มหรสพหลวงที่เป็นตำนานและสามารถคงความยิ่งใหญ่มาได้จวบจนปัจจุบัน คือ “หนังใหญ่” ซึ่งตามหลักฐานสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และในเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ว่า หนังใหญ่เป็นมหรสพสำคัญและยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ.2001 และมีการเล่นตลอดมาจนสิ้นสุดอยุธยา พ.ศ.2301 จึงถือเป็นการสิ้นสุดการเล่นหนังใหญ่โดยปริยาย แต่เมื่อสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี หนังใหญ่จึงฟื้นคืนชีพอีกครั้ง และยืนยงเรื่อยมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้น จึงไม่มีมหรสพหลวงใดๆ ที่จะเทียบเทียมหนังใหญ่ได้
และหนังใหญ่นี้เองเป็นต้นกำเนิดแห่ง “โขนหลวง” โดยผู้เต้นโขนเล็งเห็นว่าเงาจากหนังใหญ่นั้นเป็นเพียงเงาสะท้อนให้คนดู แต่จะทำอย่างไรให้เงาเหล่านั้นมีชีวิต จึงมีการดัดแปลงท่าทางการร่ายรำจนกลายมาเป็นโขนในปัจจุบัน ผู้แสดงโขนและครูโขนจึงถือว่าการแสดงหนังใหญ่เป็นต้นแบบ อีกทั้งยังเป็นการแสดงอันเป็นมงคล จึงนิยมนำหนังใหญ่มาแสดงควบคู่กับการแสดงโขน
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่การแสดงหนังใหญ่เป็นการแสดงอันละเอียดอ่อน จึงลำบากมากหากจะต้องทำการแสดงเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น กรมศิลปากรในฐานะผู้ดูแลการจัดแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงจัดให้หนังใหญ่เป็นการแสดงตอนต้น เบิกโรง เบิกหน้าพระ แล้วก็ชุดจับลิงหัวค่ำ ก่อนจะทำการแสดงโขนหลวง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสุดยอดมหรสพไทยที่จะสะท้อนความวิจิตรของนาฏศิลป์ไทยจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ชุดรามาวตาร จนจบพระรามคืนนคร
** สุดยอดมหรสพงานพระเมรุ
อ.ประสาท ทองอร่าม หรือ ครูมืด นักวิชาการละคร และดนตรี 8ว.กรมศิลปากร ผู้ดูแลการแสดงหนังใหญ่และโขนในงานออกพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า หนังใหญ่และโขนจะเป็นการแสดงบนเวทีหลักตลอด 11 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น.ของวันที่ 15 พ.ย.ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 พ.ย.
ทั้งนี้ มหรสพหลวงที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ จะมีทั้งสืบสานประเพณีเดิมและมีความทันสมัย การดำเนินเรื่องรวดเร็ว กระชับ ปรับให้คนยุคปัจจุบันดูเข้าใจง่ายและซึมซับเนื้อหา กระนั้นความงามในเชิงนาฏศิลป์ไม่ได้หดหายไปแต่อย่างใด ซึ่งมหรสพหลวงครั้งนี้นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เป็นต้นแบบในกาลต่อๆ ไปที่จะจารึกไว้ให้แผ่นดิน ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง เพื่อการค้นคว้าข้อมูลจากการแสดงครั้งนี้
“มหรสพของเราก็ยังรักษาประเพณีดั้งเดิม แต่เราสอดแทรกสิ่งซึ่งมีความทันสมัยโดยไม่ผิดแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวแสดงที่ครบทุกประเภท พระ นาง ยักษ์ ลิง ตัวประกอบ ตัวตลก คนพากย์ คนเจรจา การขับร้อง วงดนตรี ทุกอย่างจะต้องอยู่ในสภาพดั้งเดิมแทบทั้งสิ้น เพื่อคนรุ่นใหม่จะได้นำไปปฏิบัติ หรือยึดถือธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้องต่อไป เพื่อคนรุ่นใหม่เขารับเอาไว้ อาจจะเป็นผู้ที่มาเป็นผู้บริหารต่อไปในอนาคตก็ได้ ซึ่งแนวคิดที่ได้จากงานครั้งนี้อาจจะติดตัวเขาไป และคิดถึงความเป็นไทยมากขึ้นเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากขึ้นต่อไป” ครูมืด อธิบาย
