xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ ศธ.ยุค พปช.ครองเมืองเอื้อพวกพ้อง จี้ “จุรินทร์” เร่งปฏิรูป-ทำเรียนฟรีจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักการศึกษาอัด “สมชาย-ศรีเมือง” นั่งเก้าอี้เสมาเกือบปี “จืดชืด” ชูนโยบายประชาสังคม แฝงประโยชน์เอื้อพวกพ้อง แนะ “จุรินทร์” รมว.ศธ.คนใหม่สางปัญหาแปะเจี๊ยะ สมสโลแกนเรียนฟรี จี้ ชูนโยบายการศึกษาเด่นๆ ลงมือทำให้ว่องไว พร้อมเร่งแก้ปัญหาเด็กออกกลางคันเป็นวาระแห่งชาติ เชื่อ “อภิสิทธิ์” ให้ความสำคัญด้าน “หมอเกษม” แนะปฏิรูปการศึกษารอบสอง ต้องสร้างระบบให้ครูสอนได้ดี นักเรียนเรียนได้ดี เลิกหลักสูตรผลิตครูเป็นเอกปฐมวัย ประถมศึกษา แต่เป็นเอกตามรายวิชา เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน “ยงยุทธ” ระบุ ต้องลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลสมัคร
ในรอบปี 2551 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีรัฐมนตรีว่าการถึง 3 คน คือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายศรีเมือง เจริญศิริและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งในส่วนของ 2 คนแรกนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงาน รวมทั้งนโยบายต่างๆ มากมาย ดังนั้น ในปี 2552 แวดวงการศึกษาจึงเฝ้าจับตามองการทำงานของรัฐมนตรีคนล่าสุดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และจะสามารถนำพาอนาคตของชาติให้พัฒนาทัดเทียมกับนานาอารยประเทศได้หรือไม่

  • “เร่งสางแปะเจี๊ยะ-ลุยเรียนฟรี”

    ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ไม่ถึงปีกระทรวงศึกษาธิการมีรัฐมนตรี 2 คนคือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ นายศรีเมือง เจริญศิริ ที่มาจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งทั้งคู่ชูนโยบายการศึกษาที่ตัวเองสนใจ หรือสานต่อโครงการประชานิยม สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชูไว้เท่านั้นไม่มีนโยบายใหม่เลย

    ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการจัดซื้อโน้ตบุ๊กแจกนักเรียน อี-เลิร์นนิง วิทยฐานะ ที่เร่งทำแบบฉับไว แต่หากเจาะลึกถึงเนื้อแท้ของนโยบายนี้ ปรากฏว่า ผลประโยชน์ตกแก่พวกพ้องของตนเอง แถมยังได้ใจ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ทั่วประเทศอีกด้วย

    “เท่าที่ติดตามการทำงานของรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน บริหารแบบไร้ทิศทาง ไม่มีโครงการเด่นๆ เพื่อพัฒนาสถานศึกษา พัฒนาครู และนักเรียน แล้วอย่างนี้เยาวชนที่เรียนจบออกมาจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างไร”

    ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั้น ต้องบอกว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่องและพูดถึงอยู่เสมอ ขณะที่นายจุรินทร์ เองก็รู้เรื่องการศึกษาพอสมควร เคยเป็นคณะกรรมาธิการการศึกษา ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี

    อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยจะดีขึ้นหรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของผู้นำอย่างนายกฯ และ รมว.ศธ.เพราะที่ผ่านมาการศึกษาย่ำอยู่กับที่นานกว่า 5 ปี ขณะที่เพื่อนบ้านก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง จนล้ำหน้าเราไปหลายก้าวแล้ว นี่เป็นโจทย์หนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

    “แรงกดดันครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ให้พรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาล ต้องสมัครสมานสามัคคี ตั้งใจทำงาน โชว์ผลงานเด่นให้ประชาชนประจักษ์ โดยเฉพาะนโยบายการศึกษาเอื้อประโยชน์ต่อเด็ก พัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริง ในระยะสั้น รมว.ศธ.ต้องเร่งสะสางปัญหาแปะเจี๊ยะอย่างจริงจัง เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะถึงฤดูกาลรับนักเรียน ยิ่งดีเอสไอออกมาแฉข้อมูลว่ามีโรงเรียนดังทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดรับเงิน ตรงนี้สะท้อนให้ถึงนโยบายเรียนฟรี ไม่ได้ฟรีจริง อย่างที่กฎหมายระบุ คงเป็นการบ้านให้กลับไปคิด เพื่อหาทางออกให้ผู้ปกครองโดยเฉพาะยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์”

