xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทไต้หวันฝันหวานกำไร ทุ่มสร้างโรงพยาบาลในจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงพยาบาลใหม่ของเบนคิว คอร์ปในเมืองหนันจิง เป็น 1 ใน 1 บริษัทไต้หวันที่กำลังเปิดหรือวางแผนลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของจีน - วอลสตรีท เจอร์นัล
เอเจนซี่ – บริษัทไต้หวันลุยสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนตะวันตกในจีน พลิกกลยุทธ์ เน้นให้บริการรักษาราคาถูก แต่ล้นคุณภาพแก่พลเมืองจีนจำนวนมหึมา

การบุกตลาดบริการดูแลสุขภาพของบริษัทมังกรน้อยนับเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย เนื่องจากตลาดภาคดังกล่าวของพญามังกรเต็มไปด้วยปัญหา ช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติจึงเข้ามาทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง เน้นให้บริการการแพทย์แผนตะวันตกแก่ชาวต่างชาติและชาวจีนที่ร่ำรวยเป็นหลัก

ทว่าบริษัทไต้หวันใจกล้าเหล่านี้ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการผลิต และเปิดโรงงานต้นทุนต่ำในจีนมานานหลายปีแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าประสบการณ์คร่ำหวอดบนแดนมังกรและจากการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในไต้หวัน จะทำให้ได้เปรียบในการเปิดโรงพยาบาลแก่กลุ่มรากหญ้าที่นั่น

ตลาดบริการดูแลสุขภาพในจีนคาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 140,000 ดอลลาร์ โดยจากตัวเลขของทางการ คนไข้ที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 วันจ่ายค่าบริการรักษาเฉลี่ยคนละ 110 ดอลลาร์ เทียบกับไต้หวัน ซึ่งตกราว 90 ดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้ บริษัทไต้หวันจึงงัดกลยุทธ์ให้บริการรักษาพยาบาลราคาถูก ตัดราคาโรงพยาบาลของรัฐในจีนเสียเลย ซึ่งในที่สุดแล้ว กำรี้กำไรย่อมจะงอกเงยตามมา

ปัจจุบัน มีโรงพยาบาลของนักลงทุนไต้หวันเปิดให้บริการ หรือเตรียมให้บริการแล้ว 14 แห่ง ซึ่งแห่งหนึ่งเป็นกิจการของฟอร์โมซา พลาสติกส์ กรุ๊ป กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ ขณะที่ เบนคิว บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่รู้จักกันดีเพิ่งเปิดโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองนานจิง

“จีนเคยเป็นโรงงานของโลก แต่ตอนนี้ กาผลิตกลายเป็นเรื่องของเมื่อวานไปแล้วครับ” ไมเคิล เจิงรองประธานของเบนคิวให้ความเห็น

รัฐบาลจีนเปิดตลาดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในจีนตั้งแต่ปี 2543 แต่ในการร่วมทุน กำหนดให้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ70

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลอนุญาตให้เปิดโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการร่วมทุนไปแล้วกว่า 200 ราย อันถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปฏิรูประบบโรงพยาบาลที่นั่น

ปัจจุบัน โรงพยาบาลกว่าร้อยละ90 ในจีนบริหารงานโดยรัฐ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขจีน

ขณะที่องค์การอนามัยโลกจัดอันดับระบบการรักษาพยาบาลของจีนอยู่เกือบที่โหล่คืออยู่ที่อันดับ 187 จากจำนวนทั้งหมด191 ชาติในแง่การให้บริการที่ดีและยุติธรรม

สำหรับฟอร์โมซา พลาสติกส์ กรุ๊ปประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาล โดยเปิดโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในไต้หวันเมื่อ 30 ปีก่อน และปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือ 7 แห่ง รวมทั้งธุรกิจบริการด้านสุขภาพอีกมากมาย