แม้การแสดงโขนจะมีให้เห็นทั่วไปได้บ่อยครั้ง แต่โขนที่ยิ่งใหญ่สมบูรณ์ ถูกต้อง และเป็นมาตรฐาน คือ โขนของกรมศิลปากร เพราะฉะนั้น นี่คือ แบบแผนหลัก ทั้งนี้ นอกจากตำนานอันยาวนานที่จะส่งเสริมให้หนังใหญ่และโขนในงานพระเมรุคงความงดงามและยิ่งใหญ่ ความยากอีกประการหนึ่ง คือ การคัดเลือกนักแสดง ซึ่ง ครูมืด บอกว่า ตลอดการแสดง 3 ภาค 11 ชั่วโมง นักแสดงจากทั่วประเทศจะเวียนขึ้นเวทีถึงกว่า 2,000 คนเลยทีเดียว
“พระราม พระลักษณ์ ทศกัณฑ์ ตัวเอกแต่ละตัวจะต้องใช้ไม่น้อยกว่า 10 คน โดยจะคัดเลือกนักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศโดยเลือกนักแสดงที่มีฝีมือใกล้เคียงกัน ตัวอื่นๆ เช่น บรรดาเสนา พลทหารต่างๆ ก็ต้องเลือกคนที่มีความสามารถและมีใจที่จะร่วมงานกันจริงๆ ซึ่งการแสดงครั้งนี้ต้องจารึกไว้ในประเทศไทย” ครูมืด ยืนยันความยิ่งใหญ่
** ชวนไทยชื่นชมวิถีไทย
อ.ประสาท บอกว่า การแสดงมหรสพสมโภชนั้น แม้จะกระทำเพื่อถวายความอาลัยให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่สิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของการแสดงครั้งนี้ ก็คือ ต้องการให้ประชาชนได้ซึมซับวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเป็นชีวิตของคนไทย ให้ผู้ชมได้ซึมซับกลับไป เมื่อได้ดู ได้ศึกษา และได้เห็นความงดงามแล้ว จะเกิดความรัก ความหวงแหนและภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งถ่ายทอดความรักและความหวงแหนนั้นให้กับชนรุ่นหลัง เพื่อสืบทอดศิลปะการแสดงแขนงนี้ให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป
“เนื้อหาดูไม่ยากบางคนอาจจะคิดว่า พอเป็นโขนแล้วดูยาก ไม่ใช่ ถ้าได้ดูเชื่อว่าประชาชนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สอนขัดเกลาอบรมบ่มนิสัยคนไทย เนื้อเรื่องนี้สอนให้คนเป็นคนดีทั้งสิ้น ถ้าเขาได้ศึกษาละเอียดแล้วก็จะรักและหวงแหนยิ่งกว่านี้มาก”
ไม่เพียงเท่านี้ ความงาม วิจิตรในแต่ละฉากการแสดงยังสะท้อนความสัมพันธ์ของการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ในอดีต การปฏิบัติตนในฐานะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างองค์พระมหากษัตริย์ เจ้านายกับลูกน้อง พ่อกับลูก พี่กับน้อง ซึ่งตรงนี้เองครูกรมศิลปากรเชื่อว่าจะฉุดความคิดของคนไทยให้กลับมาสู่วิถีความงามอย่างไทยได้อีกครั้งผ่านศิลปะหลายแขนงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านนาฏศิลป์ ด้านดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ด้านหัตถศิลป์ งานช่างที่สระสวย เครื่องโขนที่จำลองมาจากเครื่องทรงขององค์พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่พระมงกุฎจนถึงข้อพระบาท นอกจากนี้เนื้อหายังปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม และสัจธรรม หรือแม้กระทั่งความกลมเกลียวสามัคคี ก็ยังรวมอยู่ในการแสดงโขนทั้งสิ้น
“รามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ซึ่งจะจัดแสดงในวันที่ 15 พ.ย.ณ เวทีที่ 1 ฝั่งทิศเหนือของสนามหลวงนั้น ยึดตามแบบงานพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวถึงรามาเกียรติยศ หรือเกียรติยศแห่งพระราม ผู้ซึ่งอวตารมาจากพระนารายณ์อยู่ในร่างมนุษย์ธรรมดา ซึ่งในความเข้าใจของคนไทยที่นี้เปรียบได้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นสมมติเทพ แห่งพระนารายณ์แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่ชาวโลก มีพระองค์ทรงเป็นมหามงคลอันยิ่งใหญ่ หากเรายึดถือก็จะขจัดเสียซึ่งอุปสรรคทั้งปวงได้”
นาฏศิลปินโขน เน้นย้ำในตอนสุดท้ายว่า นอกจาก ความงาม แง่คิด และคติ ตลอดจนความหวงแหนและกลับสู่รากเหง้าแห่งความเป็นไทยจากการชมโขนหลวงของกรมศิลปากรแล้ว ในวันงานมหรสพยังได้ร่วมเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ และร่วมแสดงแสนยานุภาพแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสู่สายตานานาประเทศด้วย