เหมือนเป็นการเรียกร้องขอความเห็นใจและโหยหาอดีตโรแมนติกจนน่าหมั่นไส้ แต่ ‘ปริทรรศน์’ คิดว่าสำหรับผู้อ่านหลายคนที่กำลังอ่านอยู่ตอนนี้ หากลองให้เวลาตัวเองสักนิดคิดถึงภาพร้านขายของชำข้างบ้านที่มีอาซิ้มหน้าตาดุดันคอยเพ่งเล็ง กลัวเราจะขโมยลูกอมสามเม็ดบาท หรือร้านกาแฟที่ลุงป้าน้าอานั่งดื่มกาแฟ โอเลี้ยง โขกหมากรุก พูดคุยโขมงโฉงเฉงตั้งแต่เรื่องการเมือง ถึงเรื่องการมุ้ง ฯลฯ
ใช่หรือไม่ว่า คนวัยยี่สิบปลายๆ น่าจะต้องผ่านท่วงทำนองชีวิตแบบนี้มาบ้าง โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด หรือบางคนอาจเติบโตจากเงินขายลูกอมสามเม็ดบาทด้วยซ้ำ
ใช่, เรากำลังพูดถึง ‘โชวห่วย’ ช่วง 10 ปีมานี้ นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ว่ากันว่าร้านโชวห่วยในระบบที่เคยมีประมาณ 6 แสนร้านค้า ต้องล้มหายตายจากไปถึง 3 แสนราย ก็อย่างที่รู้ กลุ่มทุนค้าปลีกขนาดใหญ่มีคำกล่าวอ้างถึงความเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของผู้บริโภคเสมอ
นี่อาจไม่ใช่ข้อมูลน่าตกใจเท่าไหร่ในมุมมองคนรุ่นใหม่ในเมืองที่รูปแบบการใช้ชีวิตสัมพันธ์กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ มากกว่าอาซิ้มหน้าดุ
แต่ข้างหลังภาพอาซิ้มหน้าดุจอมจับผิด มีแรงงานนับล้านคนที่โชวห่วย-เคยและยังคง-โอบอุ้มเอาไว้ มีสมาชิกครอบครัวนับล้านชีวิตที่โชวห่วย-เคยและยังคง-ประคับประคอง มีสายสัมพันธ์นับล้านเส้นที่โชวห่วย-เคยและยังคง-เชื่อมร้อยเป็นชุมชน มีเรื่องเล่าอีกเป็นล้านที่โชวห่วย-เคยและยังคง-หล่อเลี้ยงไม่ให้เรื่องจบลง
‘ปริทรรศน์’ ขอทำหน้าที่รวบรวม ปะติดปะต่อสิ่งที่คุณอาจเคยสัมผัส แต่เราหลงลืมมันไปมาให้อ่านกันเพลินๆ เผลอๆ คุณอาจเคยเป็นตัวละครของเรื่องเล่าธรรมดาๆ เชยๆ ต่อไปนี้
1
มีเรื่องเล่าขานถึงอาซิ้มหน้าดุแห่งร้านโชวห่วยร้านหนึ่ง หัวคิ้วของแกจะขมวดปมเสมอๆ เด็กๆ มักจะไม่ชอบแก แต่พวกผู้ใหญ่ไม่รู้สึกอะไร เพราะเห็นแกมานาน รู้ว่าหน้าตาแกก็ดุๆ จู้จี้ขี้บ่นตามประสาคนแก่ แต่รวมๆ แล้วแกไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำเหมือนใบหน้า
เหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ทำให้อาซิ้มได้ชื่อว่าเป็น ‘จอมโกหก’
ว่ากันว่าบ่ายวันนั้น ชายหนุ่มผู้มีอาชีพขายเนื้อหมูในตลาดสดที่ใครๆ รู้จักกันดี ซื้อเหล้าขาวจากร้านของอาซิ้ม 2 ขวด ตรงดิ่งสู่บ้านเพื่อนสักคน บ่าย 4 โมงเย็นเขากลับมาอีกครั้งในสภาพกรึ่มๆ เพื่อซื้อเหล้าขาวอีก 2 ขวด ...แล้วหายไป
1 ทุ่มตรง เขากลับมาอีกครั้งเพื่อนำความมึนเมากลับไปอีก 2 ขวด อาซิ้มรู้ดีว่าหมอนี่ไม่พกโทรศัพท์ยามร่ำสุรา แกทำหน้าตระหนกตกใจ บอกละล่ำละลักว่า
