“ธงทอง” เตรียมย่องลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ทั้งโรงเรียนเล็กและใหญ่ โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า หวั่นเจอผักชี หวังนำข้อมูลมาใช้ในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ปี 52 เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดประเด็นปฏิรูปให้ชัดเจน เชื่อ หากประชาชนตื่นตัวเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่กระทบการเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา
รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ว่า หลังจากที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเวทีสัมมนาเพื่อหาประเด็นที่จะดำเนินการในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง พบว่า เรื่องคุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องหลักที่ทุกฝ่ายต้องการให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางการปฏิรูปการศึกษายังคงเป็นเพียงหัวข้อกว้างๆ ยังต้องมีการหารือเพื่อลงในรายละเอียดว่าจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งการพัฒนาครู นักเรียน และวิธีการเรียนการสอน
โดยในปี 2552 จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้เกิดผลอย่างจริงจัง โดย สกศ.จะเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มีความรู้ความสามารถในแวดวงการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อระบุประเด็นให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ตนจะลงพื้นที่ไปในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลวิธีการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้ข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงานซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง และเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่เลขาธิการสภาการศึกษา เนื่องจากตนมาจากกระทรวงยุติธรรม ยังขาดความเข้าใจจากผู้ปฏิบัติจึงจำเป็นต้องไปเรียนรู้งานในพื้นที่ โดยการไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนของตนนั้นจะไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพราะต้องการเห็นสภาพการเรียนการสอนและปัญหาเกิดขึ้นจริง ไม่ต้องการให้เกิดผักชีโรยหน้า ซึ่งจะไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการศึกษา
“หลายคนอาจจะกังวลว่า หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลอีก การปฏิรูปการศึกษาจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่นั้น สิ่งสำคัญคือ จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวเห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อนาคตของประเทศ ซึ่งหากประชาชนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาในวงกว้าง ผมเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ และแม้เลขาธิการสภาการศึกษาจะไม่ใช่ผมแล้วก็ตาม แต่ตอนนี้ผมก็ยังสนุกกับการทำงานด้านการศึกษา และเห็นว่าเป็นเรื่องท้าทาย”รศ.ธงทอง กล่าว
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา สกศ.มีแหล่งเรียนรู้และงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศึกษาอย่างมาก แต่พบว่าหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไม่ค่อยนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหน่วยงานทางการศึกษาไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานวิจัย หรือค้นหาแหล่งเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้น ในอนาคต สกศ.จะต้องดึงหน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการทำงานวิจัย หรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ มากขึ้น ส่วนงานวิจัยที่ทำไว้แต่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ก็อาจจะต้องนำมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษามากขึ้น