xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! เด็กไทยปี 51 พบแม่วัยเอ๊าะคลอดลูก-เด็กล้นคุกเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สรุปสถานการณ์เด็กไทยส่งท้ายปี 51 แม่วัยเอ๊าะพุ่ง ต่ำ 19 แห่คลอดเฉียด 8 หมื่นคน-ผู้ต้องหาเพิ่ม คุกเด็กไม่พอใส่ นักโทษเด็กทะลุ 4 หมื่นคน ความเครียดถามหา ตั้งแต่ประถม หนักถึงปวดท้อง-นอนไม่หลับ นักเรียน-นักศึกษา 60% เชื่อว่า ไทยมีทุจริตมาก ข่าวนักสูบ-ดื่มหน้าใหม่ ลด จังหวัด และ อปท.ร่วมยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่สำหรับเด็กเพิ่ม เสนอรัฐบาลใหม่ตั้งกองทุนพัฒนาสังคม-สื่อสร้างสรรค์ สู้ปัญหา

วันที่ 25 ธันวาคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.) มีแถลง “เด็กไทยกับ 10 สถานการณ์เด่นรอบปี 2551” โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวว่า โครงการ Child Watch โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สสส.สำรวจพฤติกรรมเด็กและเยาวชนปี 2551 มีทั้งด้านร้ายและดี 10 สถานการณ์ ด้านร้ายเรื่องที่ 1.จับตาปัญหาแม่วัยรุ่น ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี มาทำคลอดสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ 2548-2551 ปี 2251 ประมาณการว่ามีถึง 77,092 คน จากปี 2550 ที่มี 68,385 คน ซึ่งนำมาสู่ปัญหา ทั้งความไม่พร้อมที่จะเลี้ยง ปัญหาเศรษฐกิจเพราะไม่มีงานทำ สังคมต้องร่วมแก้ไขเนื่องจากนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมาก

“เรื่องที่ 2.คุกเด็กอาจเริ่มไม่พอใส่ปี 2551 มีเด็กถูกส่งเข้าสถานพินิจฯ 42,102 คน มากกว่าปี 2550 ราว 2,000 คน คดีอันดับต้นๆ คือ ลักทรัพย์ ยาเสพติด และการประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย เรื่องที่ 3.เด็กใช้ชีวิตกับสื่อมากขึ้นเกือบจะครึ่งชีวิตยามตื่น หรือ 6-7 ชม.ต่อวัน ที่หมดไปกับสื่อต่างๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และโทรทัศน์ ภาครัฐจึงควรดูแลกำกับการผลิตและเผยแพร่โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เด็กเข้าถึงได้มากในยุคนี้ เรื่องที่ 4.เด็กไทยมีแววเครียดสูง มองสังคม การเมือง ติดลบ ปี 2551 มีเด็กเครียดจนปวดท้อง หรือนอนไม่หลับเฉลี่ยถึง 30%” ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ดร.อมรวิชช์ กล่าวอีกว่า ภาวะเครียดจะสูงขึ้นตามระดับการศึกษา โดยนิสิต นักศึกษา เครียดถึง 40% ปัญหามาจากการเรียน การแข่งขัน ความรุนแรง ขณะที่เด็กกว่า 60% ระดับมัธยม-อุดมศึกษา เห็นว่าประเทศไทยมีทุจริตคดโกงในระดับมาก จึงน่าห่วงว่าปีหน้าเด็กไทยจะเครียดขึ้น และเรื่องที่ 5.เด็กไทยไม่ชอบไปโรงเรียนมากขึ้น และมีนิสัยการเรียนรู้ที่น่าเป็นห่วง โดยมีเพียง 27% ที่อ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก และเด็กที่บอกว่าชอบไปโรงเรียนมาก ก็ลดลงจาก 43% เหลือ 38% ยิ่งเมื่อเริ่มเข้าชั้นมัธยม สาเหตุหนึ่งมากจากกวดวิชา ทัศนคติต่อครู ความเครียดต่อสภาพความรุนแรงในโรงเรียนที่มีเด็กเพียง 26% ที่รู้สึกปลอดภัยมากเวลามาโรงเรียน