“เมื่อกี้ เมียลื้อมาตาม บอกว่าลูกลื้อโดนรถชนสาหัส ให้รีบกลับบ้านด่วน”
เจอเข้าแบบนี้ เมาๆ ก็ถึงกับสร่าง เขารีบกลับบ้านเพื่อจะรู้ภายหลังว่าถูกคนแก่หลอก
2
ลุงร่างอ้วน เจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสเด็ด เป็นลูกค้าประจำเขียงหมูของชายหนุ่มคนนั้นตั้งแต่พ่อของเขายังไม่โอนกิจการให้ ทุกวัน ชายหนุ่มจะต้องเตรียมเนื้อหมูไว้ตามจำนวนที่ลุงร่างอ้วนโทรสั่ง
คุณรู้ใช่มั้ยว่า ยามที่ภรรยาของชายหนุ่มไม่อยากทำกับข้าว เขาก็จะเลือกขี่มอเตอร์ไซค์ กระเตงภรรยาและลูกไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวร้านของลุงร่างอ้วนเป็นบางครั้ง และมันก็ไม่ได้มีคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ สังคม หรือวัฒนธรรมอะไรที่คมคายมากไปกว่า “...ก็ช่วยๆ กัน”
3
ทุกๆ เช้าตรู่ ตลาดจอแจด้วยความเคลื่อนไหวของชีวิตที่ดิ้นรนเพื่อมีชีวิต ลุงร่างอ้วนมักใช้ช่วงเวลาสั้นๆ นั่งกินโอเลี้ยง (กิน ไม่ใช่ดื่ม) ปาท่องโก๋ในร้านกาแฟของอาแปะผมขาว อุดหนุนจุนเจือกันมานาน ตั้งแต่ลูกอาแปะยังเด็กๆ เดี๋ยวนี้ อาแปะมีหลานวัยประถมแล้ว
แค่กินโอเลี้ยงน่ะ ไม่เปลืองเวลานักหรอก แต่ส่วนใหญ่จะเจอคนรู้จัก เป็นเหตุให้ต้องเปิดสภากาแฟ ศาลาโกหกเสมอๆ วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองตามประสาชาวบ้านร้านตลาด เมื่อวานขายของดีหรือเปล่า ใครแต่งงาน ใครตาย คนไหนซ้อมเมีย ลูกของใครเกเร รับรองว่าคนทั้งตลาดจะรู้เรื่องซุบซิบหลังแก้วโอเลี้ยงภายในเวลาไม่นาน
ร้านกาแฟกลายเป็นหอกระจายข่าว แต่นักวิชาการบางคนบอกว่ามันคือกระบวนการทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่คอยควบคุมและเชื่อมโยงชุมชนไว้ด้วยกัน
4
หลานตัวน้อยของอาแปะขายกาแฟเดินกลับจากโรงเรียนผ่านร้านของอาซิ้มหน้าดุทุกวัน ตามประสาเด็ก หนูน้อยแวะซื้อขนมเกือบทุกวัน ไอติม อมยิ้ม น้ำแดง แม้ลึกๆ จะกลัวและไม่ชอบอาซิ้มหน้าดุนัก แต่ทำยังไงได้ ไม่ซื้อร้านนี้แล้วจะไปซื้อร้านไหน
บังเอิญวันนั้นเป็นวันโชคร้าย เงินน้อยๆ ที่ปู่ให้เป็นค่าขนมเกิดหล่นหายตอนวิ่งเล่น แต่ความอยากกินขนมของเด็กๆ ห้ามกันยาก
หนูน้อยหน้าละห้อยเดินด้อมๆ มองๆ ไอติมแท่งโปรด อาซิ้มหน้าดุลุกยืนเตรียมรับทรัพย์ แต่หนูน้อยค่อยๆ เดินออกจากร้าน อาซิ้มไม่เข้าใจกระทั่งหนูน้อยสารภาพ
“อารายกัน อีแค่เงินไม่กี่บาก งั้นลื้อเอาไปก่อน แล้วบอกเตี่ยลื้อมาจ่ายตังค์ล้วย” อาซิ้มหน้าดุยังบ่นกระปอดกระแปดเป็นหมีกินผึ้ง แม้ว่าหนูน้อยจะจากไปนานแล้ว...
