xs
xsm
sm
md
lg

TCELS เล็งวิจัย “ขมิ้นชัน” ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หลังพบสารต้านอนุมูลอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยต่างชาติสนใจสารสกัดขมิ้นชันของไทยที่อภ.ผลิตได้ วิจัยต่อยอดรักษาอัลไซเมอร์ ทีเซลส์เผยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นอัลไซเมอร์แล้วกว่า 1ล้านกว่าราย เตือนกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมก่อนวัย ทั้งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ให้ระวังอาหารทอด ผัด มัน

วันที่ 17 ธันวาคม นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ กรรมการมูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้หารือกับ ศ.นพ.แกรี่ สมอลล์ จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลิส ผู้ค้นพบแนวทางการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ด้วยการสแกนสมอง โดย ศ.นพ.แกรี่มีความสนใจในการนำสมุนไพร โดยเฉพาะขมิ้นชันมาใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้จึงได้เสนอให้องค์การเภสัชกรรมนำสารสกัดจากขมิ้นชันที่ผลิตได้เองไปให้นพ.แกรี่ศึกษาวิจัยต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาหารืออยู่

“ศ.นพ.แกรี่สนใจศึกษาขมิ้นชันมาก เนื่องจากขมิ้นชันมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนในการไม่ทำให้เซลล์สมองตาย ซึ่งขมิ้นชันถือว่ามีสารดังกล่าวในปริมาณมาก แต่นพ.แกรี่ยังไม่สามารถหาวัตถุดิบขมิ้นชันที่มีคุณภาพได้ อีกทั้งในต่างประเทศขมิ้นชันมีราคาแพงมาก จึงเหตุว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ขมิ้นชันของไทยที่อภ.สกัดได้นั้นจะสามารถมีส่วนในการวิจัยความคืบหน้าทางการแพทย์ในครั้งนี้ด้วย”นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ศ.นพ.แกรี่จะศึกษาต่อไปว่าจะมีกรรมวิธีใดที่จะทำให้สารต้านอนุมูลอิสระจากขมิ้นชันสามารถเข้าสู่น้ำไขสันหลัง ส่งไปยังสมองโดยตรงได้มากขึ้น จากเดิมที่สามารถส่งต่อไปถึงสมองได้น้อย จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้สารดังกล่าวจากขมิ้นชันมีโมเลกุลเล็กลงและสามารถเข้าสู่สมอง เพื่อให้เนื้อเซลล์สมองไม่ตาย

ด้าน นายจรัญ จักรวาลชัยศรี รักษาการณ์ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวิวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย(ทีเซลส์) กล่าวว่า ปัจจุบันร้อยละ 60 ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมของผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งคาดว่า ในปี 2550 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 2.1 ล้านคน และคาดว่าจะมีผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 1 ล้านกว่าราย และจากการศึกษาระบาดวิทยาถึงสถิติความชุกของโรคอัลไซเมอร์ในประชากรโลก พบว่ามีร้อยละ 10 ของผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และจะมีอัตราเป็นโรคสูงถึงประมาณ ร้อยละ 20 หากมีอายุเกิน 90 ปี ขณะนี้ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 26 ล้านกว่าคน

"โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากเนื้อสมองหรือเซลล์ของสมองตาย เมื่อเป็นแล้วไม่มีวันหาย ลักษณะเด่นที่สำคัญของโรคนี้ คือจะมีอาการสับสน ไม่สามารถปฏิบัติงานที่เคยทำตามปกติได้ บางรายมีอาการก้าวร้าวทุบตีคนดูแล บางรายจำทางกลับบ้านไม่ได้ จึงทำให้เกิดปัญหาผู้สูงอายุหายออกจากบ้าน แต่อาการจะเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย หรือสังเกตอาการผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ป่วยก็จะมีอาการหนัก ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด เป็นปัญหาที่สำคัญมากทั้งตัวผู้ป่วยทำให้ขาดคุณภาพชีวิต ส่วนผู้ดูแลเกิดความเครียด โรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย เนื่องจากประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น" นายจรัญ กล่าว

ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้กระทบกระเทือนแค่เฉพาะเรื่องของความทรงจำเท่านั้น แต่ในบางรายมีพฤติกรรมทางอารมณ์ที่รุนแรง มีผลทางด้านจิตใจ บางรายซึมเศร้า หวาดระแวง ก้าวร้าว เป็นภาวะของผู้ดูแล บางรายถึงขนาดทุบตีทำให้ผู้ดูแลไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงจัดตั้งมูลนิธิฯเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานองค์ความรู้กับนานาชาติ รวมถึงวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นแหล่งวิชาการให้ตระหนักถึงโรคดังกล่าว และผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถได้รับองค์ความรู้

“มูลนิธิฯ มีเป้าหมายที่จะสร้างระบบเฮลท์แคร์ที่รับดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ในลักษณะบ้านพัก ในกรณีที่ผู้ดูแลไม่ว่างในช่วงระยะเวลาหนึ่งอาจจะ 1-2 สัปดาห์ หรืออาจจะเป็นการดูแลแบบเช้ามาเย็นกลับก็ได้ อย่างน้อยก็เป็นการรวมกลุ่มผู้ป่วยเพื่อฝึกความทรงจำ ซึ่งหากมูลนิธิฯมีการบริจาคเข้ามากๆก็อยากให้เป้าหมายส่วนนี้เกิดขึ้น”ศ.พญ.นันทิกา กล่าว

ขณะที่ คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ รองประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิฯได้ร่วมกับทม.จัดโครงการ สร้างสรรค์ค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ ที่สวนลุมพินี ในวันที่ 21 ธ.ค. 2551 นี้ ตั้งแต่เวลา 6.00 น.-18.00 น.เพื่อเป็นการสร้างกระแสสังคมไทยรู้จักกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์และการป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ สำหรับภายในงานจะมีนิทรรศการและกิจกรรมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ มากมาย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว

“นับวันคนไทยจะเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดมาจากวิถีความเป็นอยู่และการกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภททอด ผัด มีไขมันและแป้งมากเกินไป โดยผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมักมีอาการก่อนอายุ 60 ปี แต่ยังปรากฏอาการไม่ชัดเจน กลุ่มที่เสี่ยงจะเป็นโรคสมองเสื่อมและพบก่อนอายุ 60 ปี ได้แก่ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอาหารจำพวกของทอด ผัด มัน หากอยากกินเนื้อสัตว์ ขอให้เลือกเนื้อปลาแทน และกินข้าวเป็นหลัก ไม่กินแป้ง ส่วนผักผลไม้ซึ่งมีมากในประเทศไทยนั้น ผักกินได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความหวานมาก จะต้องเลือกบริโภคผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลมาก เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ ส้มโอ”คุณหญิงอุไรวรรณ กล่าว

คุณหญิง อุไรวรรณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตกระฉับกระเฉง ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน จะทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง สามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ร้อยละ 60 นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญออกซิเจนให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ชะลอความชราได้
กำลังโหลดความคิดเห็น