xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยชี้ปฏิรูปการศึกษาเหลว คนไทยไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ ฉะรัฐอย่ามัวทุ่มงบเมกะโปรเจกต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยชี้ปฏิรูปการศึกษาเหลว คนไทยไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ ส่งผลการเมืองวุ่น แถมมีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ เด็กอายุ 3-17 ปีไม่ได้เรียนในปีการศึกษา 2551 สูงถึง 1.6 ล้านคน เด็กออกกลางคัน 1.19 แสนคน ขณะที่ปริญญาตรีจบปีละ 2.4 แสนคน ว่างงาน 1 แสนคน มีปัญหาอ่าน-เขียน นักวิชาการแนะพัฒนาทุ่มงบเด็กตั้งแต่ปฐมวัย อย่ามัวแต่ทุ่มงบให้โครงการเมกะโปรเจกต์

วานนี้ (2 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการสัมมนาเรื่องโครงการสภาวะการศึกษาไทย ปี 2550/2551 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “สภาวะการศึกษาไทย ปี 2550/2551 ปัญหาความเสมอภาคและคุณภาพของการศึกษาไทย” เพื่อนำเสนอต่อสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ.ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมการศึกษาไทยมีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพโดยจากสถิติและข้อมูลประมาณการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวบรวม การจัดการศึกษาในช่วงปีการศึกษา 2549-2551 สะท้อนว่าประชากรในวัยเรียน 3-17 ปี มีโอกาสได้รับการศึกษาเป็นสัดส่วนต่อประชากรสูงขึ้นจาก 85.3% ในปีการศึกษา 2549 เป็น 88.77% ในปี 2551

อย่างไรก็ตาม พบว่าประชากรในวัย 3-17 ปีไม่ได้เรียนในปีการศึกษา 2551 สูงถึง 1.6 ล้านคนหรือ 11.23% ของประชากรวัยเดียวกัน ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลจัดการศึกษาภาคบังคับแก่ประชาชน 9 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเด็กไม่ได้เข้าเรียนและออกกลางคันไม่ได้เรียนต่อในช่วงชั้นต่างๆมากโดยจากข้อมูลออกกลางคันปี 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่ามีนักเรียนออกกลางคันในทุกระดับชั้นรวม 1.19 แสนคนหรือ 1.4%

รศ.วิทยากร กล่าวอีกว่า ในส่วนของอุดมศึกษาจำนวนนักศึกษาในปี 2549-2550 ประมาณ 2.4 ล้านคน เรียนจบปีละ 2.7 แสนคน และว่างงานปีละ 1 แสนคน โดยนักศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน 1.8 แสนคนและปริญญาเอกจำนวน 16,305 คน ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้เรียนในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีในปี 2550 มีจำนวนลดลงเพราะสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่จะขยายการเรียนระดับปริญญาตรีและสูงกว่ามากขึ้น เนื่องจากคนนิยมเรียนให้ได้ปริญญาเพิ่ม

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นปัญหาการพัฒนาคุณภาพในการจัดการศึกษานั้น จากการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศต่างๆ อันดับของไทยมีแนวโน้มต่ำลงมาตลอดโดยปีพ.ศ.2550 ผลการจัดลำดับประเทศไทยโดยไอเอ็มดี ไทยอยู่อันดับที่ 33 จาก 55 ประเทศ ปัจจัยที่เป็นตัวฉุดก็คือปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ จากการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่ผ่านมา นอกจากมาตรฐานการศึกษาที่มีปัญหาแล้วในส่วนของมาตรฐานครู ในด้านความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญยังพบว่าสถานศึกษามีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 34.2 หรืออยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุง

“จำนวนประชากรไทยจะเพิ่มอย่างช้าๆ แต่โครงสร้างอายุจะเปลี่ยนไป คือมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปีเป็นสัดส่วนสูงขึ้น มีสัดส่วนคนวัยทำงานและวัยเด็กจะลดลง ในขณะที่เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมโลกจะมีปัญหามากขึ้น จึงต้องจัดการศึกษาแบบเน้นคุณภาพ เข้าใจปัญหาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดการศึกษาและจัดกิจกรรมให้ผู้ใหญ่ผู้สูงอายุให้เรียนรู้ใหม่ปรับตัวใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและสร้างสรรค์” รศ.วิทยากร กล่าว