    “ขอกระซิบประชาธิปัตย์ และ รมว.ศธ.นโยบายบางอย่างให้อาศัยข้าราชการ เพื่อให้งานการศึกษาเดินอย่างราบรื่น แต่ไม่ใช่เดินตามทุกเรื่องที่ข้าราชการชงมาให้ รัฐบาลควรมีมิติใหม่ๆ ด้านการศึกษา จากนั้นนำไปผสมผสานกับส่วนของราชการ เสนอเป็นนโยบายใหม่ให้ประชาชนประจักษ์ ว่านี่คือ นโยบายของรัฐบาล ประชาชนจะได้ไม่รู้สึกผิดหวัง”

    ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเด็กเรียนจบแล้วต้องแตะฝุ่น ไม่มีงานทำ ตรงนี้เป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลคงต้องคิดทั้งขบวนการ ว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ปัญหาอย่างไร ประเทศต้องการผู้มีคุณสมบัติอย่างไร จากนั้นค่อยมาพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู แล้วส่งเสริมนักเรียนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ย้ำ รัฐบาลต้องโชว์ผลงานโดดเด่นอย่างรวดเร็ว เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลอยู่ยาวแค่ไหน
    นายศรีเมือง เจริญศิริ เจ้าเสมาสมัยอดคีตอนายกสมชาย
  • “ปฏิรูปยก 2 ต้องตั้งโจทย์ให้ถูก”

    นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจารณ์การทำงานของ นายสมชาย และนายศรีเมือง อดีต รมว.ศธ.ว่า จืดชืด ไม่มีผลงาน ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นความสูญเสีย เสียโอกาสทางการศึกษาจนเกิดวิกฤตการศึกษาหลายเรื่อง โดยที่เห็นชัดเจนวิกฤตทางการเงินที่ผลักดันการปรับวิทยฐานะให้ครู ครูผ่านการประเมินครูจะได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น พอกระทรวงได้รับการจัดสรรงบประมาณ เงินส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน ค่าวิทยฐานะ ไม่มีเงินพัฒนาสถานศึกษา พัฒนาเด็ก ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังพบเด็กติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์แล้วตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ฯลฯ

    ครั้นการเมืองพลิกโฉม นายอภิสิทธิ์ มาบริหารประเทศ นายจุรินทร์ นั่งเก้าอี้เสมา นับว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง ดีกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะตัวนายกฯเกาะติดด้านการศึกษา เป็น รมต.เงา ขณะที่ รมว.ศธ.คนใหม่ คว่ำหวอดอยู่กับนักการเมืองมานาน จะปรับตัวได้รวดเร็ว อายุอยู่ในวัยคิดทะลุทะลวง ดังนั้น หากต้องตัดสินใจหรือแก้ปัญหา จะพิจารณาอย่างรอบครอบและรวดเร็ว

    อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ตั้งระเบิดเวลาเอาไว้ ภายใน 99 วันแก้ปัญหาเรื่องเรียนฟรีเป็นเป็นชนวนให้ นายกฯ รมว ศธ. รมช.ศธ.ต้องทำงานเชิงรุก ต้องการความคล่องตัวและรวดเร็ว ฉะนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำ ถ้าข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือแล้วละก็ รัฐบาลคงม้วนเสื่อกลับบ้าน ดังนั้น คงถึงคราวที่รัฐบาลงัดไม้แข็งมาใช้

    “ข้าราชการรายใดไม่ช่วยกันพาย ช่วยกันจ้ำให้ถึงเป้าหมาย วิธีเดียวคือสั่งย้าย แต่เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้สามารถขอความร่วมมือจากข้าราชการ นักการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เพราะท่านมีท่าทีอ่อนน้อมถ่อม จุดเด่นนี้น่าจะแก้ปม คลี่คลายปัญหาต่างๆ ไปในทางที่ดี”

    นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมาตั้งโจทย์ผิด ดังนั้น การตั้งโจทย์ปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 ต้องตั้งโจทย์ให้ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการหากไม่ปฏิรูประบบราชการก็จะไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะคนที่มาทำการศึกษาคือข้าราชการ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 คือ ปฏิรูประบบราชการ จะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร การปฏิรูประบบการเงินเพื่อให้งบประมาณด้านการศึกษาลงไปถึงโรงเรียนกับเด็กอย่างแท้จริง

    ที่สำคัญ การศึกษาจะต้องไม่กลับไปกลับมาตามการเมือง เพราะทำให้นโยบายเรื่องการศึกษาไม่ต่อเนื่อง และควรต้องทบทวนองค์กรมหาชนต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาทำเรื่องการศึกษา เนื่องจากใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าเกิดผลกับคุณภาพเด็กแค่ไหน ตนขอฝากให้รัฐบาลชุดนี้นำข้อสรุปเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และพิจารณาว่าทำอย่างไรองค์กรหลักจึงจะมีขนาดเล็กลง โดยให้เอาเด็กและวิธีการเรียนการสอนเป็นตัวตั้ง

