xs
xsm
sm
md
lg

รถมอเตอร์ไซค์ของขวัญอันตรายที่แม่ให้ลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยชี้รถมอเตอร์ไซค์ของขวัญอันตรายที่แม่ให้ลูก ระบุเพื่อน พ่อแม่ ครูคนแรก ของระบบอันตราย แจงรถมอเตอร์ไซค์เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของเด็กชายขอบ จี้แก้ระบบขนส่งสาธารณะ-วัฒนธรรม ตัวใครตัวมันคลี่คลายปัญหาเด็กนักบิด เผย จุดสุดท้ายไม่ประสบอุบัติเหตุก็เกี่ยวข้องอาชญากรรม แนะใช้การโค้ช แคร์ริ่ง และคอนโทรล ปรับพฤติกรรมเด็กเป็นผู้นำเยาวชน

วันนี้ (18 ธ.ค.) ในการประชุม “มอเตอร์ไซค์บรรลัยจักร: 1 คันเราสูญเสีย (เด็ก) อะไร?” จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 6E ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรถึงจะดี แต่ต้องมองเชิงวัฒนธรรมสังคมร่วมด้วยเพราะเป็นรากเหง้าของปัญหา

จากการศึกษาวิจัยโดยนำตัวเองเข้าไปอยู่ร่วมกับเด็กวัยรุ่นที่เป็นผู้ให้ข้อมูล พบว่า รถมอเตอร์ไซค์สำหรับกลุ่มเด็กชายขอบเป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตน ยิ่งตอนนี้สามารถดาวน์รถมอเตอร์ไซค์ได้ในราคาแค่บาทเดียว ก็จะเปลี่ยนเด็กชายขอบที่ไม่มีใครเหลียวแลกลายเป็นเด็กหนุ่มที่สาวๆ มากมายหมายปองได้หลังครอบครองรถมอเตอร์ไซค์

“เด็กชายชอบที่เป็นคนนอกสายตาของพ่อแม่ คนในชุมชน และครูอาจารย์ จะใช้รถมอเตอร์ไซค์เป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนของพวกเขา และขณะที่พวกเขาเป็นชายขอบของระบบการขนส่งสาธารณะ แต่กลับเป็นลูกค้าที่มีเกียรติของผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ที่มีความเข้มแข็ง ดูได้จากโบชัวร์ต่างๆ ที่เจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่น”

ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวต่อว่า ผู้ปกครองมีส่วนผลักให้ลูกเป็นคนชายขอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ที่จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างลูก ถ้าหากแม่ไม่สามารถทนการรบเร้าของลูกอายุน้อยๆ ให้ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ได้ ก็จะประสบปัญหาว่าความรักของแม่ไม่มีพลังเท่ากับการพยายามสร้างตัวตนของพวกเขาผ่านการขี่รถมอเตอร์ไซค์เมื่อเติบโตขึ้น โดยเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้เมื่อประสบอุบัติเหตุก็จะเหลือแต่แม่เป็นผู้อยู่ดูแล

“ถ้าจะแก้ปัญหาเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ ภาครัฐต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ เพราะโครงสร้างปัจจุบันเอื้อให้เกิดความรุนแรงไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต และสังคมไทยต้องแก้ค่านิยมมองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเองเป็นเรื่องของคนอื่นให้กลับมาเป็นวัฒนธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้นเพื่อร่วมกันรื้อโครงสร้างความเป็นชายขอบ”

ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวต่อว่า แม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักลูกให้กลายเป็นนักบิดที่ไม่ใช่แค่ขับรถแข่ง แต่หมายถึงชอบขับรถฝ่าไฟแดงและขี่รถย้อนศร จากการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้เป็นของขวัญด้วย ถึงแม้ว่าการจ่ายเงินค่าผ่อนรถจะน้อยกว่าค่าโดยสารขนส่งสาธารณะเวลาลูกไปโรงเรียน แต่ในระยะยาวรถมอเตอร์ไซค์ที่ลูกหัดขี่โดยเพื่อน หรือกระทั่งพ่อแม่เป็นผู้สอนเองตั้งแต่ยังเรียนชั้น ป.5 ขาเริ่มหยั่งถึงพื้น และให้ลูกขับไปโรงเรียนใกล้บ้านหรือซื้อของในตลาดเมื่อเข้าเรียน ป.6 และกระทั่งตัดสินใจซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้เมื่อลูกเข้าเรียน ม.1 ในโรงเรียนมัธยมไกลบ้าน

“ระยะทางไกล แม่เลยซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ เพราะรู้สึกว่าคุ้มกว่าต้องจ่ายเงินระบบขนส่งสาธารณะ มอเตอร์ไซค์จึงมีโบว์ผูกเป็นของขวัญตามร้านค้าต่างๆ รอแม่มาซื้อให้ลูก แต่เมื่อลูกได้ครอบครองมอเตอร์ไซค์แล้วแทนที่จะกลับบ้านไว สามทุ่มก็ยังไม่กลับ เที่ยงคืนก็ยังไม่มา ชีวิตเด็กเปลี่ยนไป ภัยร้ายเริ่มเข้ามา เพราะพอมีรถแล้วห้ามไม่อยู่ พวกเขาจะเริ่มหันมาแต่งรถ ปาดเบาะ ถอดไฟหน้าออก และจากเคยเป็นเด็กหลังห้องแล้วเข้ามายุ่งเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์ ก็จะใช้รถมอเตอร์ไซค์กลายเป็นอำนาจพาไปตีสนุ้ก ไปเข้าซุ้ม เข้าแก๊ง จนเกิดปัญหาตามมามากมายจากการรวมกลุ่มกันหลายรุ่น กลายเป็นตัวขี่ โตขึ้นไปก็เป็นบอส”

ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวต่อว่า ท้ายสุดปลายทางชีวิตของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ เกือบทั้งหมดจะประสบอุบัติเหตุ รวมถึงเข้าไปพัวพันกับการก่ออาชญากรรม พกอาวุธ มีด ปืนเถื่อน เริ่มยิงสายไฟ ขโมยถังดับเพลิง ยกพวกตีกัน ตามวิถีของซุ้ม เมื่อโตขึ้นมาเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ถึงจะจบ ม.3 แต่ก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก วิธีคิดอ่อนแอ และไม่มีงานทำ ถึงคิดกลับใจ ก็จะถูกกดขี่แรงงานตามมา รวมทั้งระหว่างนั้นยังสร้างครอบครัวอ่อนแอ อันเนื่องมาจากมีเพศสัมพันธ์แบบฉายฉวย เสี่ยงเป็นโรคเอดส์ โตมากขึ้นก็ก่อภัยอันตรายอาชญากรรมต่างๆ สร้างชื่อ

“รถมอเตอร์ไซค์ของขวัญที่แม่ให้ตอน ม.1 นั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ของขวัญ แต่คือภัยร้ายที่นำอันตรายมาสู่ชีวิตพวกเขาและสังคมทั้งหมด ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนนี้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลก็ตาม และรัฐยังต้องจัดระบบขนส่งสาธารณะที่คุ้มค่าเพื่อลูกหลานในชุมชนจะได้ปลอดภัยด้วย” ผศ.ดร.ปนัดดา กล่าวและว่า พ่อแม่ต้องสร้างลูกที่เป็นเยาวชนให้เป็นผู้นำความปลอดภัย อย่าตีตราพวกเขา ต้องทำให้พวกเขาเป็นผู้นำความปลอดภัยผ่านกระบวนการที่ประกอบด้วย 1.โค้ช (Coach) ให้เด็กวัยรุ่น พ่อแม่ และสื่อเป็นผู้สอน 2.แคร์ริ่ง (Caring) ดูแลเอาใจใส่ในการใช้รถของลูก อย่าให้ลูกใช้รถมอเตอร์ไซค์ไปตามสื่อโฆษณาที่เน้นความเร็วแรง การโฆษณา 3.คอนโทรลลิ่ง (Controlling) แบบแคร์ ไม่ใช่ปราบปราม

“เด็กหลังห้องมีจำนวนน้อย แต่พลังการทำลายรุนแรง ดังนั้น ต้องรื้อและปรับวิธีคิดในเด็ก ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองต่อเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ด้วย ต้องมองว่าพวกเขาถูกกระทำจากระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อ และร้านแต่งรถที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเด็กวัยรุ่นที่เป็นตัวขี่จะถูกจับเรื่องแต่งรถ ขณะที่ร้านแต่งรถไม่โดน ผู้กระทำผิดที่อยู่เบื้องหลังหายไป สังคมต้องกลับมาสร้างสำนึกทางการตลาดโดยดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นแนวร่วม”

ด้านนายวีรพงษ์ แสนณรงค์ อายุ 24 ปี อดีตเด็กแว้นจาก จ.สกลนคร กล่าวว่า จากเคยขับรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ความเร็วสูงประมาณ 130-140 กม./ชม.ก็กลับมาปรับแต่งให้เหลือความเร็วเพียงแค่ 60 กม./ชม.หลังจากอายุมากขึ้นและเข้าอบรมในโครงการด้านคุณธรรมกับ พ.ต.อ.อานนท์ นามประเสริฐ ผกก.สภอ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

“เมื่อก่อนชอบโชว์สาว ท้าเดิมพันไปเรื่อย ได้เงินมาก็เอาไปโมดิฟาย แต่งไปเรื่อยๆ เคยประสบอุบัติเหตุเหมือนกัน นั่นทำให้จบแค่ ม.3 เรียนไม่จบ ม.6 เพราะเอาแต่ขี่รถ”

ส่วนนายวรรณชัย คุณสิทธิ์ อดีตเด็กแว้น วัย 19 ปี กล่าวว่า เมื่อก่อนเคยขับรถมอเตอร์ไซค์ความเร็วสูง 150 กม./ชม.แบบยังไม่ได้โมดิฟายปรับแต่งเครื่อง แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มรู้สึกเป็นห่วงพ่อแม่ และคิดว่าถ้าตัวเองมีครอบครัวจะมัวมาขับรถเร็วๆ แรงๆ แบบนี้ได้อย่างไร

“หลังจากไปฝึกอบรมกับ พ.ต.อ.อานนท์ (นามประเสริฐ) แม้จะเป็นแบบถูกบังคับทีแรก แต่แล้วชีวิตก็เปลี่ยนไป สามารถกลับมาทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้ เพราะเมื่อก่อนผมกินและดื่มมาก ดื่มเบียร์และเหล้าขาวตั้งแต่อายุ 12 แต่ตอนนี้เลิกแล้ว รู้สึกแข็งแรงขึ้น แม้จะห่างเหินเพื่อนฝูง แต่ก็ได้ใกล้ชิดเรียนรู้จากผู้ใหญ่และคนแก่มากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น