xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ"มาร์ค"ชน"เพื่อนเนวิน" เบรกรถเมล์ NGV ฉาว 6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - โสภณ ซารัมย์
ASTVผู้จัดการรายวัน – วัดใจ "อภิสิทธิ์" กล้าท้าชน "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ขวางลำโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มูลค่า 60,000 กว่าล้านบาท ดังที่เคยลั่นวาจาขณะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แถมเตรียมเปิดซักฟอกรัฐบาลสมัครงับหัวคิวคันละล้าน ด้าน"โสภณ ซารัมย์" ประกาศเดินหน้าต่อสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่หวั่น 40 ส.ว.ออกโรงต้านถึงที่สุด

โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี ที่มีปัญหาอื้อฉาวมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช หลายฝ่ายคาดหมายว่าคงได้รับการทบทวนตรวจสอบใหม่ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคฝ่ายค้านได้เตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายสมัครมาแล้ว แถมมีการแพลมชื่อนักการเมืองร่วมงาบหัวคิวอีกด้วย

แต่พลันที่ นายโสภณ ซารัมย์ ก้าวเข้ามาครองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาประกาศก่อนที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้วยซ้ำว่า จะเร่งรัดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และเดินหน้าโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มูลค่า 62,598 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยจะไม่มีการทบทวนใหม่แต่อย่างใด

"โครงการนี้ผ่านขั้นตอนการดำเนินการมาไกลแล้ว ก็ควรจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งพร้อมให้มีการตรวจสอบจากทุกฝ่าย และในการทำงานของกระทรวงคมนาคม จะมีการแจ้งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และกำกับดูแลทุกกระทรวงรับทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน" รมว.คมนาคม ผู้ที่นายเนวิน ชิดชอบ ส่งมานั่งเก้าอี้สำคัญในกระทรวงระดับเกรดเอ ยืนยันจะดำเนินโครงการนี้ต่อไป

ที่ผ่านมาจวบจนบัดนี้ นายโสภณ ซารัมย์ ไม่เคยเปลี่ยนท่าทีว่าจะทบทวนการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เขานั่งเป็น รมช. คมนาคม หรือวันนี้ที่เขาเป็นเจ้ากระทรวงเสียเอง

"ต้องยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้เช่ารถใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง 4,000 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เช่นเดิม แม้ว่าครม.เศรษฐกิจจะขอให้มีการทบทวน หลังจากราคาน้ำมันมีการปรับลดลงต่อเนื่อง โดยจะต้องหารือกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการที่จะให้นโยบายอะไรออกไปนั้น จะต้องให้ผู้ที่ปฏิบัติสามารถปฏิบัติตามได้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์

"โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการให้บริการของรถโดยสารขสมก. ซึ่งจำนวนรถโดยสารที่ครม. เคยมีมตินั้น เป็นจำนวนที่จะทำให้การบริการครอบคลุมการเดินรถทั้ง 145 เส้นทาง ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กับโครงการให้บริการแบบตั๋วอัตโนมัติ และไม่ต้องการให้นำปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันมาเป็นตัวแปรในการทบทวนโครงการ เพราะวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาน้ำมัน แต่มีวัตถุประสงค์อยู่ที่การให้บริการรถโดยสารประจำทางที่มีประสิทธิภาพของ ขสมก. และเพื่อการประหยัดพลังงานในอนาคต" นายโสภณ ให้สัมภาษณ์ เมื่อกลางเดือน ต.ค.51 ก่อนที่จะยืนยันอีกครั้งเช่นเดิม เมื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม

**กลุ่ม 40 ส.ว.คัดค้านเต็มตัว

งานนี้ กลุ่ม 40 ส.ว. ออกมาแถลงทันทีว่า แนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเดินหน้าโครงการรถเมล์เอ็นจีวีนั้น กลุ่ม 40 ส.ว.ขอคัดค้านเต็มที่

"ไม่มีเหตุผลที่จะเร่งผลักดันในตอนนี้ เนื่องจากประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และวิธีการเช่าผูกขาดระยะเวลานาน เปิดช่องให้เอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่ม ฉะนั้นหากเร่งรีบทำเรื่องนี้ กลุ่ม 40 ส.ว.จะคัดค้านให้ถึงที่สุด" นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. แถลงภายหลังการหารือเพื่อเตรียมตรวจสอบรัฐบาลใหม่ เมื่อปลายเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา

