นับเป็นเวลากว่า 35 ปี ที่พุทธศาสนิกชนไทย คุ้นเคยกับภาพอันคุ้นตาของ “พระธาตุดอยตุง” พระธาตุเจดีย์คู่ ในรูปแบบทรงปราสาทยอดทรงระฆังกลมขนาดเล็กสององค์กรุด้วยโมเสกสีทอง ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมกรุกระเบื้องดินเผา ที่เรือนธาตุทำเป็นซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก ประดับส่วนยอดด้วยฉัตร องค์พระธาตุล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเตี้ย มีฉัตรประดิษฐานที่มุมทั้งสี่มุมของกำแพงแก้ว ซึ่งจัดเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบประยุกต์ ที่มีศิลปะภาคกลางแฝงอยู่ไม่น้อย ซึ่งภาพอันคุ้นชินนี้กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างถาวร
เนื่องมาจากเมื่อทางกรมศิลปากร ได้จัดโครงการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดและศาสนสถานสำคัญ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเองในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการบูรณะครั้งนี้ได้กระจายงบประมาณการบูรณะไปยังทั่วประเทศ ในเขตภาคเหนือ “พระธาตุดอยตุง”เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับการบูรณะใหม่ชนิดที่เรียกว่ายกเครื่องใหม่ทั้งหมดก็ว่าได้
พระธาตุเก่าแก่
เหนือยอดดอยตุงอันหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นที่ตั้งของ “พระธาตุดอยตุง”เจดีย์แห่งแรกของล้านนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1454 โดยพระมหากัสสะปะเถระและพระเจ้าอุชุราช กษัตริย์นครโยนกนาคพันธุ์ ปัจจุบันคือ เมืองล่ม อ.แม่จัน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) บรรจุในพระเจดีย์ที่ดอยแห่งนี้
และได้ปักตุงขนาดใหญ่บูชา ความยาว 1,000 วา ครั้นชายตุงปลิวสะบัดถึงที่ใด ให้หมายเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ดอยลูกนี้จึงมีชื่อว่า “ดอยตุง” ตามคติความเชื่อเรื่องพระธาตุปีเกิดของชาวล้านนา พระธาตุดอยตุงเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของชาวปีกุน (กุญ) ซึ่งปีกุนในคติล้านนาสัญลักษณ์ไม่ใช่หมู แต่คือ ช้าง (กุญชร)
ในปี พ.ศ.2470 ในยุคของครูบาศรีวิชัย องค์พระธาตุทรุดโทรมมากครูบาศรีวิชัย จึงได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยม กล่าวคือเป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูน ทรงระฆัง 8 เหลี่ยม ตั้งบนฐานปัทม์(บัว) 8 เหลี่ยม ประดับลูกแก้วอกไก่ 1 ชิ้น ฐานล่างสี่เหลี่ยมจตุรัสลด 3 ชั้น องค์ระฆังและบัลลังก์ 8 เหลี่ยมรองรับปล้องไฉน มีปลียอดประกอบฉัตร 5 ชั้น ตามศิลปะแบบล้านนา
และคงอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2516 ด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุคนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยได้ทำการบูรณะพระธาตุดอยตุงใหม่ ด้วยเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างให้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทประดับแก้วโมเสกสีทองทั้งองค์ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบจากสถาปัตยกรรมล้านนา มาใช้แบบของภาคกลาง โดยมอบหมายให้ อ.ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง
ด้วยความที่เคารพในผลงานศิลปกรรมท้องถิ่น แต่ก็ไม่อาจเลี่ยงคำสั่งเบื้องบนได้ อ.จิตร จึงได้พยายามคิดวิธีการบูรณะโดยที่ไม่ทำลายโครงสร้างเดิม ใช้วิธีหล่อคอนกรีตมาประกอบครอบเจดีย์คู่ทั้งสององค์ นับแต่นั้นพระธาตุดอยตุงจึงมีรูปโฉมเป็นเจดีย์ทรงปราสาท สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นที่คุ้นตาเรื่อยมา ก่อนที่จะมีการบูรณะใหม่ในปัจจุบัน
