีข้อเสนอ 3 ประการ คือ ประการแรก ให้มีการระบุจำนวนคนที่เข้าไปใช้บริการได้ เช่น เข้าได้ 500 คน ก็ต้อง 500 คนเท่านั้น ต้องมีการเข้าคิวแบบต่างประเทศ และหากออก 10 คน เข้าได้ 10 คน ประการที่สอง อยากให้ กทม.มีอำนาจระงับใช้อาคารได้ไม่ใช่ต้องรออาคารทรุดถึงจะไปปิด และประการที่ 3 ในการขอใบอนุญาตก่อสร้างให้ กทม.ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นอาคารพาณิชย์หรือสถานบันเทิง

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายชูวิทย์ ว่า ข้อมูลของ นายชูวิทย์ บางส่วนทำให้ตนตกใจมาก เช่น จำนวนร้านที่ไม่มีใบอนุญาตที่มีจำนวนมากจนน่าตกใจ ทั้งนี้ จากการหารือกันแล้วและทราบว่าปัญหาอยู่ในจุดในใดบ้าง ตนก็จะมีการผลักดัน ใน 3 ส่วน ได้แก่
1.จะมีการประสานกับรัฐบาลกลางและหน่วยงานของรัฐ เพื่อเสนอขอถ่ายโอนอำนาจการออกใบอนุญาต สถานประกอบการให้มาอยู่ในความดูแลของ กทม.เพื่อให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาเหมือนเช่น เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะรวบรวบข้อมูลเพื่อหารือกับตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันด้วย 2.จะดูกฎหมายว่า กทม.สามารถเพิ่มเติมข้อบัญญัติเพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ หรือเข้มข้นขึ้นจากเดิม เนื่องจากยังพบว่ามีช่องว่างทางกฎหมายอยู่หลายจุด โดยเฉพาะเรื่องการระงับการใช้อาคารที่ยังมีกระบวนการมากมายกว่าจะระงับได้ และ 3.หากมีการเพิ่มเติมข้อบัญญัติไม่ได้ก็จะมีการประสานรัฐบาลกลางเพื่อออกเป็นข้อบัญญัติใหญ่นำมาใช้ควบคุม อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้ คุณชูวิทย์ ติดตามการทำงานของ กทม.ในเรื่องนี้ ซึ่งตนคาดว่าน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน 3 เดือน หากหลังจาก 3 เดือนแล้วคุณชูวิทย์เห็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ช่วยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตนด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น