** ศึกหนักง้างปาก "เพื่อนเนวิน"

ช่วงประมาณเดือน มิ.ย. 51 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น และนายถาวร เสนเนียม รมว.มหาดไทย (เงา) ได้เตรียมข้อมูลเพื่อเปิดอภิปรายรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการเปลี่ยนรถเมล์ร้อนทั้งหมด 3,000 คัน เป็นเช่ารถเมล์ปรับอากาศใหม่ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 6,000 คัน ซึ่งส่อเค้าว่าจะมีการทุจริต

"ได้ให้รวบรวมเรื่องนี้มาประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว และคิดว่า คงจะได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมวิป หรือ ส.ส.ในสัปดาห์นี้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะรอดูการประชุม ครม. ด้วย จะรอดูว่าขั้นตอนต่างๆ รายละเอียดเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ให้ไปค้นว่าเกี่ยวข้องกับใครอย่างไร หากมีความไปเกี่ยวข้องชัดเจนก็สามารถดำเนินการได้ โดยเรื่องนี้มีความคืบหน้าไปมาก" นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในขณะนั้น

ขณะที่ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการติดตามตรวจสอบโครงการดังกล่าว ตามที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าผู้นำฝ่ายค้านว่า มีข้อพิรุธเรื่องการตั้งงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างสูงผิดปกติ

" ขณะนี้ เรามีข้อมูล และรายชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว หากเรื่องผ่านการพิจารณาในที่ประชุม ครม.เมื่อเปิดประชุมสภาจะอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องดังกล่าวแน่นอน แต่ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง มีมิสเตอร์ที และมิสเตอร์เอส เป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้ และมีอำนาจโดยตรงจัดการเรื่องนี้ คนที่อยู่ในวงการจะรู้กัน แม้กระทั่งในครม. ซึ่งการออกมาติงรัฐบาลในเรื่องนี้ นอกเหนือจากผลกระทบเรื่องราคาโดยสารที่เพิ่มขึ้น รถเมล์ร้อนประมาณ 3,000 คัน ที่จะขายก็มีแนวโน้มว่าขายถูกผิดปกติ และรถเมล์ปรับอากาศที่จะเช่าก็มีราคาที่แพง โดยสืบทราบว่าจะมีใต้โต๊ะคันละ 1 ล้านบาท " รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้รายละเอียดหลังขุดค้นพบข้อมูลความไม่ชอบมาพากล

การเตรียมเปิดอภิปรายของฝ่ายค้านในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้รัฐบาลถอนวาระออกจากการประชุมครม.พอเป็นพิธี เพื่อป้องกันการถูกอภิปราย และหวังให้ผ่านการพิจารณางบประมาณไปก่อนจึงจะดำเนินการโครงการต่อ ซึ่งหลังจากนั้น "กลุ่มเพื่อนเนวิน" ที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลนายสมัคร และรัฐบาลนายสมชาย จวบจนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ได้เพียรพยายามทำคลอดโครงการมาอย่างต่อเนื่อง

** เปิดปมโครงการฉาวไม่สิ้น

โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี เป็นโครงการที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาระบบขนส่งทางราง และระบบขนส่งมวลชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบแผนการปรับปรุง ขสมก.โดยการเช่ารถโดยสาร 6,000 คัน จากนั้น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม ขณะนั้นได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. เพื่อขออนุมัติเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.51 แต่ครม.ได้ตีเรื่องกลับโดยให้เสนอรายละเอียดมาอีกครั้ง

โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งกระทรวงคมนาคม เสนอเข้า ครม.เมื่อเดือน มิ.ย.51 ขสมก. จะเช่ารถเมล์ปรับอากาศเอ็นจีวี 6,000 คัน ระยะเวลา 10 ปี ใช้วงเงิน 111,690 ล้านบาท เบื้องต้น คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น 15% หรือ 1.3 ล้านคน และทำให้ ขสมก. กลับมามีกำไรในปี 54 จำนวน 1,800 ล้านบาท ปี 57 กำไร 3,800 ล้านบาท และ 4,800 ล้านบาทในปี 62 ถ้าหาก ขสมก.ไม่มีการดำเนินการใดเลย ขสมก. จะขาดทุนประมาณ 100,000 ล้านบาทในปี 62