5
การเมืองแตกต่างทำให้ผู้คนแตกแยก ไม่มีใครบอกสักนิดว่าร้านโชวห่วย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านนั่น โน่น นี่ จะมีแต่เรื่องอบอุ่นอ่อนโยน บางร้านไม่ยอมขายของให้บางคนเพราะสีเสื้อไม่เหมือน เชียร์คนละพรรค หน้ายังไม่อยากจะมองด้วยซ้ำ
หรือบางทีก็ขายเหล้า ขายบุหรี่ให้เด็กตัวเล็กๆ ที่พ่อใช้ให้มาซื้อ รู้ทั้งรู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ก็หยวนๆ
6
ลุงร่างอ้วนกดโทรศัพท์หาลูกชายที่เรียนต่ออยู่ในกรุงเทพฯ
แกถามลูกชายว่าเสาร์-อาทิตย์ที่จะถึงว่างหรือเปล่า อยากให้กลับบ้าน จะชวนไปงานศพด้วยกัน
“ใครตายครับ”
อาซิ้มจอมโกหกเจ้าของร้านโชวห่วยจากไปแล้ว แกคิดว่าอย่างน้อยๆ ลูกชายของแกก็เคยเห็น เคยซื้อของที่ร้านนี้ แม้ว่าแกเองจะไม่อยากร่วมงานนัก ไม่ใช่อะไร แกไม่อยากเจอคนที่ไม่ลงรอยกัน แต่คนเคยเห็น เคยคุย ยังไงก็ต้องไป
เล่ากันว่าหลังจากอาซิ้มหน้าดุเสียชีวิต ลูกหลานก็ไม่ได้สืบทอดกิจการต่อ แต่ให้ร้านสะดวกซื้อชื่อดังเช่าพื้นที่เปิดร้าน หลังจากนั้นเป็นต้นมา คนในชุมชนจะได้ยินเสียงดัง 'ติ๊ง ต่อง' กับ “สวัสดีค่ะ” ทุกครั้งเวลาเข้าไปซื้อของ...
