xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์จุฬาฯ จี้ทบทวน “เมดิคอลฮับ”-รุมค้านนำเข้าหมอนอก จวก “วิทยา” ไม่เข้าใจหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.
หมอจุฬาฯ เตรียมทำหนังสือทบทวนนโยบายเมดิคอลฮับ ยื่น รมว.สาธารณสุข เสนอ 3 ข้อ กำหนดสัดส่วนรับรักษาคนไทย-ต่างชาติ นำกำไรจากการรักษาต่างชาติพัฒนาระบบสาธารณสุข เปิดโอกาส รพ.รัฐ ที่มีความพร้อมเป็นเมดิคอลฮับ ขณะที่หมอไทยรุมค้านนำเข้าหมอนอกรักษาผู้ป่วย จวก “วิทยา” ไม่เข้าใจหน้าที่รัฐมนตรี ชี้รพ.เอกชนไม่ได้ขาดแคลนแพทย์ แต่หาได้ง่ายอยู่แล้ว

รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลในเรื่องศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับ ว่า เป็นอย่างไรบ้าง แต่หากนโยบายเมดิคอลฮับเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเน้นให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทยนั้น ผลกระทบที่จะตามมา จะมีข้อเสียอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาสมองไหล เช่นเดียวกับที่ตนเองเคยทำวิจัยและได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนนโยบายรัฐบาลใหม่คงต้องศึกษาและหารายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จะทำหนังสือพร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวในนามคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปให้ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ว่า นโยบายดังกล่าวมีผลเสียมากกว่าผลดี เพื่อให้พิจารณาทบทวน

“รัฐบาลควรจะดำเนินการในโครงการเมดิคอลฮับอย่างเป็นรูปธรรม โดยการสนับสนุนด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าเป็นเมดิคอลสปา หรือนวดแผนไทย ซึ่งจะไม่เกิดผลเสียหาย แต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย หากรัฐบาลคิดว่า การส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาในไทยแล้วจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวด้วยเป็นความคิดที่ผิดเพราะปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนจะมีบริการรับชาวต่างชาติที่สนามบิน เพื่อเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ภายหลังการรักษาก็ส่งกลับประเทศโดยไม่มีการใช้จ่ายเงินในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างที่ตั้งควาดหวังไว้เลย”รศ.นพ.อดิศร กล่าว

รศ.นพ.อดิศร กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่า เมดิคอลฮับมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว จะต้องมีการวางแผน กรอบการดำเนินการ โดยจะเสนอไปยังรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.โรงพยาบาลจะต้องกำหนดสัดส่วนการให้บริการสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ 2.กำไรที่ได้จากการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติต้องนำมาพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในภาพรวมของทั้งประเทศ โดยนำงบมาพัฒนาสาธารณสุขชุมชน ไม่ใช่ค้ากำไรไว้เพียงผู้เดียว หรือมือใครยาวสาวได้สาวเอา ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้เป็นผู้ผลิตแพทย์เอง และ 3.ควรให้มีเมดิคอลฮับสำหรับสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีชาวต่างชาติมารักษาในโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นได้ หากเก็บค่ารักษาสำหรับชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นได้ก็จะได้นำกำไรที่ได้ไปใช้ในผู้ป่วยคนไทยรายอื่นๆ ได้

“ผมไม่เห็นด้วยกับการที่นำแพทย์ต่างชาติมารักษาชาวต่างชาติในไทย เพราะจะทำให้เกิดปัญหามาตรฐานการรักษาพยาบาล หากแพทย์ต่างชาติที่เข้ามารักษาในไทยมีมาตรฐานต่ำกว่า ทำให้ไม่สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ รวมถึงแพทยสภาจะดำเนินการควบคุมมาตรฐานได้อย่างไร ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้มากขึ้นไปอีก”
รศ.นพ.อดิศร กล่าว

ด้านพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายที่จะให้นำเข้าแพทย์ต่างประเทศมาทำงานใน รพ.เอกชน เพื่อส่งเสริมให้มีชาวต่างชาติมาใช้บริการใน รพ.เอกชน มากขึ้น เพื่อช่วยนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยร่วมกับการหาเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยวนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า รมว.สาธารณสุข ยังไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ที่ถูกต้องของผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข เพราะการส่งเสริมให้รพ.เอกชนมีผู้ป่วยมากขึ้นนั้นไม่ใช่การหาแพทย์ต่างชาติมาเพิ่ม เนื่องจากรพ.เอกชนไม่ได้ขาดแคลนแพทย์ และส่วนใหญ่สามารถหา แพทย์มาทำงานได้ง่ายๆ อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่ รมว.สาธารณสุข จะต้องไปช่วยสรรหาแพทย์ต่างประเทศมาให้แต่อย่างใด ปัญหาเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุขอันดับแรกที่ควรได้รับการแก้ไขจากผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรอื่นๆในรพ.ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่การแก้ปัญหาแพทย์ใน รพ.เอกชน

พญ.เชิดชู กล่าวว่า ส่วนปัญหาที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลมากขึ้นจนเกิดปัญหาความแออัด คนไข้ล้นโรงพยาบาลสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประชาชนไม่มีความรู้ความสามารถที่ถูกต้อง/เหมาะสมในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปฐมพยาบาล นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนมักเรียกร้องการตรวจรักษาฟรีตามสิทธิใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเว้นประชาชนที่ยากจนจริงๆ เท่านั้น ซึ่งการที่ประชาชนมาโรงพยาบาลมากขึ้นกลับทำให้แพทย์ต้องรีบเร่งทำงาน ประชาชนเกิดความเสี่ยงอันตรายจากการตรวจรักษาของแพทย์ และรัฐบาลต้องจ่ายเงินงบประมาณผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มากขึ้นทุกปีซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีจะต้องแก้ไข
กำลังโหลดความคิดเห็น