xs
xsm
sm
md
lg

อลังการสานศิลป์สยาม ซ้อมใหญ่มหรสพงามงานพระเมรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ขณะซ้อมรำบนเวทีที่1
เริ่มแล้ว! งานซ้อมใหญ่มหรสพสมโภชพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ เวทีกลางแจ้ง 3 จุด กลางมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตื่นตาความอ่อนช้อยจากนาฏศิลป์ไทย งดงามเงื้อมเงาจากหนังใหญ่ เสนาะหูจากดนตรีสากล พร้อมกับสนุกสนานไปกับหุ่นกระบอก ละครนอก และ หุ่นโจหลุยส์

วันนี้ (13 พ.ย.) ตั้งแต่เวลา 16.00 น.ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้มีการจัดการซ้อมใหญ่การแสดงมหรสพสมโภชพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีการจัดการแสดงประชันกันถึง 3 เวที โดยเวทีแรก เป็นเวทีของการแสดงหนังใหญ่และการแสดงโขน ด้านเวทีที่สอง เป็นการแสดงการบรรเลงเพลงสากล และเวทีที่ 3 เป็นเวทีของหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็กจากนาฏยศาลา (โจหลุยส์) และละครนอก ซึ่งตั้งแต่เวลา 15.00 น.ก่อนเวลากำหนดเริ่มซ้อม ก็ได้มีประชาชนผู้สนใจเดินทางมารอชมการแสดงทั้ง 3 เวที เป็นจำนวนมาก โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยิ่งเวลาค่ำลงก็ยิ่งมีประชาชนทยอยเดินทางมาจับจองพื้นที่ดูมหรสพกับอย่างคับคั่ง
นักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังเดินเยี่ยมชมการจัดซ้อมใหญ่การแสดงมหรสพสมโภช ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า จากการเดินชม และสอบถามในแต่ละเวที ได้แก่ เวทีการแสดงหนังใหญ่และโขน เวทีการบรรเลงดนตรีสากล และเวทีการแสดงมหรสพ ซึ่งทุกเวทีมีความพร้อมและเต็มที่กับการแสดงจริงในวันพฤหัสที่ 15 พ.ย.ที่จะถึง จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชน และชาวต่างชาติ เดินทางมาร่วมงาน เพราะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ และหาชมได้ยาก โดยเฉพาะการแสดงมโหรสพสมโภชโบราณที่สืบทอดมายาวนาน

นายการุณ สุทธิกูล ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวว่า ทุกอย่างพร้อมแสดงในวันจริงหมดแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่ยังต้องปรับปรุง หลังจากได้เห็นภาพการซ้อมใหญ่ เช่น เรื่องขนาดเวที และเรื่องแสง สี เสียง ที่ใช้ประกอบการแสดง เพื่อที่วันจริง เสียงจะได้ไม่ตีกัน และมีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยทุกเวทีจะเริ่มการแสดงพร้อมกันในเวลา 1 ทุ่มตรง และจะหยุดพร้อมกันเวลา 3 ทุ่มครึ่ง
การแสดงโขนบนเวทีที่1
อย่างไรก็ตาม จะเริ่มแสดงอีกทีในช่วงเวลา 5 ทุ่ม เป็นต้นไป แต่จะเลิกการแสดงไม่พร้อมกัน คือ เวทีการแสดงหนังใหญ่ และโขน เรื่องรามเกียรติ์ จะเล่นการแสดงถึง 6 โมงเช้า เวทีการบรรเลงดนตรีสากล จะเล่นการแสดงถึง ตี 4 ครึ่ง ส่วนเวทีการแสดงหุ่นกระบอก การแสดงนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ และการแสดงละครนอกจะเล่นการแสดงถึง ตี 3 ตรง

นายสถาพร นิยมทอง นักวิชาการด้านละครและดนตรี กรมศิลปากร ในฐานะผู้ควบคุมเวทีการบรรเลงเพลงสากล เปิดเผยว่า ใช้วงดนตรีทั้งหมด 5 วง คือ วงผสมพลเรือน ทหาร ตำรวจ, วง CU BAND จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วงดุริยางค์เยาวชนไทย, วงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร, วง Harp Chamber ศิลปินศูนย์ฮาร์พตำหนักประถม โดยแต่ละแห่งจะแยกซ้อม แต่จะให้คิวดูแลการซ้อมทั่วถึงกันทุกวง
อ.ศุภชัย-อ.ปกรณ์ ขณะเชิดหนังใหญ่เบิกหน้าพระ ชุดพากย์สามตระ
“เรื่องฝีไม้ลายมือการเล่น ผมไม่ห่วงเลยครับ แต่ที่เป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร คือ การปรับเสียง วันนี้ที่มาซ้อม เป็นวงผสมพลเรือน ทหาร ตำรวจ ที่มาซ้อมไม่ได้ซ้อมการเล่น แต่เป็นการซ้อมเสียงกับเวที เพราะปกติการเล่นออเครสตร้าจะเล่นในฮอลล์ ไม่มีไมค์สักตัวเดียว เป็นเสียงสด แต่ที่นี่เป็นลานโล่ง แล้วต้องแสดงผ่านการขยายเสียง ซึ่งควบคุมเสียงยากขึ้น คอนดักเตอร์จะทำงานยากขึ้น เพราะต้องปรับเสียงดนตรีให้เหมาะสมกับสภาพเวที นอกจากนี้ เราจะให้สองค่ายเทป คือ อาร์เอส และ แกรมมี่ ขึ้นร้องเพลงเทิดพระเกียรติที่ทั้งสองค่ายทำถวาย จะมี คุณปาน-ธนพร และ คุณติ๊ก ชิโร่ ร่วมขับร้อง”