*************
ผู้จัดการออนไลน์เคยนำเสนอข้อมูลของศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล และศูนย์วิจัยพฤติกรรมบริโภค คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่สำรวจและวิจัยผลกระทบจากการเติบโตของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีต่อร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมในเขตกรุงเทพฯ ไว้เมื่อปี 2550 โดยสุ่มตัวอย่างจากร้านโชวห่วยที่เปิดดำเนินการมา 1 ปีขึ้นไปจำนวน 400 ร้านค้า พบว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ประเภทไฮเปอร์มาร์ท ส่งผลกระทบต่อร้านโชวห่วยมากที่สุดร้อยละ 34 รองลงไปเป็นร้านสะดวกซื้อร้อยละ 26 และซูเปอร์มาร์เกตร้อยละ 14 นอกจากนี้ ยับพบว่า ร้านโชวห่วยในเขตกรุงเทพฯ ต้องเลิกกิจการเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งต้องปิดตัวเอง อีกครึ่งหนึ่งหันไปทำธุรกิจอื่น และมีการคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2550 ว่าโมเดิร์นเทรดจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3-5 ปี
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2550 หากดูเฉพาะรายใหญ่ๆ จะพบว่า เทสโก้ โลตัสขยายสาขาในไทยเพิ่มขึ้นถึง 91 แห่ง ในมาเลเซีย 10 แห่ง ส่วนในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ไม่มีการขยายสาขา
คาร์ฟูร์ ขยายสาขาในไทย 26 แห่ง มาเลเซีย 10 อินโดนีเซีย 24 ฟิลิปปินส์และเวียดนามไม่มีการขยายสาขา
บิ๊กซี ขยายสาขาในไทย 54 แห่ง เวียดนาม 4 แห่ง ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่มีการขยายสาขา
**************
เส้นทางโชวห่วย
หากจะย้อนประวัติศาสตร์การค้าปลีกไทยสามารถย้อนกลับไปถึงยุคสุโขทัยที่เรียกว่า ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าช้างค้า ส่วนในสมัยอยุธยา ยุคที่การค้าขายรุ่งเรืองที่สุดน่าจะเป็นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่มีการค้าขายกับชาวต่างชาติหลากหลายประเทศ
ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การค้าขายโดยมากอยู่ในมือของขุนนาง คหบดี และพ่อค้าชาวจีน ขณะที่คนบ้านๆ ก็มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรกันเป็นปกติ การค้าไทยมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกลุ่มชาวจีนมีบทบาททางเศรษฐกิจสูงขึ้น แล้วร้านโชวห่วยที่เติบโตขึ้นเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทยก็คือ ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง ของ เตียง จิราธิวัฒน์ หลังจากนั้น การค้าปลีกของไทยก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา
แต่ช่วงปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งทำร้ายธุรกิจไทยจำนวนมาก รวมถึงร้านโชวห่วยขนาดเล็ก บวกกับการที่ต่างประเทศแห่กันเข้ามาซื้อธุรกิจในบ้านเราและช่องโหว่ทางกฎหมาย ส่งผลให้โมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่เริ่มแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วนับแต่นั้น นำมาสู่การล่มสลายของโชวห่วยนับแสนรายในห้วงเวลา 10 ปี