คืนสู่ศิลปะล้านนา
วงศ์ฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการช่างศิลป ๖ว. สำนักโบราณคดี หนึ่งในผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบูรณะพระธาตุดอยตุงได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อได้รับงบประมาณในการบูรณะกว่า 22 ล้านบาท ทางกรมศิลปากรก็ได้เริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี พ.ศ.2550 และยังได้การสนับสนุนงบประมาณในการปิดแผ่นจังโกและปิดทองคำเปลวพระธาตุทั้งสององค์จากมูลนิธิวัดท่าซุงอีกด้วย
“เป็นความต้องการของชาวเชียงราย ที่ต้องการเอารูปแบบศิลปะล้านนากลับมาอยู่คู่พระธาตุ ชาวเชียงรายอยากได้พระธาตุคืน เป็นรูปทรงเหมือนสมัยของครูบาศรีวิชัย”วงศ์ฉัตรกล่าว
ดังนั้นหากจะเรียกว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของพระธาตุดอยตุง สร้างมาจากศรัทธาท้องถิ่นก็คงไม่ผิดนัก การบูรณะครั้งใหม่นี้ วงศ์ฉัตรเล่าว่า ก่อนอื่นได้ไปพบอาจารย์จิตรเพื่อหารือและขออนุญาตรื้อแบบของท่าน ซึ่งนอกจากท่านจะไม่ติดใจความใดแล้ว ยังได้ให้ข้อมูลการบูรณะเมื่อปีพ.ศ.2516 มาอีกด้วย
"อาจารย์จิตรท่านเก่งมาก หล่อเป็นชั้นๆ แล้วไปประกอบปั้นพิมพ์ปูนปั้นบัวหงายบัวคว่ำ จากนั้นทำไม้แบบกั้นด้านใน แล้วลงปูน มีเพียงบางช่วงที่แนบสนิท บางช่วงมีช่องว่างขนาดคนเดินลอดได้ ท่านสร้างหุ้มของเดิม ไม่ได้ทำลายของเดิม"
เมื่อได้ทำการบูรณะครั้งใหม่แล้ว ทางกรมศิลป์เองก็ได้ขออนุญาตขุดเจาะเพิ่มเติมเพื่อสำรวจชั้นดินทางโบราณคดี สิ่งก็พบร่องรอยหลักฐานซากพระเจดีย์พระธาตุสมัยก่อนครูบาศรีวิชัยอีกด้วย
"ผลการขุดตรวจสอบพบร่องรอยพระธาตุดอยตุงรุ่นแรกอยู่ใต้ดินลึกไปอีก 2 เมตร เป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า สมัยแรกนี้พังทลายลงเหลือแต่ฐานสี่เหลี่ยม แสดงว่าแรกทีเดียวพระธาตุมี 1 องค์ แล้วมีการสร้างวิหารเล็กๆ อยู่ด้านข้างอีก 1 องค์ ต่อมาถึงได้มีการสร้างเจดีย์เพิ่มอีก 1 องค์ เป็น 2 องค์ แล้วถึงเป็นรุ่นครูบาศรีวิชัยมาสร้างฐานหุ้มอีก คาดว่าที่นี่ผ่าการบูรณะมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ไม่รู้เริ่มในยุคสมัยใด" วงศ์ฉัตรอธิบาย
นอกจากบูรณะองค์พระธาตุแล้ว ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วย โดยพระอุโบสถที่เป็นรูปแบบภาคกลาง ก็จะปรับปรุงให้กลับมาเป็นแบบล้านนา สร้างศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวที่ลานด้านล่าง
ส่วนวิหารเก่าจะคงรักษาไว้ ซึ่งวิหารนี้คาดว่าน่าจะเก่ากว่าสมัยครูบาศรีวิชัย ทุบศาลาทิ้งเพื่อปรับเป็นพื้นที่สีเขียว ทำทางเดินขึ้น-ลงเชิงบันไดนาคใหม่ทั้งหมด พระธาตุดอยตุงในวันนี้ นอกจากจะกลับคืนสู่รูปแบบศิลปกรรมแบบล้านนาแล้วยังคงความงดงามและน่าเยือนกว่าเดิมอีกด้วย
หลากพระธาตุกับการบูรณะ
สำหรับโบราณสถานแหล่งอื่นๆในพื้นที่ จ.เชียงรายที่ได้รับการบูรณะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเองในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังมีอยู่ด้วยกันอีกหลายแห่ง อย่างที่ “พระธาตุภูเข้า” ตั้งอยู่บ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ใกล้กับสามเหลี่ยมทองคำ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับงบ 60 ปีในการบูรณะ