  • หนุนกองทุนกู้ยืม-แก้เด็กออกกลางคัน

    นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) บอกว่า มั่นใจว่า ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกองทุน เพราะเกิดประโยชน์โดยตรงแก่เยาวชน ที่ในอนาคตจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ “ยิ่งภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ กองทุนซึ่งเปรียบเสมือนธนาคารของเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนโดยเฉพาะหากเกิดขัดสนหรือมีปัญหาด้านการเงินเยาวชนไม่ต้องออกกลางคันหรือ พ่อแม่ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ สามารถมาแจ้งความจำนงขอกู้กองทุน

    ด้านนางสุลีลา จันธนู กรรมการสภามนตรีสมาพันธ์ครูภาคใต้ บอกว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ส่ง นายสมชาย นายศรีเมือง ที่ไม่รู้เรื่องด้านการศึกษา แถมไม่มีทีมที่ปรึกษาเก่งการศึกษามาช่วย ส่งผลให้การศึกษาตกต่ำอยู่แล้วตกลงไปอยู่ก้นเหว ครั้นเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นายกฯอภิสิทธิ์ สนใจเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ ทิศทางการศึกษาน่าจะชัดเจนขึ้น

    “จริงๆ อยากให้ คุณอภิสิทธิ์ มาดูแลกระทรวงศึกษาธิการด้วยตนเอง เข้าใจว่า ท่านมาไม่ได้ ส่งคุณจุรินทร์ มาบริหาร ก็ขอให้ส่งมือดี หมายถึงที่ปรึกษาที่รู้เรื่องการศึกษามาช่วยด้วย และขอให้นายกฯเป็นกุนซื่ออยู่เบื้องหลัง วิธีการบริหารลักษณะนี้น่าจะส่งเสริมความรู้ให้แก่เยาวชนก้าวไปข้างหน้าเสียที ขอให้รัฐมนตรีให้เข้ามาช่วยดูแล เรื่องเรียนฟรี 12 ปีอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันมี เด็กออกกลางคันจำนวนมาก เกิดจากปัญหาติดยา ท้อง ยากจน ฯลฯ อยากให้เข้ามาช่วยอุ้มเด็กกลุ่มนี้ได้เรียนอย่างน้อยการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากไม่ช่วยเหลือเด็กจะเติบโตไปแบบไร้อนาคต” นางสุลีลา กล่าวและว่า ปัญหาเด็กออกกลางคัน สพฐ.รู้เรื่องดี และพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ แต่อยากให้ใส่เรื่องนี้ไว้ในวาระแห่งชาติ และไม่ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ จะบริหารประเทศสั้นหรือยาว แต่เชื่อว่า คนไทยจับตาดูการบริหารของรัฐบาลแบบตาไม่กะพริบ ทุกคนอยากเห็นลูกหลานมีงานทำ ความรู้ทัดเทียมต่างชาติ รวมถึงต้องการเห็นรอยยิ้ม ความรักสามัคคีของคนในชาติให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

  • ต้องรื้อระบบผลิตครูใหม่

    สำหรับเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องออกแบบการศึกษาให้ครูสอนได้ดีที่สุด และนักเรียนเรียนได้ดีที่สุด ไม่ใช่ออกแบบระบบให้ผู้บริหารได้เลื่อนระดับสูงขึ้น เพื่อให้ครูมีความสุขกับการเป็นครู และเกิดการพัฒนาตนเอง หลักสูตรการสอนต้องเปลี่ยนเป็นหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ ครูต้องสอนเพื่อการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่เพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ที่สำคัญ การจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงความทั่วถึงในการรับศึกษาของคนไทย ไม่ใช่การจัดการศึกษาให้ทั่วถึง เพราะทุกวันนี้รัฐถือว่าจัดการศึกษาให้แล้ว แต่หากจะไม่มาเรียนก็ไม่สนใจ รัฐต้องดูเรื่องความเต็มใจในการรับการศึกษา โดยให้คนไทยทุกกลุ่มทั้งในเมือง ชนบท คนทำงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเด็กพิเศษ เกิดความเต็มใจที่จะรับการศึกษาด้วย

    ทั้งนี้ ตนเสนอให้ผู้บริหาร ศธ.ไปดูเรื่องการศึกษาชายแดนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จย่า ทรงออกแบบไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนไม่อยู่ในความคิดของผู้บริหารการศึกษาเท่าไหร่ ขอให้เปลี่ยนการดูงานต่างประเทศไปเป็นดูงานพื้นที่ชายแดนไทย เพื่อนำสิ่งที่ได้ไปพบเห็นมาปรับเรื่องการศึกษาซึ่งจะช่วยเรื่องความมั่นคงของชาติได้ดีที่สุด

