xs
xsm
sm
md
lg

เผยไอคิว-อีคิวเด็กไทยลดเมื่อโตขึ้น แนะพ่อแม่กระตุ้นพัฒนาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
แพทย์ชี้เด็กแรกเดิกไทยต้นทุน ไอคิว-อีคิว ดี แต่ลดลงลงเมื่อโตขึ้น เพราะไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการเพียงพอ แนะ พ่อแม่เอาใจใส่ ไม่ด่าว่า หากิจกรรมทำร่วมกัน เตรียมวิจัยวัดไอคิว-อีคิวเด็กครั้งใหญ่ทั่วประเทศปี 2553

พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2553 จะมีการทำวิจัยระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กไทยครั้งใหญ่ระดับประเทศ หลังจากที่ดำเนินการทุกๆ 3 ปี ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว จะทำให้ทราบค่าเฉลี่ยของไอคิวอีคิวเด็กไทยในภาพรวมทั้งประเทศ รวมถึงค่าเฉลี่ยไอคิวอีคิวในแต่ละช่วงอายุด้วย ซึ่งหวังว่าค่าเฉลี่ยจะไม่ลดลงไปกว่าเดิม แม้ข้อมูลของโครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีการเก็บข้อมูลทุกปีจากพื้นที่นำร่องจำนวน 15 จังหวัด จะบ่งชี้มาอย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน ว่า ไอคิวอีคิวเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

“เป็นห่วงเรื่องไอคิวอีคิวของเยาวชนไทยมาก ซึ่งจากการศึกษาในพื้นที่นำร่องจำนวน 1,500 คน จาก 15 จังหวัด พบว่า ต้นทุนของเด็กไทยในช่วงทารก หรือแรกเกิดอยู่ในระดับสากล คือ มีไอคิวประมาณ 100 แต่เมื่อมาอยู่ระดับประถมศึกษาประมาณ 9-10 ขวบ กลับมีระดับไอคิวเหลือเพียง 97-98 แต่เมื่อโตมาในช่วงวัยรุ่นระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษาจะมีค่าไอคิวเฉลี่ยเหลือเพียง 90 ต้นๆ เท่านั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยแวดล้อมใดที่มีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็กไทย เพราะจากระดับไอคิวของเด็กแรกเกิดแสดงให้เห็นว่า พันธุกรรมไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเกี่ยวกับการพัฒนาไอคิวเด็ก ดังนั้น การกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้ดีขึ้น คือ การที่พ่อแม่เอาใจใส่ สนใจในการตั้งคำถามของลูก ไม่ด่าว่า ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม เอาใจใส่ต่ออาหารและการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ รวมถึงได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกในช่วงวันหยุด

“การทำกิจกรรมร่วมกันอย่างการเล่นกับลูกให้เหมาะตามวัยจะช่วยให้พ่อแม่ได้รู้จักลูกตัวเองดีขึ้นด้วย เช่น เล่นเกมหมากรุก เกมต่อคำภาษาอังกฤษ จิ๊กซอว์ เกมคอมพิวเตอร์ พวกเกมซิมที่เป็นการสร้างเมืองวางแผนต่างๆ หรือแม้แต่เกมเศรษฐี ที่แสดงให้เห็นว่า ลูกจะเน้นความสำเร็จชัยชนะจากเกมหรือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น ซึ่งระหว่างการเล่นพ่อแม่สามารถสอนลูกให้สองสิ่งนี้ไปพร้อมกันได้ ซึ่งเด็กจะซึมซับและนำมาใช้ในชีวิตจริงได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพถือว่ามีผลต่อการพัฒนาของสมองเด็กในช่วงแรกเกิดหรืออยู่ในครรภ์มารดา หากเด็กได้สารไอโอดีนเพียงพอ แม่มีสุขภาพดีไม่สูบบุหรี่ เหล่านี้หากได้รับการแก้ไข ย่อมส่งผลให้การพัฒนาทางสมองของเด็กดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากต้นทุนทางสมองดี แต่ปัจจัยแวดล้อมในช่วงที่เด็กโตไม่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ก็จะทำให้การพัฒนาช้าลงไปเรื่อยๆ และจะสะสมโดยเห็นผลในช่วงที่เด็กเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น