พระธาตุภูเข้า ตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบเครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ และเครื่องมือหินขัดจำนวนหนึ่งที่บนยอดดอยและที่ลาดเชิงดอยภูเข้า สภาพก่อนการบูรณะของพระธาตุภูเข้า ตั้งอยู่บนยอดดอยซึ่งปกคลุมไปด้วยวัชพืชและต้นไม้ใหญ่ สภาพโดยทั่วไปชำรุดเสื่อมสภาพลักษณะสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลปกรรมโบราณสถานได้รับอิทธพลรูปแบบจากศิลปะสุโขทัยและพระพุทธศาสนาแบบอย่างลังกาวงศ์อย่างเห็นได้ชัด
รอบวิหารมีเจดีย์รายจำนวน 4 องค์ ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดวางตัวตามแนวแกนตะวันออก ตะวันตก โดยเจดีย์ราย 3 องค์ คือ องค์มุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศเหนือของวิหารมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท
โดยการบูรณะครั้งนี้ทางกรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งบูรณะฐานชุกชีพระพุทธรูป ขุดตรวจแต่งเพื่อศึกษารูปแบบของฐานชุกชีและหารูปแบบเดิม ปูพื้นปูบล็อกตัวหนอนใหม่ จัดวางรางระบายน้ำพร้อมบ่อพัก ปรับปรุงศาลาพักร้อนเพื่อในเป็นจุดพักผ่อนชมวิวสำหรับนักท่องเที่ยว สร้างบันไดทางขึ้นใหม่
เช่นเดียวกับที่ “พระธาตุจอมกิตติ” ที่ตั้งอยู่บนดอยจอมกิตติ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2550 จนฉัตรบนยอดเจดีย์หักตกลงมา ก็ได้รับการบูรณะและได้รับบริจาคอัญมณีที่หายไปกลับคืนมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์เรียบร้อยแล้วเช่นกัน เสริมความมั่นคง องค์พระธาตุด้วยวิธีการอัดฉีดอิพอกซี่แรงดันต่ำ บูรณะซอมแซมชั้นอิฐ อนุรักษ์ปั้นปูนฉาบที่แกะสลักเป็นลวดลายสวยงามอยู่ที่เจดีย์ สำหรับยอดเจดีย์เดิมที่หักโค่นลงมาก็ได้นำมาตั้งไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธากราบไหว้อยู่บริเวณหน้าพระธาตุ
และยังมีพระธาตุเล็กๆที่บ้านน้ำลัด ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ที่มีชื่อว่า “พระธาตุวังซาง”ก็เป็นอีกแห่งที่ได้รับการบูรณะ พระธาตุวังซางองค์เดิมมีการสร้างไว้ในยุคใดสมัยใดไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ปรากฏเป็นกองอิฐหักกาปูน ชาวบ้านเรียก “กู่” ตั้งอยู่ท่ามกลางดงไม้ไผ่ซางเป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า “พระธาตุวังซาง”
ก่อนการบูรณะองค์พระธาตุมีคราบตะไคร่และเชื้อราเกาะติดจนมีสีดำ พื้นผิวบางแห่งปูนฉาบผุกร่อน เนื่องจากเสื่อมสภาพสีองค์พระธาตุหลุดลอกออก องค์ระฆังสีค่อนข้างซีด ฉัตรทองที่ปิดนั้นหลุดลอกออกเป็นส่วนใหญ่ ลวดลายบางแห่งบิดงอและแตกหัก มีหมู่วัชพืชขึ้นปกคลุมค่อนข้างรก
ซึ่งในการขั้นตอนการบูรณะ ต้องทำการถอดฉัตรลงมาและทำความสะอาด ส่วนปลียอดจากของเดิมที่ทาสีและมีขนาดเล็กก็ทำการเปลี่ยนให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อความสวยงาม ติดแผ่นจังโกลงรักจนแห้งแล้วจึงปิดทองปลูกหญ้านวลน้อยรอบองค์พระธาตุเพื่อป้องกันวัชพืช จนในที่สุดพระธาตุวังซางบูรณะเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์น่ายล
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะเท่านั้น ซึ่งยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งในหลายพื้นที่ที่ได้รับงบเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ที่ วัดดวงดี จ.เชียงใหม่ วัดพันเตา จ.ชียงใหม่ หรือแม้แต่พระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ และพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน ก็ได้รับการบูรณะด้วยเช่นกัน เมื่อบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดนับจากนี้ไป คือ การร่วมมือร่วมใจดูแลรักษาสมบัติของชาติให้ยืนหยัดงดงาม เพราะโบราณสถานเหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนรากเหง้าในอดีตของเรา.