ต่อมา กระทรวงคมนาคม ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 ก.ค.51 แต่ถูกรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทย และพรรคประชาราช รุมค้าน โดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตถึงการเช่ารถทั้ง 6,000 คัน ว่าจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ หากเช่าเพียง 3,000 คัน และอีก 3,000 คัน นำรถเก่าของ ขสมก. มาปรับแต่งใหม่ให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง จะคุ้มค่ากว่ากันหรือไม่

การถกเถียงอย่างกว้างขวางในครม. ทำให้นายสมัคร ซึ่งหนุนโครงการดังกล่าวสุดตัว ได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยมี พล.ต.สนั่น เป็นประธาน ท่ามกลางเสียงครหารัฐบาลสมัคร ว่าหากครม.อนุมัติให้มีการเช่ารถ 6,000 คัน จะมีกลุ่มผลประโยชน์ที่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังได้รับค่าคอมมิชชั่น คันละ 1 ล้านบาท รวมเม็ดเงิน 6,000 ล้านบาท โดยแบ่งให้นักการเมืองหลายคนทั้งในกระทรวงคมนาคม คณะรัฐมนตรี กลุ่มทุนใหญ่ที่สนับสนุนพรรคการเมือง และผู้ผลักดันโครงการ

หลังจากนั้น คณะกรรมการพิเศษฯ ได้ข้อสรุปว่า ควรปรับลดจำนวนการเช่าลงเหลือ 4,000 คัน ลดวงเงินค่าเช่าเหลือประมาณ 67,000 ล้านบาท รวมทั้งลดวงเงินลงทุนในระบบ เช่น การจัดหาอู่รถ ฯลฯ ประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมลดวงเงินงบประมาณได้ประมาณ 43,000 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของโครงการ

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 51 ครม. สมัคร ได้อนุมัติโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอของครม.กลั่นกรองคณะพิเศษ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเห็นชอบให้ ขสมก.เช่ารถเมล์ปรับอากาศจำนวน 4,000 คัน เป็นเวลา10 ปี และลดวงเงินโครงการเหลือ 62,598 ล้านบาท จากมติเดิมกำหนดจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 6,000 คัน อัตราค่าเช่า 5,100 บาทต่อวันต่อคัน เป็นเวลา10 ปี วงเงิน 111,690 ล้านบาท

ถึงแม้ครม.จะมีมติอนุมัติโครงการแล้ว ก็ยังมีกระแสเสียงจากสังคมที่ตั้งข้อสังเกตถึงความฉ้อฉลของโครงการนี้ว่า มีการคิดค่าเช่าแพงเกินจริงถึงคันละ 18.36 ล้านบาท ในระยะเวลาเช่า 10 ปี แม้ว่าค่าเช่าจะรวมค่าซ่อม ค่าอู่ ค่าระบบเก็บตั๋วโดยสารอัตโนมัติและระบบจีพีเอส เข้าไปด้วยแต่ยังถือว่าแพงมาก

นายธวัชชัย เผ่าเหลืองทอง อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. ปัจจุบันประกอบธุรกิจการขนส่ง วิจารณ์ว่า รถเมล์ปรับอากาศรุ่นเดียวกับที่ ครม.สมัคร อนุมัตินั้น หากซื้อเงินสดจะมีราคาเพียงคันละ2.8 ล้านบาท ถ้าซื้อเงินผ่อน หรือเช่าซื้อเป็นเวลา 4 ปี จะมีราคาเพียงคันละ 3.24 ล้านบาท

ดังนั้น หากใช้วิธีการซื้อและบวกกับค่าซ่อมบำรุงต่างๆ เพิ่ม คาดว่าจะใช้งบประมาณเพียงหมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น

หากพิจารณาจากตัวเลขข้างต้น จะพบว่า การประมูลเช่ารถเมล์ปรับอากาศเอ็นจีวี 4,000 คัน ที่มีราคากลางที่16–18 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาซื้อเงินสด หรือเช่าซื้อ จะมีส่วนต่างของราคาจริงและกำไรส่วนเกินของผู้ได้งานนี้สูงถึง 20,000–25,000 ล้านบาท