มีข้อเสนอว่าร้านโชวห่วยเองก็ต้องปรับตัวเพื่อเอาชีวิตให้รอดจากการรุกคืบของโมเดิร์นเทรด แต่ด้วยขนาดทุนที่แตกต่างมหาศาล จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้
“สถานการณ์ค้าปลีกไทยถูกรายใหญ่บิดเบือนโครงสร้างราคาสินค้า ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการทั้งหมดในตลาดเสียไปหมด ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก จนถึงผู้บริโภค 4 กลุ่มใหญ่ที่เป็นซัปพลายเชนนี้ ถูกกลุ่มทุนใหญ่บิดเบือนโครงสร้างราคาจนเสียรูป ทำให้การจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดที่ควรเป็นไปตามกลไกราคาถูกบิดเบือน เนื่องด้วยรายใหญ่เอาสินค้าที่เป็นตัวนำหรือแบรนด์ลีดเดอร์มาเป็นแม่เหล็กในการสร้างยอด และไม่ใช่การสร้างยอดเพื่อผลกำไร แต่เป็นการสร้างยอดเพื่อดึงคนเข้าสู่สถานประกอบการ และอาศัยการที่มีคนจำนวนมากเข้าไปเพื่อดึงให้มูลค่าพื้นที่ในห้างของเขาเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง” สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย อธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าห้างดิสเคานต์สโตร์ขนาดใหญ่ของต่างชาติเหล่านี้ก็ใช่จะประสบความสำเร็จในทุกประเทศที่เข้าไป โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ห้างขนาดใหญ่ไม่อาจมีชัยเหนือห้างท้องถิ่นได้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะปัจจัยจากภาครัฐและการบังคับใช้กฎหมาย การรวมกลุ่มของทุนท้องถิ่น และวัฒนธรรมความเป็นชาตินิยมของคนในประเทศนั้นๆ
ขณะที่ผู้ค้าปลีกรายย่อยจำนวนมากในประเทศไทยก็พยายามรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อควบคุมการขยายตัวของห้างขนาดใหญ่ แต่ถูกยื้อยุดกันมา 4-5 ปีก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลอด ซึ่งสันนิษฐานได้ไม่ยากว่าคงมีการล็อบบี้จากกลุ่มทุนทั้งในที่ลับและที่แจ้งอย่างหนัก
ความล่าช้านี้เอง โชวห่วยกว่า 3 แสนรายจึงต้องสูญหายไป ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานค้าปลีกค้าส่ง หอการค้าไทย ถึงกับบอกว่า ต่อให้ออกมาตอนนี้ก็คงไม่ช่วยอะไร
“กฎหมายที่เราจะออก มันช้าไปแล้ว กฎหมายในต่างประเทศ เขาจะควบคุม 3 ด้าน คือการบริหารจัดการพื้นที่หรือการคุมพื้นที่ คุมเวลา และคุมราคา แต่กฎหมายค้าปลีกที่เราพยายามจะออกกันนี่คุมพื้นที่อย่างเดียว แต่ที่คุมแค่อย่างเดียวก็ยังถูกต่อต้านจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ กฎหมายฉบับนี้เราคิดมาตั้ง 5-6 ปีแล้ว แต่ออกไม่ได้ ภายใน 5-6 ปีนี้เขาก็ขยายสาขาเต็มไปหมดและยังออกโมเดลใหม่ๆ อีก
“ส่วนกฎหมายที่จะออกมาในอนาคต ผมก็ยังไม่รู้ว่าที่เขาจะเสนอ เป็นร่างไหน เพราะการตั้งสาขาจะต้องมีกรรมการดูแล ซึ่งร่างหนึ่งจะมีกรรมการชุดเดียวจากส่วนกลาง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน แต่ร่างที่เราเสนอจะมีกรรมการ 2 ชุด คือกรรมการในท้องถิ่นมีผู้ว่าฯ เป็นประธานกับกรรมการจากส่วนกลาง”
ด้วยถ้อยคำชวนไขว้เขวและการพร่ำบ่นเรื่องการเปิดเสรีของนักเศรษฐศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้เรามองข้ามคำถามสำคัญประการหนึ่ง เพราะนี่ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการรุกรานของทุนที่ใหญ่กว่ากระทำต่อทุนท้องถิ่นที่ไม่มีพลังอำนาจพอจะต่อกร ซ้ำเติมด้วยการไม่ดูดำดูดีของภาครัฐ เราจะปล่อยให้คนเล็กคนน้อยต้องล้มตายในสนาม Free Trade แต่ไม่ Fair Trade อย่างนี้หรือ
