xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยไม่อยากไป ร.ร.-ไม่สนหนังสือจำนวนพุ่ง ชี้ เน็ต-เกม-ทีวี-บันเทิงนอกรั้ว ดึงดูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ห่วงเด็กไทยตั้งแต่ชั้นประถม ยันมหาวิทยาลัย อยากไปโรงเรียนแค่ร้อยละ 38 ลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนนิสัยรักการอ่านต่ำ ร้อยละ 27 เหตุถูกเน็ต-เกม-ทีวี-ความบันเทิงไร้สายทุกรูปแบบ ป่วนสมาธิ ชีวิตรื่นรมย์นอกโรงเรียน แถมโรงเรียนยังไม่ปลอดภัย ผลวิจัยเผยหากเด็กได้รับการกอด คุยเล่น จากพ่อแม่ ทำให้เด็กไอคิว-อีคิวสูงชัดเจน

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า สถาบันรามจิตติ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการสำรวจทัศนคติเด็กไทยที่มีต่อการเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย พบว่า เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่านต่ำ มีเพียง 27% เท่านั้นที่อ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการที่เด็กได้รับสื่อจากทางอินเทอร์เน็ต ทีวี และสิ่งเร้าต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งๆ ที่เนื้อหาความรู้ในหนังสือ หรือตำรา ที่มีความหลากหลายและมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ ทัศนะต่อการไปเรียนหนังสือ พบว่า ในปี 2551 เด็กอยากไปโรงเรียนร้อยละ 38 ลดลงจากเดิมในปีที่ผ่านมาที่เด็กอยากไปโรงเรียนร้อยละ 43 ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาครึ่งชีวิตที่ตื่นประมาณ 7-8 ชั่วโมง หมดไปกับการเล่นเกม ดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต ความบันเทิงไร้สายต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เข้ามาป่วนทำลายสมาธิของเด็กมากขึ้น

“ส่วนหนึ่งเด็กให้ความสนใจการใช้ชีวิตนอกโรงเรียน ซึ่งมีความรื่นรมย์ต่างๆ มากมาย โรงเรียนจึงไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กอีกต่อไป โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน และถอดใจกับการเรียนไปแล้ว โดยเด็กกลุ่มนี้จะต้องได้รับการดูแล ค้นหาความเก่ง ความสามารถด้านอื่นๆ ให้สามารถอยู่ในโรงเรียนได้อย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้ ความไม่ปลอดภัย ความรุนแรง ในโรงเรียนทำให้เด็กต้องพกพาอาวุธ มีการทำร้ายร่างกายกัน ขู่กรรโชก พบว่า มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ทำให้เด็กเพียง 25% ที่รู้สึกปลอดภัยมากเมื่อมาโรงเรียน” ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลร่วมกับกรมสุขภาพจิต ล่าสุด จากเด็ก 1,063 คนทั่วประเทศ ในเด็กชั้นอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1-2 เพื่อติดตามสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทย ว่า มีปัจจัยใดที่ส่งผลให้เด็กที่มีไอคิวสูงกับไอคิวต่ำ พบว่า มี 5 ปัจจัยที่มีผลต่อไอคิวเด็ก คือ 1.ได้กอด ได้คุยได้เล่นเป็นยาวิเศษของหนู พบว่า ในเด็กที่มีไอคิวสูง พ่อแม่จะชอบกอด เล่น และตอบคำถามเวลาที่เด็กถาม รวมถึงสอนให้รู้จักวางแผน ค่าเฉลี่ยในการรับพฤติกรรมนั้นๆ ประมาณร้อยละ 67-90 แต่หากเด็กที่ไอคิวต่ำจะมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมนั้นๆ ที่ได้รับจากพ่อแม่เพียงร้อยละ 56-70

“นอกจากนี้ พ่อแม่ที่มีพฤติกรรมเอาใจใส่ต่อลูกทั้งเรื่องการเรียน การกิน การเล่น ออกกำลังกายของลูก มีผลต่อระดับไอคิวสูง โดยเด็กที่มีไอคิวสูงจะมีค่าเฉลี่ยที่ได้รับพฤติกรรมเหล่านี้ประมาณร้อยละ 49-90 แต่เด็กไอคิวต่ำจะได้มีค่าเฉลี่ยที่ได้รับพฤติกรรมดังกล่าวเพียงร้อยละ 34-70 เท่านั้น”ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ดร.อมรวิชช์ กล่าวต่อว่า ในส่วนพฤติกรรมเด็กที่มีชอบเล่นเกมหาความแตกต่างของภาพ เกมตอบปัญหา ชอบปลอบใจเพื่อน และชอบเรียนคณิตศาสตร์ มีผลต่อไอคิวและอีคิวเด็ก ซึ่งเด็กที่ค่าเฉลี่ยพฤติกรรมเหล่านี้ร้อยละ 45-94 จะมีไอคิวสูง ขณะที่เด็กที่มีไอคิวต่ำจะค่าเฉลี่ยที่มีพฤติกรรมเหล่านั้นเพียงร้อยละ 37-71

ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า ในส่วนของครูพบว่า ครูที่มีพฤติกรรม 5 ประการ ได้แก่ 1.ให้เหตุผลเวลาสั่งงาน หรือบอกให้ทำอะไร 2.เป็นแบบอย่างที่ดี 3.พูดคุยกับนักเรียนอย่างสนิทสนม 4.ให้เวลาในการเป็นที่ปรึกษาและรับฟังปัญหาของเด็กแต่ละคน และ 5.ดูแลเรื่องอาหารของนักเรียนให้ถูกต้องตามโภชนาการ ซึ่งส่งผลต่อไอคิวและอีคิวของเด็กเป็นอย่างมาก นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลเด็กที่มีไอคิวสูงพบว่า ครูช่วงอายุ 46-55 ปี เป็นกลุ่มที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์เรียนรู้ส่งเสริมไอคิวอีคิวได้ดีสุด

“แต่จากข้อมูลพบว่า มีครูเพียงร้อยละ 20 ที่รู้สึกว่าตนเองมีความรู้เข้าใจในเรื่องไอคิวเป็นอย่างดี และมีเพียงร้อยละ 10 ที่ส่งเสริมให้เด็กแสดงความคิดสร้างสรรค์ด้วยการเป็นนักประดิษฐ์ของต่างๆ และมีครูเพียงร้อยละ 50 ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีงานอดิเรกตามความสนใจหรือเวลาเล่นเกมต่างๆ อย่างพอเพียง” ดร.อมรวิชช์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น