xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ร.ร.ไทยไท ร่วมผนึกกำลังหาทางออกการศึกษาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
เครือข่ายโรงเรียนไทยไท ผนึกกำลังสร้างการเรียนรู้ เพื่อความเป็นไท จุดประกายไฟในสังคม ขับเคลื่อนแนวทาง และหาทางออกการศึกษา หวังสร้างคุณค่าความงามภายในตัวเด็กไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงาน และนักวิชาการจากแวดวงการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย

วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการจัดงานระพีเสวนา "การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท" ครั้งที่ 1/7 ในหัวข้อ “เครือข่ายโรงเรียนไทยไท : ทางออกของการศึกษาไทย เพื่อนำเสนอบทสังเคราะห์ และหาทางออกการศึกษาไทย” โดยร่วมกันกับกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนไทยไท 12 โรงเรียน มีการวิจัยเชิงปฎิบัติการ และการนำเสนอองค์ความรู้สู่สังคม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ครูอาจารย์ ร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น พระไพศาล วิสาโล, ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์, ศ.ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง

ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ปูชนียาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปาฐกถาถึงการเรียนรู้เพื่อความเป็นไทยว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาเน้นความรู้ในศาสตร์มากกว่าความรู้ ระบบการศึกษาของไทย ยังโน้มเอียง สอนแต่วิชา จนทำให้เด็กสูญเสียการเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ชีวิตที่มีค่าได้หายไป และวิชาการได้เข้ามาแทนที่ เกิดความเครียดต่างๆ เพราะแต่ละวิชามีตัวชี้วัด ชีวิตที่แจ่มใส สดชื่นได้หายไป ถูกตัวเลขเกรดเฉลี่ยเป็นตัววัดค่า ใครได้เกรด 1.50 มันถูกประทับตราไว้ที่หน้าผากแล้วว่าแย่มาก จนต้องมาเรียนกวดวิชา และเมื่อโตขึ้นกลับต้องแสวงหาชีวิตด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังกล่าวต่อว่า การศึกษาไทยหลอมให้เด็กเกิดการยกคุณภาพ สถานภาพ เพื่อนำเข้าสู่ระบบเงิน โดยไม่สนใจว่าเรียนเพื่อปริญญา หรือเพื่อปัญญา สังเกตได้จากวัยเด็ก จิตใจของเด็กจะรู้สึกอิสระ และเป็นตัวเอง แต่พอเข้าสู่ระบบการศึกษา เด็กถูกจำกัดอิสรภาพ ถูกครอบงำด้วยวิชาการ จนเกิดความเครียด และไม่มีความสุข รวมทั้งสังคมหลอมให้เด็กไม่รู้จักภาพความจริง จมอยู่กับภาพมายา เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่ต้องช่วยกันสร้างภาพความจริง ปลดปล่อยให้เด็กเดินทางอย่างอิสระ และสันติสุข

“การศึกษาที่เป็นทางออก ต้องใช้ชีวิตของเด็กเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า การศึกษาคือชีวิต จึงต้องมีสมดุล ระหว่างวิชากับชีวิต วิชาเป็นเครื่องมือ ความรู้ประดุจดั่งอาวุธ เพราะฉะนั้น ชีวิตมือเปล่ามันจึงแย่ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าผีดิบถืออาวุธนี้ ย่อมเหมือนกับ คนที่ไม่มีจิตวิญญาณ โรงงเรียนทางเลือก มีมรรคต่างๆ กัน ที่พยายามแสวงหา ความสมดุล ระหว่างชีวิตกับวิชา การเรียนเช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นองค์รวม” ปูชนียาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯกล่าว

เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า การศึกษาแนวใหม่ต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาความรู้เป็นตัวตั้ง จะทำลายความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้เรียนขาดรากเหง้า และวัฒนธรรมทางสังคม จากศาสตร์การเรียนรู้ จะกลายเป็นศาสตราวุธ ที่มีแต่การแก่งแย่ง และแข่งขันกัน ดังนั้นต้องนำชีวิตมาสร้างการเชื่อมโยง และเป็นตัวตั้ง เพราะชีวิตคือการศึกษา และการศึกษาคือชีวิต

“ถ้าเอาความรู้เป็นศาสตร์ เป็นตัวตั้ง มนุษย์จะไม่มีจริยธรรม ขาดความสัมพันธ์กับคนอื่น จะเห็นได้ว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่คุยกัยกับพ่อแม่ เพราะไม่ได้คะแนน ดังนั้น สังคมปลูกฝังให้เด็กสนใจแต่ตัวเลข แต่แท้ที่จริง มันเป็นฐานทางวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่ไม่ป้อนให้เด็ก” ราษฎรอาวุโสกล่าว

อย่างไรก็ตาม กาเรียนรู้ที่เป็นชีวิต จะต้องประกอบด้วย การศึกษาหาความรู้ ความสัมพันธ์กับคนอื่น สิ่งแวดล้อม การออกกำลังกาย ศิลปะ และการทำงาน รวมทั้งการเรียนรู้ทุกชนิดจะต้องเชื่อมโยงไปสู่จิต เป็นการเชื่อมโยงทั้งจากภายนอก และภายในอย่างสมดุล รู้และเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ภายในตัวเด็กจะเกิดการเชื่อมโยง ประสบความงาม เกิดกตัญญู เคารพคนอื่น ลดอหังการ์ เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์ เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และบรรลุอิสรภาพ และความสุขต่อไป

ด้าน นางสินจิรา สินธุเสน นักการศึกษาและที่ปรึกษานักเรียนทุนไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ให้มุมมองถึงการศึกษาไทยว่า จากการประสบการณ์ 11 ปีที่อยู่ในแวดวงการศึกษา จะเห็นว่าการศึกษาไทยยังไปไม่ถึงไหน ย่ำอยู่กับที่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่พยายามยัดเยียดวิชา และส่งเงินให้ลูกเรียนในต่างประเทศ แต่ในทางกลับ เด็กและพ่อแม่ยังไม่เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเรียนเพื่ออะไร มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ส่งผลให้การลงทุนเพื่อการศึกษาต้องสูญเปล่า ดังนั้นจึงต้องปรับระบบการเรียนรู้ ให้เกิดจากข้างในตัวเด็ก เข้าใจตัวเอง เกิดความงาม และสร้างปัญญา เพื่อสร้างชาติ และสังคมต่อไป

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังมีนิทรรศการมีชีวิตของโรงเรียนเครือข่ายโรงเรียนเป็นไทยไท 12 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพลินพัฒนา โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนทอสี โรงเรียนสยามสามไตร โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก โรงเรียนสัตยาไส โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนวรรณสว่างจิต และโรงเรียนนานาชาติเมธา ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีการนำเสนอผลงาน และกิจกรรมการเรียนรู้ ของเด็กนักเรียน เช่น การทอผ้า การเล่นหนังตะลุง สาธิตการทำอาหารพื้นเมือง 4 ภาค เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม งานระพีเสวนา จะจัดเวทีเสวนาครั้งละ 1 กลุ่มเครือข่าย ในทุกระยะ 4 เดือนเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้แต่ละกลุ่มร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งสะท้อนประเด็นสำคัญ ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ข้อเสนอแนะ หรือทางออกนำไปสู่การทดลองเชิงปฏิบัติต่อไป โดยมีนักวิจัยเรียนรู้กระบวนการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น