ผลการศึกษากระทรวงหมอชี้ชัด กลุ่มเสี่ยงเอดส์คาดการณ์ 2553 ชายรักชายจะเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุด ในขณะที่นักวิจัยด้านความเข้าใจในเรื่องเพศระบุ หญิงสนใจถามปัญหาเพศมากกว่าฝ่ายชาย แต่เรื่องโรคเพศกลับถูกถามน้อยสุดแค่ 5% ชี้แนวทางคำถามย่ำอยู่กับที่ 120 ปีแล้ว! สะท้อนความแคบของพื้นที่การสื่อสารและการให้ความรู้ ความเข้าใจทางเพศของหญิงแคบกว่าชาย
วันนี้ (13 ต.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน “วิถีเพศ วิถีสุขภาวะ” ขึ้น โดยแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนพ.วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะประธานคนที่ 2 สสส.เป็นประธานเปิดงาน
โดย นพ.วิชัย ได้เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาเก็บข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่า พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลให้มีความเสี่ยงให้เกิดการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคเอดส์” โดยอัตราความเสี่ยงของกลุ่มผู้ติดเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา
นพ.วิชัยกล่าวต่อไปอีกว่า ใน พ.ศ.2533 การศึกษาการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยพบว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคเอดส์ คือกลุ่มผู้ชายที่ซื้อบริการทางเพศ ซึ่งสถิติดังกล่าวก็ส่งผลสอดคล้องต่อเนื่องในสิบปีให้หลัง คือใน พ.ศ.2543 กลุ่มที่ติดเชื้อเอดส์ที่มากที่สุดคือกลุ่มแม่บ้านที่ติดเชื้อเอดส์จากสามีที่ไปติดมาจากที่อื่นนั่นเอง
“และใน พ.ศ.2553 เราคาดการณ์กันว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุด คือ กลุ่มชายรักชาย เพราะลักษณะสังคมที่เปลี่ยนไป ประกอบกับการมีสิ่งยั่วยุให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ปลอดภัย อาจจะเป็นเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ แต่อย่างหนึ่งที่สังคมไทยไม่ได้เปลี่ยน
คือในมิติของเพศ เรายังขาดการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส.จึงเตรียมใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ คือรื้อค่านิยมทางเพศแบบเดิมออก และปรับทัศนคติด้านความรู้ความเข้าใจ ทั้งการสร้างและจัดการความรู้ , การเคลื่อนไหวทางสังคม และการขับเคลื่อนนโยบาลให้เกิดเป็นรูปธรรม ยอมรับว่าเรื่องเพศเป็นประเด็นร้อน ไม่ว่าเราจะพูดในยุคไหนสมัยใดก็ยังคงเป็นเรื่องร้อน แต่การพูดคุยทำความเข้าใจในเรื่องเพศ คือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางเพศได้อย่างแท้จริง”
ประธานคนที่ 2 ของสสส.ระบุสถิติสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยด้วยว่า จากเดิมที่มีผู้เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุบนท้องถนน, เหล้า, บุหรี่ จะเป็นสาเหตุต้นๆ ของการเสียชีวิตนั้น ในขณะนี้สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยนั้น กลายเป็นเพราะการติดเชื้อ “เอชไอวี” จากการมีเพศสัมพันธ์อันไม่ปลอดภัยแล้ว
และจากงานวิจัยเรื่อง “คำถามยอดฮิตในคอลัมน์ถามตอบเรื่องเพศ” ของน.ส.ญาณาธร เจียรรัตนกุล พบข้อมูลว่า จากการศึกษาการสอบถามข้อมูลจากคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศจากสื่อต่างๆ ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2546-2550 ในสื่อ 3 ประเภท 6 สื่อหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ, นิตยสาร 2 เล่ม, อินเทอร์เน็ต 2 เว็บไซต์ พบว่า เพศหญิงจะสอบถามปัญหามากกว่าเพศชาย รวมคำถามได้ 4,409 ข้อ และคำถามที่พบมากที่สุด คือ 1.เพศสัมพันธ์ร้อยละ 25 2.อนามัยเจริญพันธุ์ร้อยละ 18 3.อวัยวะเพศหญิงร้อยละ 18 4.ความสวยงามร้อยละ 16 และ 5.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่น่าจะเป็นความรู้ที่สำคัญที่สุด กลับมีผู้ถามเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
“ในขณะที่คำถามที่เพศหญิงถามมากที่สุดนั้นคือ เรื่องของอวัยวะเพศ,ตกขาว,ประจำเดือน, เรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ และวิธีคุมกำเนิด รวมไปถึงเรื่องของการปฏิเสธฝ่ายชายในการไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ ส่วนการตั้งคำถามในเพศชายนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความต้องการทางเพศ สมรรถภาพทางเพศ อวัยวะเพศ ขนาด การฝังมุก การขลิบ เรื่องโรคติดต่อ และเรื่องของการสำเร็จความใคร่”
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังรายงานด้วยว่า เจ้าของงานวิจัยดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า แนวทางการสอบถามปัญหาเรื่องเพศ ที่เริ่มมีมาก่อนในนิตยสาร เท่าที่ปรากฏหลักฐาน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2431 หรือ 120 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า เท่าที่ศึกษาการตั้งคำถามยังคงเป็นแนวเดิม สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศขั้นพื้นฐานอย่างถูกต้องและดีพอ และการที่มีผู้หญิงถามมากกว่าผู้ชาย แปลว่าพื้นที่ในการสื่อสารด้านเพศของฝ่ายชายมากกว่าฝ่ายหญิง ผู้หญิงจึงต้องหาความรู้ผ่านสื่อ ซึ่งสังคมต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง