เดือด!! ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎ ก.พ.ใหม่ นักวิชาการ ศธ.ฟ้องศาลปกครองสูงสุด ไล่ยาวตั้งแต่อดีตนายกฯ สมชาย คณะรัฐมนตรี เลขาฯ ก.พ.ซัดทำข้าราชการพลเรือนทั้งระบบ 34,000 คน ตกหล่น ชวดเงินประจำตำแหน่ง 3,500-5,600 บาท
นายประหยัด พิมพา นักวิชาการ 8 ว สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนและ นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ได้ยื่นฟ้องร้อง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ได้ลงนามในกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2551, นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อศาลปกครองสูงสุด วันนี้ (29 ธ.ค.) และศาล ได้รับคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.61/2551 ทั้งนี้ จะมีนัดไต่สวนคำฟ้องต่อไป
นายประหยัด ให้เหตุผลที่ฟ้องร้องว่า เนื่องจากกฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 ส่งผลให้ตนเสียสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง 5,600 บาท ตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน เนื่องจากตามการกำหนดสายงานใหม่นั้น ระดับ (ซี) นักวิชาการ 8 ว จะถูกจัดลงสู่ตำแหน่งประเภทวิชาการในระดับชำนาญการพิเศษ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 5,600 บาท และนักวิชาการ 7 ว จะถูกจัดลงสู่ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 3,500 บาท
แต่ ก.พ.ไปกำหนดบัญชีสายงานที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ ที่อยู่แนบท้ายกฎ ก.พ.ซึ่งมีเพียงแค่ 26 สายงาน แต่ไม่มีสายงานนักวิชาการศึกษา ทำให้นักวิชาการ 7ว และ 8 ว สังกัด ศธ.ที่ถูกจัดอยู่ในตำแหน่งวิชาการระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ ไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง จำนวน 1,381 คน จำแนกเป็น 7ว 606 คน และ 8ว 775 คน
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว ยังพบว่ามีสายงานของกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานอิสระอื่นๆ ที่ตกหล่นด้วย รวมทั้งสิ้น 120 สายงาน จำนวน 34,317 คน แยกเป็น 7ว จำนวน 23,273 คน และ 8ว จำนวน 11,044 คน ดังนี้ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 10,174 คน กระทรวงมหาดไทย 4,122 คน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 4,088 คน กระทรวงการคลัง จำนวน 2,036 คน กระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 1,775 คน กระทรวงแรงงาน จำนวน 1,527 คน กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 1,455 คน กระทรวงยุติธรรม จำนวน 1,450 คน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1,381 คน สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1,359 คน กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 1,077 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 1,018 คน กระทรวงวัฒนธรรม 914 คน กระทรวงคมนาคม จำนวน 508 คน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 390 คน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 317 คน กระทรวงพลังงาน จำนวน 274 คน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 239 คน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 162 คน และกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 51 คน
“ขอเป็นตัวแทนเพื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎ ก.พ.นี้มาดำเนินการฟ้องร้อง ไม่แน่ใจว่าการที่ทำตกหล่นไปถึง 120 สายงานนั้น เป็นเพราะเห็นว่าถ้ากำหนดครบทั้ง 146 สายงาน จะกระทบต่อวงเงินงบประมาณจำนวนมากหรือไม่ เรื่องนี้ผมเคยโต้แย้งสำนักงาน ก.พ.มาเป็นระยะๆ และเคยบอกด้วยว่าถ้ายังดำเนินการต่อ ผมจะฟ้องร้อง” นายประหยัด กล่าว