ค่อนข้างน่าเป็นห่วงทีเดียวสำหรับความรู้ความเข้าใจของเด็กและเยาวชนไทยที่มีต่อวันสำคัญทางศาสนาที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้คือ “มาฆบูชา” โดยเอแบคโพลล์ระบุภายหลังสำรวจพบเด็ก 55.5% ไม่ทราบว่าวันมาฆบูชาในปีนี้ตรงกับวันอะไร และอีก 63% ไม่รู้ว่าวันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องใด
“เอแบคโพล” เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “ความตั้งใจทำความดีของเด็กและเยาวชนไทยในโอกาสวันมาฆบูชา” กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนไทยอายุ 12-24 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,120 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2552 ผลการสำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานครที่ถูกศึกษาจำนวนมาก หรือร้อยละ 44.5 สามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่าวันมาฆบูชาในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตามร้อยละ 55.5 ไม่ทราบ
เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกตามเพศ พบว่า เด็กและเยาวชนที่เป็นหญิงรับรู้รับทราบวันมาฆบูชาปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ มากกว่าเด็กและเยาวชนที่เป็นชาย คือร้อยละ 51.5 ต่อร้อยละ 36.2 และพบด้วยว่า เด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษารับรู้รับทราบวันมาฆบูชามากกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือคือร้อยละ 45.2 ต่อร้อยละ 33.1 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.0 ไม่ทราบว่าหลักธรรมคำสอนที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชานั้นคือหลักธรรมอะไร หรือตอบมาไม่ถูกต้อง แต่มีอยู่ร้อยละ 37.0 ที่สามารถตอบได้ถูกต้องว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม “โอวาทปาฏิโมกข์”
เมื่อสอบถามถึงความหมายของหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชาคือโอวาทปาฏิโมกข์นั้นพบว่า เพียงร้อยละ 22.0 สามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่าโอวาทปาฏิโมกข์หมายถึงการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมต่างๆที่ตั้งใจจะทำในวันมาฆบูชาที่กำลังจะมาถึงนี้นั้น พบว่าเยาวชนมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 62.7 ระบุตั้งใจจะไปทำบุญตักบาตรในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ รองลงมาคือ ร้อยละ 42.4 ระบุจะไปร่วมพิธีเวียนเทียน ร้อยละ 33.3 ระบุจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวของตน ร้อยละ 24.2 ระบุจะไปทำบุญถวายสังฆทาน และร้อยละ 23.8 ระบุตั้งใจจะทำความสะอาดบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เยาวชนตั้งใจจะทำในวันมาฆบูชาในปีนี้ อาทิ การบริจาค ทำทานสงเคราะห์ผู้อื่น ปล่อยนกปล่อยปลา เข้าวัดฟังธรรม การนั่งสมาธิ เจริญภาวนา และการช่วยงานชุมชน สาธารณะ ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่ตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกในวันมาฆบูชานั้น พบว่า ร้อยละ 49.6 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมึนเมาทุกชนิด/ไม่สูบบุหรี่ รองลงมาคือร้อยละ 48.4 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกการยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทุกประเภท การทำความชั่วทุกอย่าง ร้อยละ 15.5 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิก ความขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ ร้อยละ 12.0 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกการพูดโกหก ร้อยละ 10.8 ระบุตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิกการพูดจาหยาบคาย ส่วนกรณีการให้ความสำคัญระหว่างวันมาฆบูชา กับวันวาเลนไทน์นั้น ผลสำรวจพบว่า เยาวชนเกินกว่า 1 ใน 3 คือร้อยละ 36.1 ระบุว่าให้ความสำคัญกับ “วันมาฆบูชา” มากกว่า ในขณะนี้ร้อยละ 23.5 ระบุให้ความสำคัญเท่ากัน และร้อยละ 31.6 ไม่ระบุความคิดเห็น ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 8.8 เท่านั้นที่ระบุว่า ให้ความสำคัญกับ “วันวาเลนไทน์” มากกว่า
และเมื่อสอบถามเด็กและเยาวชน ถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนานั้นพบว่า ร้อยละ 55.3 ระบุต้องการให้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อาทิ การจัดแสดงธรรม การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ให้มากขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 28.3 ระบุส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้จัดกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน อาทิ การร่วมทำบุญตักบาตร เวียนเทียน ร้อยละ 20.3 ระบุส่งเสริมให้เยาวชนเข้าวัดฟังเทศน์ ให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาให้มากขึ้น ร้อยละ 14.0 ระบุจัดสรรงบประมาณเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาในทุกด้าน บูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน ร้อยละ 5.2 ปลูกจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักในเรื่องบาป บุญ คุณโทษ และอื่นๆ อาทิ เข้มงวดในเรื่องการผิดวินัยสงฆ์/ปิดสถานบริการ-สถานบันเทิงทุกประเภทในวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย “มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปุรณมีบูชา” หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช อันเป็นปีแรกแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในวันนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูปนั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 (ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย) |