กรมสุขภาพจิต เผย ความหยุ่นตัวทางอารมณ์และจิตใจคนไทย 85% ปกติ อีก 15% มีปัญหา ฝ่าวิกฤตยาก พลังกำลังใจ ต่ำกว่า 10% แนะคิดบวก นักวิชาการ ชิ้ วิกฤตปี 2552 ไม่เท่าปี 2540 เพราะรู้ตัวก่อน แต่ยังห่วงมีสัญญาณอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความหยุ่นตัวทางอารมณ์และจิตใจ หรือ อาร์คิว(Resilience Quatient) จะประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 3 ด้าน คือ 1.ความมั่นคงทางอารมณ์ เป็นคนมีความภูมิใจ เห็นค่าของตัวเอง 2.กำลังใจ และ 3.การจัดการปัญหา รู้สึกว่าทำได้ สามารถเผชิญปัญหาได้ กรมได้พัฒนาแบบประเมิน RQ สำหรับผู้ใหญ่อายุ 25-60 ปี เพื่อใช้วัด RQ สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งผลการสำรวจวัดระดับอาร์คิว เมื่อปี 2551 ของคนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 4,000 คน พบว่า 84-85% อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่องค์ประกอบด้านกำลังใจของคนไทยต่ำกว่าด้านอื่น 10%
“ในกลุ่มที่มีองค์ประกอบด้านกำลังใจต่ำกว่าด้านอื่นนี้ต้องเพิ่มทักษะการคิดบวก การมองเห็นคุณค่าของตนเองและครอบครัว การพูดคุยกับคนที่รักและห่วงใยเพิ่มเติมความหวังและกำลังใจ นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชายกับหญิงภาพรวมไม่แตกต่าง แต่เพศหญิงจะมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่าเพศชายเล็กน้อย เนื่องจากเพศหญิงมีวิธีการจัดการทางอารมณ์ที่ดีกว่า เช่น การพูดระบายอารมณ์ การผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสม” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า หลักคิดสู่อาร์คิว คือ ควรคิดว่า ฉันเป็น ฉันมี ฉันทำได้ หมายถึง ฉันเป็นคนอดทนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ฉันมีกำลังใจ มีคนรักและห่วงใย ฉันทำสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์อื่นๆ ได้ โดยใช้เทคนิค 4 ปรับ 3 เติม คือ ปรับอารมณ์ ปรับความคิด ปรับการกระทำ ปรับเป้าหมาย และ เติมศรัทธา เติมมิตร เติมจิตใจให้กว้าง โดยในปี 2552 จะมี 3 วิกฤตหนัก วิกฤตทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตชีวิต หากไม่มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี จะทำให้ประสบปัญหาความยุ่งยากในการดำเนินชีวิต
“นักวิชาการในต่างประเทศสนใจศึกษาเรื่อง อาร์คิวมานานกว่า 30 ปี จากประสบการณ์ของผู้ที่ดูแลช่วยเหลือทางสุขภาพจิตพบว่า เมื่อพบความทุกข์ยากลำบากหรือวิกฤตในชีวิตจะแบ่งคนออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก 20% ยอมจำนนต่อโชคชะตา กลุ่มนี้จะท้อแท้หมดหวังไม่มีความสุข กลุ่มที่สอง 60% อดทน ใจสู้กับวิกฤต แต่ไม่ค่อยมีทักษะในการปรับตัว หรือ รับมือกับวิกฤต และกลุ่มที่สาม 20% มีความหยุ่นตัวทางอารมณ์และจิตใจ สามารถปรับตัวด้วยดี รู้จักหาทางออก พยายามเอาชนะยังมีความหวังและสร้างอนาคตให้ตนเองได้” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดในปีหน้า และวิกฤตการเมืองในปีก่อนหน้า ผลกระทบที่จะนำไปสู่ปัญหาภาวะซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตาย คือ วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งในปีที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ ปี 2552 เพราะเรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต กระทบต่อครอบครัว ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณว่าอัตราการฆ่าตัวตายมีเพิ่มขึ้น จากอัตราการฆ่าตัวตาย 5.7 คนต่อแสนประชากร ขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 5.9 คนต่อแสนประชากร แต่ยังห่างเมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อยู่ที่ 8.6 ต่อแสนประชากร ส่วนปัญหาการเมือง มีทั้งบวกและลบในตัวเอง หากเกิดความเครียด จะหาทางออกได้โดยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ และอาจกระทบเพียงทำให้อารมณ์ไม่ดี แสดงความรุนแรงทางอารมณ์ แต่ไม่ถึงขั้นฆ่าตัวตาย
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต จะออกเครื่องมือเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตคนไทยเพื่อรองรับวิกฤตทางสุขภาพจิตที่จะมาถึง หลังจากนี้ทีมนักจิตวิทยากรมสุขภาพจิต จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแจกแบบทดสอบให้สื่อมวลชน วิทยุชุมชน สถานีอนามัย ศูนย์กีฬา โรงเรียน และจะประสานกระทรวงแรงงาน เพื่อเข้าถึงสถานประกอบการต่างๆ ทั้งนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงแรงงานในการจัดเก็บข้อมูลเชิงวิจัยและจะให้แรงงานได้ทำการตอบแบบสอบถามในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ปี 2552 เพราะเป็นช่วงที่น่าจะมีผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจ
“อยากให้คนไทยตรวจเช็คสุขภาพจิตเพราะในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา คนไทยเผชิญปัญหามากมาย และใช้พลังในการแก้ปัญหามาก จึงควรทำแบบสอบถามอาร์คิว เพื่อวัดพลัง ความเข้มแข็งทางจิตใจว่ามีอยู่มากพอที่จะแก้ปัญหาในปีต่อๆไปหรือไม่ หากพบว่าตนเองขาดในด้านใดจะได้เติมเต็มได้อย่างถูกต้อง” นพ.ชาตรี กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม กล่าวว่า จากรายงานการให้บริการปรึกษาปัญหาทางสุขภาพทางโทรศัพท์ พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มต้นเก็บข้อมูล ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย.2550 พบว่า มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 9,345 ราย ปีงบประมาณ 2551 มีทั้งสิ้น 28,148 ราย และล่าสุด ปีงบประมาณ 2552 เพียง 3 เดือน มีจำนวน 17,719 ราย รวมทั้งสิ้น มีผู้เข้ารับบริการ 49,212 ราย พบว่า เป็นเพศชาย 38.18% หญิง 47.45% โดยพบว่า ปัญหาที่โทรเข้ามาปรึกษามากที่สุด อันดับ 1 ความผิดปกติทางจิต 2.ความเครียด วิตกกังวล 3.ความรัก 4.สุขภาพจิต และ 5.ปัญหาทางเพศ