** พิรุธทีโออาร์ส่อทุจริต

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าโครงการต่อโดยจัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) พร้อมกับประกาศประกวดราคาทางอิเลกทรอนิกส์ (อีออกชั่น) เมื่อกลางเดือน ธ.ค.51 จากนั้นจะใช้เวลาพิจารณาเงื่อนไข และประกาศผลโดยคาดว่ากระบวนการขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนม.ค.52

สำหรับคุณสมบัติของรถที่จัดเช่าทั้ง 4,000 คัน นั้น คณะกรรมการร่างทีโออาร์ ซึ่งมีนายชัยรัตน์ สงวนชื่อ ธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธาน ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นรถใช้ก๊าซเอ็นจีวี และมีติดตั้งระบบตั๋วเก็บเงินอัตโนมัติ (E-Ticket) ระบบติดตามผ่านดาวเทียม (GPS) โดยสรุปค่าเช่าเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท ต่อคันต่อวัน ส่วนราคากลางของโครงการในตลอดสัญญาเช่านั้น จะต้องรอผลการประกวดราคาว่า ราคาที่ได้จะมีราคาที่ต่ำกว่าราคากลางเท่าใด

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ชี้ให้เห็นพิรุธในการประกวดราคาครั้งนี้ว่า ไม่มีความโปร่งใสหลายประการ กล่าวคือ

1) โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าการจัดซื้อจ้างวงเงินสูงกว่า6-7หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว โดยอ้างว่าอัตราค่าจ้างที่ปรึกษามีวงเงินสูง และใช้ระยะเวลาดำเนินการนาน และมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงและใช้บุคลากรมากเกินไป จึงไม่มีการจัดจ้างที่ปรึกษา จึงให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดร่างขอบเขตงานหรือทีโออาร์ขึ้นมาเอง

2) เงื่อนไขในทีโออาร์ดังกล่าวกำหนดให้ติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย ระบบอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ปรับอากาศใช้ก๊าซเอ็นจีวี จำนวน 4 พันคัน และบนรถโดยสารปรับอากาศ(เครื่องยนต์ดีเซล) จำนวน 1,800 คัน ซึ่งเป็นรถเก่าของ ขสมก. ซึ่งต้องมีการติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ E-Ticket พร้อมอุปกรณ์ ติดตั้งระบบควบคุมและติดตามการเดินรถ GPS , GPRS และ CCTV พร้อมอุปกรณ์ และติดตั้งป้ายอัจฉริยะพร้อมอุปกรณ์ บริเวณป้ายรถเมล์ไม่น้อยกว่า 40 ชุด

การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่ามีเพียงเอกชนบางรายเท่านั้นที่มีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ โดยเอกชนรายดังกล่าวมีกลุ่มทุนการเมืองอยู่เบื้องหลัง และอันที่จริงรถเมล์วิ่งประจำทางอยู่แล้วไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องมือดังกล่าว การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้ราคาแพงขึ้นไปโดยไม่จำเป็น

3) เงื่อนไขในทีโออาร์ กำหนดว่าให้ ขสมก.เป็นผู้จัดหาอู่จอดรถ ประกอบด้วย ลานจอดรถ โรงซ่อม สถานที่ทำการต่าง ๆ สถานที่สำหรับก่อสร้างสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และในกรณีที่ ขสมก.ไม่สามารถจัดหาอู่จอดรถได้ ขสมก.จะแจ้งให้ผู้เสนอราคาทราบภายใน 90 วันนับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา และให้ผู้เสนอราคาเป็นผู้จัดหาอู่จอดรถพร้อมดำเนินการทางสัญญาและส่งมอบอู่จอดรถให้ขสมก.ใน 9 เดือน ให้เสร็จสิ้นพร้อมการส่งมอบ

เงื่อนไขดังกล่าวนี้ คาดว่า ขสมก. ก็ไม่สามารถหาพื้นที่ดังกล่าวได้และในที่สุดก็ต้องให้เอกชนเป็นผู้จัดหาพื้นที่เองตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะมีเอกชนบางรายเท่านั้นที่มีความพร้อมและต้องมีการเตรียมพื้นที่ไว้รองรับอยู่แล้ว เพราะพื้นที่ในการสร้างอู่จอดรถกว่า 22 แห่ง กำหนดเนื้อที่ไว้แต่ละแห่งประมาณ15-16ไร่ จึงเป็นไปได้ยากในการหาพื้นที่ดังกล่าวในเวลาอันสั้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมคณะกรรมการพิเศษ ซึ่งมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้รัฐเป็นผู้จัดหาที่ดินเอง เนื่องจากการซื้อที่ดินในระยะยาวนั้นมูลค่าที่ดินจะเพิ่มขึ้น แต่ในทีโออาร์เปิดทางให้เอกชนเป็นคนจัดหาในกรณีที่ ขสมก.ไม่สามารถจัดหาได้เอง ซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไข

4) ระยะเวลาการเช่ารถเมล์แอร์เอ็นจีวีนั้นมีระยะเวลาเพียง10 ปีเท่านั้น แต่เงื่อนไขกำหนดให้ ปตท.เป็นผู้ลงทุนในการเชื่อมท่อก๊าซ และสถานีบริการในกรณีเป็นพื้นที่ของรัฐหรือมีสัญญาเช่าต่อเนื่องไม่น้อยกว่า20 ปี ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากในการที่จะให้บริษัทปตท.เข้ามาตั้งสถานีก๊าซ และลงทุนเชื่อมต่อท่อก๊าซ เพราะเงื่อนไขกำหนดให้เอกชนมีระยะเวลาดำเนินการเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

5) เงื่อนไขการสัญญาเช่ารถกำหนดให้ยืดหยุ่นปรับเพิ่มหรือลดในกรณีที่ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และระบุเงื่อนไขให้ทบทวนสัญญาได้ทุก3-4 ปีหลังจากมีการประเมินผลหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐ ซึ่งเงื่อนไขนี้ หากฝ่ายเอกชนแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เท่ากับว่า ขสมก.ต้องแบกภาระขาดทุน หากประเมินตัวเลขขาดทุน 15 ล้านบาทต่อวันต่อคัน ในช่วง 3-4 ปี คิดเป็นเม็ดเงินหลายพันล้านบาท

สำหรับข้อสังเกตที่ว่า โครงการนี้ทำไปก็มีแต่ขาดทุน เพราะเส้นทางที่กำหนดขึ้นมาใหม่ 400 เส้นทาง ล้วนแต่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ แถมวิ่งอยู่รอบนอกและปริมณฑล และยังกำหนดให้ทุกๆ 3 นาทีต้องมีปล่อยรถ และถ้าไม่ใช่เป็นช่วงผู้โดยสารหนาแน่น ก็จะทำให้ ขสมก.ต้องวิ่งรถเปล่าไม่มีผู้โดยสาร และในที่สุดต้องประสบกับขาดทุน แต่รัฐบาลก็พยายามดันทุรังผลักดันโครงการนี้ให้ได้ และเมื่อ ขสมก.ไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนจากการให้บริการได้ ในที่สุดจะต้องเลิกกิจการและขายสัมปทานให้กับเอกชนไปดำเนินการแทน

"สมัยก่อนนักการเมืองมีการทุจริตในรูปแบบของการจัดซื้อเพื่อหวังคอมมิชชั่น แต่รูปแบบเดี๋ยวนี้เริ่มหาผลประโยชน์ตั้งแต่เริ่มโครงการจนสุดท้ายประสบภาวะขาดทุน และมีกลุ่มทุนทางการเมืองหรือพรรคพวกเตรียมเข้ามาฮุบกิจการ และโละของถูกให้กับกลุ่มทุนที่สนใจ ทั้งๆที่รู้ว่าโครงการนี้ทำไปนั้นต้องขาดทุนอย่างแน่นอน แถมมีความพยายามในการรีบเร่งให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์) "แหล่งข่าว กระทรวงคมนาคม ตั้งข้อสังเกต

โครงการเช่ารถเมล์ปรับอากาศ เอ็นจีวี ซึ่งมีปัญหามาตั้งแต่ต้นและประเมินผลสุดท้ายได้ว่าจะลงเอยด้วยความล้มเหลวขาดทุนหนัก จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ค้นพบและความตั้งใจในการเข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาที่ฝ่ายค้าน จะแปรเปลี่ยนไปหรือไม่หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาล โดยอาศัยกลุ่มเพื่อนเนวิน ให้การสนับสนุนจนสามารถพลิกขั้วการเมืองได้
กำลังโหลดความคิดเห็น