ส่วนโรงพยาบาลในเมืองเซี่ยเหมิน ทางกลุ่มบริษัททุ่มทุนสร้างจำนวน 257 ล้านดอลลาร์

“เขาคิดค่ารักษาแต่ละครั้งแค่ 70 หยวน (10 ดอลลาร์) และหมออธิบายอาการโรคของฉันอย่างละเอียด” แรงงานอพยพสตรี อายุ 21 ปีรายหนึ่งเล่า

อย่างไรก็ตาม บริษัทไต้หวันก็เจออุปสรรคไม่น้อยในการบุกตลาดจีน เช่น ความอืดอาดของระบบราชการ ทำให้เบนคิว ซึ่งเมืองนานจิงเชื้อเชิญมาสร้างโรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ปีก่อน โครงการโรงพยาบาลมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์ เพิ่งเปิดให้บริการได้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โรงพยาบาลเบนคิวตั้งอยู่ในเขตพัฒนาอันทันสมัย ตัวอาคารสะอาดสว่างตา สร้างเชื่อมตรงกับสถานีรถไฟใต้ดิน เปิดให้บริการรักษาโรคทุกสาขาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเตียงรองรับ 3,000 เตียง และเก็บประวัติผู้ป่วยไว้ในระบบคอมพิวเตอร์

ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า แต่ค่ารักษาถูกทำให้คุณพ่อคนใหม่ วัย 36 ปีอย่างเสิ่น ป๋อ พออกพอใจมาก เพราะเขาควักกระเป๋าจ่ายค่าผ่าตัดทำคลอดภรรยาเพียง 600 ดอลลาร์ ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 200 ดอลลาร์เป็นอย่างน้อย

นอกจากนั้น โรงพยาบาลรัฐยังต้องเตรียมการผ่าตัดสองสามสัปดาห์ แต่หมอที่นี่ทำงานพิเศษนอกเวลา เพื่อทำคลอดให้ภรรยาของเขา

กระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้มีผู้มารักษาที่โรงพยาบาลเบนคิวแค่วันละ 600 คน เทียบกับโรงพยาบาลรัฐขนาดเดียวกัน มีผู้มารักษาถึงวันละประมาณ 7,000 คน แต่ทางบริษัทก็เตรียมใจไว้แล้วว่า ต้องรอ 10 ปีจึงจะเห็นผลกำไร

การรับสมัครแพทย์เข้าทำงานก็เป็นปัญหาท้าทายเช่นกัน เนื่องจากแพทย์ในจีนมีสถานภาพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และมักรับทรัพย์หลายทาง เช่นจากบริษัทขายยา โดยสำหรับแพทย์ท้องถิ่นในจีน ที่ทำงานกับเบนคิว ต้องแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับรายได้เสริมที่ได้รับทั้งหมด ก่อนจะเริ่มทำงาน ทั้งนี้ ก็เพราะโรงพยาบาลพยายามตั้งเงินเดือน ซึ่งสามารถชดเชยรายได้เหล่านี้ และห้ามแพทย์รับเงินจากที่อื่นอีก

ผลก็คือทางโรงพยาบาลต้องคว้าแพทย์จากไต้หวันมาทำงานอุดช่องโหว่อีกหลายตำแหน่ง

ทว่าแพทย์ท้องถิ่นในจีนจำนวนหนึ่งก็สมัครใจมาทำงานกับเบนคิว

เดวิด เฟย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบนคิว และอดีตหัวหน้าศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลเซี่ยเหมินในนครเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า เขายอมสูญเงินบำนาญ เพื่อโอกาสการทำงานในโรงพยาบาลทันสมัยสักแห่งหนึ่ง ที่ได้มาตรฐานสากล

“จุดบกพร่องต่างๆ ของโรงพยาบาลรัฐไม่มีหนทางแก้ไขได้ ผมจึงฝากความหวังไว้กับโรงพยาบาลเอกชน” หมอเฟยกล่าวไว้อย่างน่าคิด
กำลังโหลดความคิดเห็น