xs
xsm
sm
md
lg

อุทาหรณ์ “นางงามบราซิล” ตาย บทพิสูจน์อันตรายของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลายเป็นเรื่องน่าเศร้า หลังจากที่นางสาวมารีอานา บริดี ดา คอสตา อายุ 20 ปี นางงามบราซิล ติดเชื้อแบคทีเรีย ซูโมนาส เออรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa) ที่กระเพาะปัสสาวะ หลังเข้ารับการรักษาผ่าตัดนิ่วในในไต ที่โรงพยาบาลในประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ต่อมาคณะแพทย์ต้องตัดมือและเท้าทั้ง 2 ข้างออก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดและเสียชีวิตลงในที่สุด

สำหรับเชื้อแบคทีเรีย ซูโมนาส เออรูจิโนซ่านั้น ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อและระบาดวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า เชื้อโรคดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะระดับรุนแรง เป็นโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบบ่อยที่สุดและพบได้เป็นประจำ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ทั้งนี้ มีโอกาสเสี่ยงสูงในผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานๆ หรือมีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ เบาหวาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการชัดเจนสามารถตรวจพบได้เร็ว โอกาสรอดชีวิตก็จะสูงขึ้น

ผศ.นพ.กำธร อธิบายต่อว่า สำหรับอาการผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักจะมีไข้ แต่อาการโรคจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อที่อวัยวะส่วนใด เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้หลายทางทั้ง การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่บาดแผลผ่าตัด การติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื้อใต้ผิวหนัง และการตัดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
มารีอานา บริดี ดา คอสตา นางงามบราซิลผู้ถูกตัดมือตัดเท้าจากการติดเชื้อ ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“นอกจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวแล้ว ในโรงพยาบาลยังมีเชื้อโรคสารพัดนับร้อยๆ ชนิด ส่วนเชื้อโรคที่มีความรุนแรงมีเกือบ 10 ชนิด ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น ในโรงพยาบาลทุกแห่งจึงมีระบบการเฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวด เพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องสนใจดูแล โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ต้องล้างมือให้สะอาด อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ น้ำ สิ่งแวดล้อมทั้งหมด รวมถึงญาติที่มาเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลก็ต้องรักษาความสะอาดล้างมือด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีป้องกันแต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100%”

ผศ.นพ.กำธร บอกด้วยว่า ปัญหาที่พบในประเทศไทย คือ ทรัพยากรบุคคลน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการบริการทางการแพทย์สูงกว่าขีดความสามารถการให้บริการทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระมาก มีความแออัด ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง คุณภาพในการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร จึงเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ด้านนพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เสริมว่า นอกจากผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานานผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ในร่างกาย ผู้ป่วยที่เป็นเจ้าชายนิทรา ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ส่วนการไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคที่มุ่งหวังให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะการรักษาที่ใช้เครื่องมือสอดใส่เข้าร่างกาย หรือการรักษาที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคลดลง การรักษาที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อแทรกซ้อน การฟอกไต เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ การผ่าตัด การใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือด การฉีดยา การเจาะเลือด การเจาะตรวจต่างๆ เป็นต้น จะต้องดูแลผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเพื่อป้องกันติดเชื้อด้วย แต่สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรือรักษาโรคทั่วไปโอกาสที่จะเป็นโรคติดเชื้อมีน้อยมาก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บอกอีกว่า ปัจจุบันการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบมากที่สุดในไทย คือ ติดเชื้อที่ปอด พบประมาณ 1 ใน 3 รองลงมาคือการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ปัจจุบันพบอัตราการติดเชื้อน้อยลง และมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 7.3 ในปี 2535 เหลือร้อยละ 6.5 ใน พ.ศ.2549

สำหรับวิธีป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล นพ.สมยศ บอกว่า สบส.ได้จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล ครอบคลุมการเฝ้าระวังการติดเชื้อของผู้ป่วยทุกระบบ และจัดทำแนวทางการป้องกันการติดเชื้อในตำแหน่งที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย เช่น การป้องกันเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจให้สะอาด เพื่อลดการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ โดยได้จัดส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกคนในโรงพยาบาล

“โรงพยาบาลทุกแห่งโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล มีการติดตามประเมินผล ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสถานการณ์โรคติดเชื้อในประเทศไทยถือว่าไม่น่าเป็นห่วง”
กำลังโหลดความคิดเห็น