“ท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่หลายเรื่อง ก็ยังมีเรื่องน่ายินดีหลายเรื่องเช่นกัน สถานการณ์ด้านดี 5 เรื่อง คือ 1.การได้เห็นการเคลื่อนขบวนของ อปท.ลุยงานเด็กและเยาวชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น โครงการ Child Watch ได้เข้าไปชวนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนภายใต้แนวคิด “เมืองน่าอยู่สำหรับเด็ก” มีจังหวัดเข้าร่วมแล้ว 26 จังหวัด และ มี อปท.ร่วมกว่า 240 แห่ง เรื่องที่ 2.การที่ท้องถิ่นต่างๆ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนมากขึ้น อาทิ โครงการถนนเด็กเดิน Child Watch ที่เริ่มไปใน 30 จังหวัด ตั้งแต่ปลายปี 2549 บัดนี้หลายจังหวัดสามารถสานงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยงบของท้องถิ่น อาทิ ฉะเชิงเทรา น่าน พิจิตร อุบลราชธานี มหาสารคาม”

ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า เรื่องที่ 3.การริเริ่มโครงการบ้านหลังเรียน เพื่อแก้ปัญหาที่เด็กในเมืองมักขาดกิจกรรมดีๆ ทำหลังเลิกเรียน ทำให้ 15.00-18.00 น. เป็นเวลาเสี่ยง เด็กประถม-มัธยมถึง 10-15% หลังเลิกเรียนต้องอยู่บ้านคนเดียววันละ 2-3 ชม.กว่าพ่อแม่จะกลับ โครงการจึงร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเลย เริ่มโครงการ “บ้านหลังเรียน” ขยายผลแล้วใน 4 จังหวัด และสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 4 เข้ามาร่วมลงทุนขยายผลในเขตอีสานเหนืออีก 11 จังหวัด มุ่งให้เด็กมีพื้นที่ทำกิจกรรมหลังเรียนหลากหลาย เรื่องที่ 4.แนวโน้มเสพเหล้าบุหรี่องเยาวชนลดลง แต่ยาเสพติดยังต้องจับตา ถือเป็นข่าวดีปี 2551 ที่การดื่มเหล้าของเด็กเยาวชนลดลง ทั้งนักดื่มหน้าใหม่ ที่ดื่มเป็นครั้งคราว และดื่มประจำ โดยเฉพาะ ม.ต้น-ม.ปลาย ส่วนบุหรี่ แม้นักสูบหน้าใหม่ยังไม่ลดลง แต่นักสูบประจำก็ลดลง ซึ่งน่าจะเกิดจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของ สสส.และเครือข่าย

“แต่สถานการณ์ยาเสพติดยังน่าห่วง แม้เด็กที่เข้ารับการบำบัดจะลดลงจาก 26,000 คน เป็น 23,000 คน ทว่าเด็กที่ต้องโทษเป็นผู้ค้าและผู้เสพสูงขึ้นจาก 10,279 คน เป็น 11,297 คน และเด็ก 13% ยังเห็นการเสพยาเสพติดในสถานศึกษา เรื่องที่ 5.ความสำเร็จของการสกัดเด็กอ้วน โดยเด็กที่ทานน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เป็นประจำมีแนวโน้มลดลง น่าจะเกิดจากการรณรงค์ต่อเนื่องของสสส. เช่นโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง” ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีพลังอย่างยั่งยืน ต้องมีกลไกที่ชัดเจน เช่น การมีกองทุนพัฒนาสื่อดีสำหรับเด็ก หรือกองทุนพัฒนาสังคมที่บริหารจัดการอย่างคล่องตัว มีตัวชี้วัดผลงานความสำเร็จและการติดตามประเมินผลการทำงานที่เป็นระบบ นอกจากนี้ควรหนุนกลไกระดับท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. เทศบาล ให้ขับเคลื่อนเรื่องเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย อาจขอความร่วมมือจาก อปท.ประเทศ รวมทั้งจัดงบเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งท้องถิ่นนี้มีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก เห็นได้จากงานที่ทางโครงการ Child Watch ได้ริเริ่มไว้แล้วในอปท. หลายร้อยแห่งทั่วประเทศ จึงอยากฝากรัฐบาลใหม่ ให้พิจารณาและสนับสนุนประเด็นเหล่านี้

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว.กล่าวว่า การผลักดันกลไกเชิงพื้นที่ของรัฐบาลมีความสำคัญมาก เพราะปัจจุบัน สกว.ก็ได้เข้าไปทำงานยุทธศาสตร์บูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และได้เห็นถึงพลังทั้งของจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมกันบริหารจัดการแก้ปัญหาของตนเอง โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย ช่วยกันสนับสนุน ซึ่งพลังเหล่านี้น่าจะนำมาใช้เป็นพลังในการขับเคลื่อนงานด้านเด็กเยาวชนได้ดีเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น