xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์เผย 5 ปีพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพียบทั้ง “ปรอท-ไฮโดรควิโนน-กรดเรทิโนอิก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจวิเคราะห์ เครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2547-2551 กว่า 2,412 ตัวอย่าง พบสารห้ามใช้คิดเป็นร้อยละ 31, 23, 23, 28 และ 20.4 ตามลำดับ โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังคงพบสารห้ามใช้ 3 ชนิด คือ ไฮโดรควิโนน กรดเรทิโนอิก และปรอทแอมโมเนีย พร้อมชูชุดทดสอบเบื้องต้นเพื่อให้หน่วยงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคนำไปใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองความไม่ปลอดภัยของเครื่องสำอางในพื้นที่ ช่วยให้สามารถติดตาม กำกับดูแลและแก้ปัญหาการใช้ สารห้ามใช้ในเครื่องสำอางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องสำอางที่ช่วยให้ใบหน้าขาวเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเครื่องสำอางดังกล่าวเป็นเครื่องสำอางทั่วไป จึงยังไม่มีการควบคุมการใช้สารสำคัญ ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่ช่วยทำให้ใบหน้าขาวขึ้น ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง
 
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอาง รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,412 ตัวอย่าง จำแนกได้ดังนี้ พ.ศ.2547 ตรวจ 501 ตัวอย่าง พบสารห้ามใช้ 157 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 31 พ.ศ.2548 ตรวจ 317 ตัวอย่าง พบสารห้ามใช้ 72 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23 พ.ศ.2549 ตรวจ 405 ตัวอย่าง พบสารห้ามใช้ 92 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23 พ.ศ.2550 ตรวจ 531 ตัวอย่าง พบสารห้ามใช้ 146 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 28 และปี พ.ศ. 2551 ตรวจ 658 ตัวอย่าง พบสารห้ามใช้ 134 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 20.4 สารห้ามใช้ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ ปรอทแอมโมเนีย รองลงมา คือ สารไฮโดรควิโนน รวมกับกรดเรทิโนอิก และพบตัวอย่างที่มีสารไฮโดรควิโนน หรือ กรดเรทิโนอิกอย่างเดียว รองลงมาตามลำดับ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังคงพบเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิด ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่ด้านเครื่องสำอาง ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเครื่องสำอางอาเซียน กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องแจ้งและจัดทำแฟ้มข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขหวัด (สสจ.) ก่อนผลิตหรือนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้การติดตาม กำกับดูแลและแก้ปัญหาการใช้สารห้ามใช้ในเครื่องสำอางได้อย่างครอบคลุม

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า อันตรายจากสารไฮโดรควิโนนทำให้ผู้ใช้เกิดอาการระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย กรดเรทิโนอิกหรือกรดวิตามินเอ อาจทำให้เกิดอาการหน้าแดงแสบร้อนรุนแรง เกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และสารประกอบของปรอทหรือปรอทแอมโมเนีย อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลงเกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะและไตอักเสบ

ดังนั้น ประชาชนควรมีความรู้ในการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะได้รับจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยอ่านฉลากเครื่องสำอางก่อนซื้อทุกครั้ง เลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีขนาดปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้ได้หมดภายในเวลาสมควร และก่อนใช้เครื่องสำอางควรอ่านฉลาก ปฏิบัติตามวิธีใช้ คำเตือน รวมทั้งทดสอบการแพ้ก่อนใช้

พร้อมกันนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการเฝ้าระวังและพัฒนาการตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางมาอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันได้มีการคิดค้นและพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่าย ประกอบด้วย ชุดทดสอบไฮโดรควิโนน ชุดทดสอบปรอทแอมโมเนีย ในครีมทาหน้า และชุดทดสอบกรดเรทิโนอิกในเครื่องสำอาง (กรดวิตามินเอ) ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบเบื้องต้นว่าเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้หรือไม่และเพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับอันตรายจากเครื่องสำอาง โดยเป็นชุดทดสอบที่ให้ผลรวดเร็ว วิธีการใช้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรที่ชำนาญเฉพาะ สามารถนำไปใช้ภาคสนามได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขสามารถนำไปใช้คัดกรอง ความไม่ปลอดภัยของเครื่องสำอางที่จำหน่ายในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค หากหน่วยงานใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 99499, 99926 หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น