รศ.วิทยากร กล่าวต่อไปว่า ส่วนแนวทางการปฏิรูปการศึกษานั้นต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการศึกษาแบบลดขนาดกำลังคนของ ศธ.และลดบทบาทของการบริหารแบบรวมศูนย์อยู่ที่ รมว.ศึกษาธิการและส่วนกลางลง หรือให้ ศธ.เป็นองค์กรอิสระมี รมว.ศึกษาธิการเป็นผู้ประสานงานแล้ว กระจายอำนาจให้มีการบริหารแบบใช้ปัญญารวมหมู่ ปฏิรูปการจัดสรรและการใช้งบประมาณให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ปฏิรูปด้านคุณภาพประสิทธิภาพและคุณธรรมของครูอาจารย์อย่างจริงจัง เปลี่ยนแปลงวิธีการวัดผลสอบแข่งขันและการคัดเลือกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ จากการสอบปรนัยที่เน้นคำตอบสำเร็จรูปไปเน้นการวัดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง ที่สะท้อนความรู้ความสามารถอย่างเป็นองค์รวม

“การศึกษานั้นมีผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างปัญหาการเมืองขณะนี้ ก็บอกถึงความล้มเหลวทางการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้คนรู้จักคิดวิเคราะห์ ใช้เหตุผลและสติปัญญาแก้ปัญหาอย่างสันติ แต่กลับใช้อารมณ์แก้ปัญหา จึงต้องไม่ใช่แค่ปฏิรูปแต่ต้องปฏิวัติการศึกษาให้เกิดความเสมอภาคโดยเฉพาะต้องทุ่มงบประมาณกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ใช่ไปทุ่มงบประมาณกับโครงการเมกะโปรเจกต์ การพัฒนาเด็กปฐมวัยจะทำให้เด็กฉลาดโดยเฉพาะเด็กปฐมวัยรู้จักคิดวิเคราะห์มากกว่าเด็กประถม มัธยมและมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนในระดับสูงขึ้น เช่น ประถมศึกษา มัธยมจะมีคุณภาพ”นายวิทยากร กล่าว

ด้าน ศ.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ อดีตประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษานั้นต้องแก้ปัญหาขาดแคลนครูโดยใช้วิธีงบประมาณโดยให้เงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ครูในโรงเรียนที่อยู่ในชนบทและจัดงบพัฒนาโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบทให้เสมอภาคกันและต้องปฏิรูปโรงเรียนเป็นหลัก

ส่วน ศ.ดร.บุญเสริม วีสกุล อธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจับัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า การจัดการพัฒนาให้มีคุณภาพนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยเพราะมีผลไปถึงระดับประถม มัธยมและอุดมศึกษา รวมถึงมาตรฐานการศึกษาของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำกันระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบทเพราะถูกละเลยมานานเป็น 10 ปี จีงควรมีการปรับระบบบริหารทางการเงินและควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้มากขึ้น

ศ.ดรไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มธบ.กล่าวว่า เป้าหมายการจัดการศึกษาของไทยทั้งด้านคุณภาพและการพัฒนายังกระจัดกระจาย แต่ละหน่วยงานแต่ละฝ่ายต่างมุ่งพัฒนาเด็กไปตามเป้าหมายของตัวเอง ทำให้เด็กที่จบมาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงปริญญาตรีมีปัญหาด้านคุณภาพ มีปัญหาด้านการอ่าน เขียน เช่น เขียนคำว่า แพทย์ สร้างสรรค์ไม่ถูก แต่ก็ไปเรียนต่อปริญญาโท เมื่อจบปริญญาโทไม่ได้คุณภาพก็ไปเรียนต่อปริญญาเอก ทำให้การศึกษาไทยเดินไปสู่ความไม่เอาไหน

“การพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้นต้องเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยและแก้จุดอ่อน คือ สอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ซึ่งปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็เพราะปัญหานี้ การคิดสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งต้องใช้ครูเป็นผู้ผลักดันคุณภาพการศึกษา จัดระบบงบประมาณโดยเพิ่มงบให้โรงเรียนต่างจังหวัดได้งบมากกว่าโรงเรียนในเมือง 10 เท่าเพราะทุกวันนี้คนจนได้รับการศึกษาแบบคนจน ส่วนคนรวยได้รับการศึกษาแบบคนรวย และต้องมีผู้นำทั้งผู้นำประเทศและผู้บริหาร ศธ.ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและคอยกระตุ้นพัฒนาการศึกษา แต่ทุกวันนี้ไทยขาดผู้นำด้านการศึกษาโดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองมีน้อยมาก และสร้างวัฒนธรรมให้ทุกฝ่ายเข้ามาส่วนร่วมพัฒนาพัฒนาการศึกษา อีกทั้งต้องสอนให้เด็กเรียนจบแล้วมีผลงาน รู้จักว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน รู้จักสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น