xs
xsm
sm
md
lg

พยาบาล-สหวิชาชีพ มีเฮ! สธ.เตรียมปรับเบี้ยเลี้ยง อายุงาน 3-4 ปี รับ 1,200 บ./เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เตรียมเพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้พยาบาลพื้นที่ปกติและสหวิชาชีพ อายุงาน 3-4 ปี ขึ้น 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนอายุงาน 4 ปี 1,800 บาทต่อเดือน พร้อมปรับเงินค่าตอบแทนตามภาระงาน ทั้งนอกเวลาราชการ และในเวลา วางกรอบเกณฑ์แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ประเมินผลทุก 6 เดือน เผยนำร่องในโรงพยาบาลชุมชน 2 แห่ง ประสิทธิภาพทำงานดีขึ้น

พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดสาธารณสุข กล่าวว่า ตามนโยบาย นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการพิจารณาเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์คลอบคลุมและมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ แพทย์ ทันตแพทย์เภสัชกรและพยาบาลวิชาชีพในพื้นที่ทุรกันดาร ประเภท 2 และ 3 ยกเว้นในพื้นที่ปกติได้เพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยคณะทำงานได้พิจารณาเพิ่มเบี้ยเลี้ยง ให้กับพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ปกติ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์สหวิชาชีพทั้งหมดเบื้องต้นคำนวณค่าเบี้ยเลี้ยงเทียบเท่าระดับปริญญาตรีหากอายุงาน 3-4 ปี เพิ่มให้อีก 1,200 บาทต่อเดือน อายุงาน 4 ปี ขึ้นไป เพิ่มอีก 1,800 บาทต่อเดือน

พญ.ศิริพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะทำงานได้พิจารณาค่าตอบแทนตามภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ในทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งมีระเบียบข้อบังคับรองรับอยู่แล้ว โดยมีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เบื้องต้นแบ่งเป็นค่าตอบแทนในการทำงานนอกเวลา เช่น ค่าตอบแทนจากเดิมที่อยู่เวรได้ 300 บาท ก็จะเพิ่มอีก 20-25%และค่าตอบแทนภาระงานในเวลาราชการ ยกตัวอย่างเช่น หากใน 4 ชั่วโมง ต้องดูแลคนไข้ 40 คน แต่ต้องดูแลจริง 300 คน ที่เหลือจะต้องคำนวณค่าตอบแทนให้เพิ่มเติม ทั้งนี้ จะเสนอให้รมว.สาธารณสุขพิจารณาภายในสัปดาห์นี้

“สธ.ได้ทดลองใช้ระบบค่าตอบแทนตามภาระงานโรงพยาบาลชุมชน 2 แห่ง ในระยะเวลา 1 ปี พบว่า ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าตอบแทนนั้น บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพจะต้องมีความเข้าใจ ไม่เช่นนั้น อาจเกิดความรู้สึกไม่ไม่ดี หรือไม่เท่าเทียมกันได้ ซึ่งทราบมาว่า ค่าตอบแทนที่ สธ.ปรับเพิ่มให้ครั้งนี้ ก็ยังมีหลายคนที่ไม่พอใจ ดังนั้น จะมีการประเมินผลทุก 6 เดือน เพื่อพิจารณาว่า ช่วยให้ระบบบริการทางการแพทย์ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการดีขึ้น มีประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งสามารถที่จะแก้ไขปรับปรุงเป็นระยะ”พญ.ศิริพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น