สธ.ตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากบริการทางการแพทย์ 1 ชุด เพื่อสมานฉันท์ ไกล่เกลี่ย เยียวยาความเดือดร้อนทุกฝ่าย เผยในรอบกว่า 10 ปี โดนฟ้องแล้วเกือบ 100 คดี ถูกเรียกค่าเสียหายรวม 456 ล้านบาท สาเหตุจากการรักษาผิดพลาดมากสุด เชื่อแนวโน้มในอนาคตมีเพิ่มขึ้น แนะยึด 3 มาตราฐานเรียกศรัทธา สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
วันนี้ (14 พ.ย.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทการใช้บริการทางการแพทย์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องแพทย์จากผู้ที่ได้รับความเสียหาย พิการ หรือเสียชีวิต จากการรักษาของแพทย์ โดยตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทจากบริการทางการแพทย์ 1 ชุด มีทั้งหมด 21 คน โดยมีนายมานะ นพพันธ์ อดีตรองปลัด กทม.เป็นประธาน และให้ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
กรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีพิพาท สร้างความสมานฉันท์ พิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชน และให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของทุกฝ่าย ขณะเดียวกันให้ทำหน้าที่ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทไปด้วยเพื่อดึงความเชื่อมัน ความไว้วางใจกลับคืนมา
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ในรอบ 12 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2539-2551 กระทรวงสาธารณสุขถูกฟ้องร้องตกเป็นจำเลยทั้งหมด 98 คดี เป็นคดีแพ่ง 86 คดี คดีอาญา 12 คดี ถูกเรียกค่าเสียหายรวม 456 ล้านบาท ขณะนี้ชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาไปแล้ว 7 ล้าน 4 แสนบาท ซึ่งสาเหตุที่ฟ้องสูงสุด 3 สาเหตุ ได้แก่ รักษาผิดพลาดไม่ได้มาตรฐาน 38 เรื่อง ทำคลอด 18 เรื่อง และวินิจฉัยผิดพลาด 12 เรื่อง โดยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปถูกฟ้อง 41 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 30 แห่ง เชื่อในอนาคตแนวโน้มการฟ้องจะสูงขึ้น จาก ปี 2548 มีคดีแพ่ง 6 คดี ปี 2549 มี 16 คดี ปี 2550 มี 19 คดี และ 11 เดือน ในปีนี้ฟ้องแล้ว 21 คดี และการเรียกค่าเสียหายจะสูงขึ้นตามด้วย เช่นที่โรงพยาบาลขอนแก่น ผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายถึง 22 ล้านบาท
นอกจากนี้ ลักษณะการแจ้งความร้องทุกข์มีแนวโน้มเป็นคดีอาญาเพื่อบีบให้ยอมความทางแพ่ง หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยให้ยุติเรื่องได้ผู้เสียหายกับแพทย์จะแจ้งความดำเนินคดีกับแพทย์ พยาบาลทันที จากนั้นจะยืนฟ้องหน่วยงานต้นสังกัดเป็นคดีแพ่งภายหลัง
“ในการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกฟ้องร้องคดีอาญา ขอให้ยึดถือ 3 มาตรฐาน ได้แก่ 1.มาตรฐานความรู้ ควรเตรียมตัว ทบทวนความรู้ก่อนประกอบวิชาชีพและเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆเสมอ ป้องกันความผิดพลาด 2.มาตรฐานการปฏิบัติ ให้ตรวจสอบความพร้อมสถานที่ ยา เครื่องมือ บุคลากร รวมทั้งผู้ป่วยที่ให้การรักษาพยาบาล มีการบันทึกกระบวนการต่างๆอย่างครบถ้วน 3.มาตรฐานจริยธรรม ควรเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ให้ข้อมูลต่างๆที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจ กรณีเกิดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บพิการ ความให้การดูแลตามสมควร ซึ่ง 3 มาตรการนี้หากปฏิบัติได้เชื่อว่าเหตุการณ์ขัดแย้งน่าจะน้อยลง หรือไม่มีเลย ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เป็นไปด้วยความโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาหมอเหมือนในอดีต” นายวิชาญ กล่าว