    “สิ่งสำคัญ คือ เรื่องงบประมาณด้านการศึกษา ที่ผ่านมา งบการศึกษาที่ได้รับมามีฉ้อราษฎร์บังหลวงไปเท่าไหร่ เหลือสำหรับการพัฒนาการศึกษาเท่าไหร่ เพราะมีการกินกันทุกจุด ทำให้ระบบการศึกษาไปไม่รอด ดังนั้น ต้องพัฒนาระบบให้เป็นระบบธรรมาภิบาลปฏิบัติให้ลงไปสู่ทุกภาคส่วนของระบบการศึกษา ผมอยากให้มีป้ายทุกโรงเรียนว่าเขตปลอดการฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วยซ้ำ และฝากผู้บริหารองค์กรหลักทั้ง 5 แท่ง ขอให้เอาจริงกับการลงโทษครูที่ทุจริตคอร์รัปชัน หากต้องเอาออกก็ขอให้เอาออก และให้กำหนดบทลงโทษให้หนักสำหรับเรื่อง นี้ แล้วไปเพิ่มเรื่องคุณธรรม เพื่อให้งบประมาณลงไปถึงระบบการศึกษาอย่างแท้จริง” ศ.นพ.เกษม กล่าว
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
  • ต้องลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น

    ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษารอบสองควรมีการลงทุนการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ โดยเน้นการเท่าเทียมทางการศึกษาและสนับสนุนให้เอกชนมีบทบาททางการศึกษามากขึ้น

    ทั้งนี้ ข้อเสนอเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคตนั้น ปรัชญาและแนวคิดการจัดการศึกษาต้องสมดุลกับคนส่วนใหญ่ โดยเน้นการสร้างคนให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ให้มีสัมมาอาชีวะ มีความสามารถในการปรับตัว สามารถดำรงชีวิตได้ตามอัตภาพ เน้นการจัดการศึกษาให้เข้าถึงความรู้มากกว่าการจดจำเนื้อหา นอกจากให้ความสำคัญกับความเป็นไทยแล้ว การจัดการศึกษายังต้องเน้นไปที่การเป็นสังคมโลกด้วย

    “การปฏิรูปรอบใหม่ควรมีปรัชญาหลักว่าเราจะมุ่งเรื่องใด ซึ่งในส่วนของผู้เรียนนั้น ควรเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งต้องเน้นการมีส่วนร่วม บทบาทครู ผู้ปกครอง ครอบครัว ท้องถิ่น และการบริหารจัดการต้องกระจายอำนาจมีอิสระในการจัดการศึกษา เข้าถึงท้องถิ่นและประชากรระดับต่างๆ ขณะเดียวกันการติดตามประเมินผลก็ต้องมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการศึกษาในสามมิติ โดยพิจารณาว่า ปฏิรูปอะไร เพื่ออะไร และมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ใช้อะไรเป็นตัวกำหนด” ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

    ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวอีกว่า จุดสำคัญการศึกษาต้องให้ผู้เรียนรู้เนื้อหา ไม่ใช่อ่านเป็นเขียนเป็นเท่านั้น ส่วนครูก็ต้องได้รับการเชิดชู โดยเฉพาะเรื่องรายได้ต้องเหมาะสม การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ต้องเพิ่มในเชิงคุณภาพไม่ใช่เพิ่มเชิงปริมาณอย่างเดียว สำหรับการผลิตและพัฒนาคน สังคมไทยต้องเปลี่ยนจากการเป็นแรงงานฝีมือไปสู่การใช้สมองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รัฐต้องช่วยลดภาระการศึกษาของผู้เรียน ดังนั้น เรื่องการกู้ยืมเพื่อการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา นอกจากนี้ต้องสร้างคนให้ใช้เทคโนโลยีเป็น เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์เท่านั้น

  • จี้พัฒนาคุณภาพเป็นหลัก

    ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมวศึกษาธิการ กล่าวว่า การปฏิรูปรอบแรกยึดหลักปฏิรูปผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่เนื่องจากต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายด้าน ลำพังการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างเดียวคงทำได้ไม่เต็มที่ ต้องมีการปรับการบริหารจัดการ จึงนำมาสู่การปฏิรูป 3 เรื่อง คือ โครงสร้าง ครูและบุคลากร และทรัพยากร แต่ต้องยอมรับว่าด้านครูและบุคลากรซึ่งเป็นส่วนสำคัญ แต่มีการขับเคลื่อนได้น้อย ดังนั้นตนเห็นว่าในการปฏิรูปรอบต่อไปนั้น สามารถยึดแนวทางส่วนใหญ่จากการปฏิรูปรอบแรกได้ แต่ควรมีการทบทวนและจัดลำดับความสำคัญ โดยสิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญคือ การแก้ปัญหาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยจะต้องยกเรื่องการพัฒนาคุณภาพเป็นพระเอกในเรื่องนี้

  • กำลังโหลดความคิดเห็น