**************
เสียงของคนโชห่วย
“สมัยก่อน 30 กว่าปีก่อน ปลาทูที่ขายยังใช้เถาวัลย์ร้อยเลย เช้าตี 4 ต้องมานั่งก่อเตา นั่งดูว่าเดือดหรือยัง บางทีขายๆ อยู่ถ่านก็หล่นลงมาโดนขาพองอีก 4 โมงยังเก็บร้านไม่ได้เลย แต่ตอนนี้บ่าย 2 ก็เก็บร้านแล้ว มันไม่มีคน คนกินน้อยลงเพราะตลาดนัดมันเยอะ มันมีทางเลือกเยอะ ส่วนร้านกาแฟใหญ่พวกนี้พอเรารู้ว่าเขาขายราคาเท่าไหร่ เราก็ตกใจนะ ราคาเป็นร้อย เด็กรุ่นใหม่เขากินกัน ส่วนเราเอง เราก็ไม่กินอยู่แล้ว แต่เขาทำราคากันได้เยอะนะ ร้านผมไม่ค่อยมีเด็กวัยรุ่นมากินหรอก ส่วนใหญ่ก็เป็นคนอยู่ในตลาด ส่วนใหญ่รู้จักกันหมด
“เมื่อก่อนก็มีที่มานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เดี๋ยวนี้เรียกสภากาแฟ แต่เมื่อก่อนจะเรียกศาลาโกหก บางร้านเขาจะมีหมากรุกวางไว้ให้เล่นกัน บางทีก็นั่งกันทั้งวัน”
ประพัฒน์ วิริยะสหกิจ เจ้าของร้านกาแฟโบราณเล็กๆ ในตลาดศรีราชา จังหวัดชลบุรี เขามีความเชื่อว่าร้านกาแฟแบบของเขาจะไม่มีวันตาย เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นทางเลือกของคนที่มีรายได้น้อยเกินกว่าจะดื่มกาแฟแก้วละร้อย
กอบกุล เปี่ยมจันทร์ เจ้าของร้านโชวห่วยเล็กๆ บนถนนพระอาทิตย์บอกว่า
“ร้านเราเปิดมาตั้งแต่ปี 2521 ตั้งแต่รุ่นแม่ แล้วพี่ก็ช่วยแม่ขายต่อ เราก็ทำเหมือนเดิมทุกอย่าง ขายของตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ที่เปลี่ยนจะมีแค่สินค้าบางอย่าง อย่างพวกยาสีฟันก็จะขายได้แต่หลอดเล็ก หลอดใหญ่เขาก็จะไปซื้อจากห้างกัน”
“แต่กิจการก็ยังเหมือนเดิม พวกโลตัสจะไม่ค่อยกระทบกับเราเท่าไหร่ ที่ส่งผลกระทบจริงๆ จะเป็น เซเว่นอีเลฟเว่น มากกว่า แต่เราก็พออยู่ได้ เพราะราคาของในเซเว่นฯ ไม่ได้ถูกกว่าเรา เราก็อาศัยบริการลูกค้า คุยกับลูกค้า ไม่เหมือนเซเว่นฯ ที่ลูกค้าต้องบริการตัวเอง ซื้อเสร็จแล้วก็ไป”
“เราจะมีลูกค้าประจำคือ แท็กซี่ สามล้อ พวกนี้จะชอบซื้อกับเรามากกว่า แต่ถ้าเป็นพนักงานออฟฟิศก็จะเข้า เซเว่นฯ มากกว่า”
จุฑารัตน์ ไตรสุธรรมพร เจ้าของร้านโชวห่วยติดกับร้านของกอบกุล เล่าอดีตว่า
“เปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2522 ตอนนั้นยังไม่มีสวนสาธารณะตรงนี้เลย มีแต่สถานที่ราชการ ชุมชน แล้วลูกค้าจากชุมชนก็จะเยอะมาก”
“ตรงที่เราขาย ลูกค้า 90-100% เป็นพนักงานออฟฟิศ แล้วมันก็ไม่มีโลตัสแถวนี้ ก็เลยไม่ได้มีผลกระทบอะไร แต่แถวๆ ที่มีโลตัสมาเปิดก็ได้ยินมาเหมือนกันว่าลำบาก เป็นเพราะค่านิยมด้วย คนชอบเดินเล่นในห้างมากกว่า”
“โลตัส หรือ เซเว่นฯ ไม่ได้ทำให้เราขายของได้น้อยลงเท่าไหร่ น้อยกว่าเมื่อก่อนนิดหน่อย แต่ที่ลูกค้าหายไปเยอะจะเป็นตอนที่สร้างสวนสาธารณะมากกว่า เพราะชุมชนหายไป แต่ก่อนเราจะขายพวกของกินของใช้ภายในบ้านได้เยอะ พวกน้ำตาลปี๊บ วุ้นเส้น แต่ช่วง 5-6 ปีมานี้จะขายพวกเครื่องดื่ม พวกของกินเล่นมากกว่า เพราะลูกค้าเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เอาพวกของใช้บางอย่างมาขายแล้ว”
**************
เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์