xs
xsm
sm
md
lg

“ยาย้อมผม” อันตราย! เตือนวัยรุ่นเห่อแฟชั่นแพ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยปี 52 ตรวจพบผลิตภัณฑ์ย้อมผมไม่เข้ามาตรฐาน ร้อยละ 18 เตือนวัยรุ่นเห่อแฟชั่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ

นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สำหรับย้อมผมเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ชอบเปลี่ยนสีผมเป็นแฟชั่น ซึ่งหากขาดความระมัดระวังในการใช้อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะมี 3 ประเภท คือ ชนิดใช้ย้อมชั่วคราว ชนิดกึ่งถาวร และชนิดถาวร ประเภทที่คนไทยนิยมใช้ย้อมมากที่สุด คือ ชนิดถาวร เนื่องจากเห็นผลเร็ว สีติดทนนาน 4-6 สัปดาห์ไม่ต้อง ย้อมบ่อยและให้ระดับสีตามต้องการได้ ผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดนี้มีส่วนประกอบสำคัญส่วนใหญ่ คือ สีออกซิเดชั่น หรือที่เรียกว่าสีพารา หรือสารพาราฟินิลีนไดอะมีน (p-phenylenediamine) และเรซอซินอล (resorcinol) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดสีในสภาวะที่เป็นด่าง โดยใช้แอมโมเนียปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างและช่วยให้สีซึมผ่านเข้าสู่เส้นผมดีขึ้น ทั้งนี้ในทางตรงกันข้ามพาราฟินิลีนไดอะมีนมีฤทธิ์ก่อให้เกิดการแพ้ ทำให้หนังศีรษะอักเสบ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย จากการใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมผม ในปี พ.ศ.2552ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยกองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ย้อมผมและเคลือบผม เพื่อทดสอบเอกลักษณ์ หาปริมาณสารย้อมผมและสารเคลือบผม รวม 78 ตัวอย่าง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ย้อมผม 67 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์เคลือบผม 11 ตัวอย่าง ผลการทดสอบ พบว่า เข้ามาตรฐาน 61 ตัวอย่าง (ร้อยละ 78.2) ไม่เข้ามาตรฐาน 14 ตัวอย่าง (ร้อยละ 18) และไม่สามารถสรุปผลได้ 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 3.8) เนื่องจากฉลากไม่ระบุปริมาณสารสำคัญ จึงไม่สรุปตามเกณฑ์ยอมรับค่าคลาดเคลื่อน ของปริมาณสารสำคัญ ตามประกาศ สธ. ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากพบสารห้ามใช้ 2 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารสำคัญที่ระบุในฉลาก 3 ตัวอย่าง ปริมาณสารต่ำกว่าเกณฑ์ยอมรับค่าเคลื่อนคลาด 6 ตัวอย่าง และปริมาณสารสำคัญเกินกำหนด 3 ตัวอย่าง


นางหรรษา ไชยวานิช ผอ.กองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กล่าวว่า ก่อนซื้อผู้บริโภคควรตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์มีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ประเภทเครื่องสำอาง ส่วนประกอบสำคัญ ผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต คำเตือนบนกล่อง วิธีใช้ มีเลขทะเบียนหรือไม่ และควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ตามฉลากทุกครั้ง นอกจากนี้ควรทิ้งช่วงย้อมผมให้นานกว่า 2 เดือน และไม่ใช้ติดต่อเป็นเวลานาน หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองเครื่องสำอางฯ โทร.0-2951-0000 ต่อ 99495-6
กำลังโหลดความคิดเห็น