ด้านนายสมเจตน์ ภู่นา นาฏศิลปิน 6 สำนักสังคีต กรมศิลปากร ผู้เคยผ่านการแสดงบนเวทีสมโภชพระเมรุ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาแล้วในบท “พระลักษณ์” เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจและสูญเสียที่เสด็จสู่สวรรคาลัย แต่ในฐานะนาฎศิลปิน ก็อยากรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเป็นครั้งสุดท้ายอย่างเต็มความสามารถ โดยในครั้งนี้จะรับบทเป็น “พระราม” ในตอน “ศึกนาคบาศ” บนเวทีการแสดงที่ 1
ประชาชนให้ความสนใจเดินทางมาชมการซ้อมเป็นจำนวนมาก
“การแสดงโขนในครั้งนี้จะแสดงตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ตอนรามาวตาร, ขับพิเภก, ศึกนาคบาศ, ศึกพรหมมาสตร์, ศึกทศกัณฑ์ และตอนคืนนคร โดยแต่ละตอนจะมีความยาวแตกต่างกันไปแล้วแต่เนื้อหา ตั้งแต่ 45 นาที ถึงประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ก็จะทำให้ดีที่สุดครับ เป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตครับ” นายสมเจตน์ กล่าว
ด้าน อ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ.2548 สาขานาฏศิลป์ คณบดีคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในฐานะแม่งานใหญ่ดูแลเวทีที่ 3 อันเป็นเวทีจัดการแสดงหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ และการแสดงละครนอก กล่าวว่า ละครนอก ซึ่งเป็นการแสดงชุดเดียวของเวทีที่ใช้ผู้แสดงเป็นคนจริงๆ โดยในการณ์ได้เลือกเรื่อง “สุวรรณหงส์” ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมนำมาเล่นเป็นละครนอกมากที่สุดมาเล่น

“เฉพาะละครนอกก็ใช้กว่า 100 ชีวิตแล้วครับ คราวนี้ผมขึ้นเวทีกับ อ.ปกรณ์ (พรพิสุทธิ์) บนเวทีโขน รับหน้าที่เชิดหนังใหญ่เป็นตัวพระนารายณ์ ส่วน อ.ปกรณ์ ท่านเชิดพระอิศวร จนถึงวันนี้การซ้อมของทุกฝ่ายพร้อมแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ การซ้อมร่วมกันก็ไม่มีปัญหาอะไร”
สมเจตน์ ภู่นา นาฏยศิลปิน 2 พระเมรุ
น.ส.มรกต ไพรศรี อาจารย์คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การแสดงครั้งนี้ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้แสดงละครนอก ชุดสุวรรณหงส์ ซึ่งการแสดงชุดนี้ มีเนื้อหาที่น่าสนใจ มีหลายอรรถรส ใช้เวลาในการฝึกซ้อมประมาณ 2 เดือน ทั้งอาจารย์ นักศึกษา ต่างก็ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจในการฝึกซ้อม การแสดงเพื่อให้การแสดงชุดนี้สมบูรณ์มากที่สุด และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ละครนอกยังมีการเล่นการแสดงอยู่ในปัจจุบัน เพราะส่วนใหญ่ประชาชนจะไม่ค่อยๆ ได้ชมการเล่นละครนอก แต่ส่วนใหญ่ทางสถาบันก็จะมีการแสดงบ้างในงานเทศกาลต่างๆ

ทางด้านนางสาววรรณณิกา ไชยสิงห์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นักแสดงละครนอกเรื่องสุวรรณหงส์ ตอนเสี่ยงว่าว ได้บอกกล่าวถึงความรู้สึกครั้งนี้ ว่า ภาคภมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหรสพสมโภชในครั้งนี้ เพื่อร่วมส่งเสด็จ พระพี่นาง สู่สวรรคาลัย
เวทีที่ 2 บรรเลงเพลงสากล
นายเผด็จพัฒน์ พลับกระสงค์ นักวิชาการละครและดนตรี 8 ว.หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนา ผู้กำกับอำนวยการฝึกซ้อมหุ่นกระบอก เผยว่า ความพร้อมของเวทีหุ่นละครกระบอกเล็กตอนนี้ เรียกได้ว่า พร้อม 100% แต่จะมีปัญหาทางด้านฉากและลม ส่วนทางด้านหลังคาเวทีนั้นยังเหลือแค่การคลุมผ้าเพราะว่าเพิ่งสร้างโรงละครวันนี้

“ทีมงานที่มาร่วมการแสดงมาจาก สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กว่า 70 คน โดยนักแสดงในวันนี้จะเป็นศิลปินเลือดใหม่เกือบทั้งสิ้น ซึ่งการแสดงละครหุ่นกระบอก ละครนอก และหนังใหญ่นั้นล้วนแล้วแต่อยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงอยากให้คนไทยหันมาให้ความสนใจกับศิลปะแขนงนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เพราะศิลปวัฒนธรรมของไทยนั้นสวยงามไม่แพ้ชาวต่างชาติเลยทีเดียว” นายเผด็จ กล่าว
เวทีที่ 2 บรรเลงเพลงสากล
ในขณะที่หนึ่งในผู้แสดง อย่างนายรัชฐิกร กระจ่างวุฒิ หรือ “น้องจี๊ด” อายุ 21 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 3 สาขานาฏศิลป์ วิทยานาฏศิลป์อ่างทอง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า งานแสดงมโหรสพสมโภช เป็นการจัดขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากวิทยานาฏศิลป์ทั้ง 12 แห่ง หน้าที่หลักของโรงเรียนจะแสดงโขนในตอนต่างๆ โดยมีอาจารย์ชุรีพันธ์ ธารวิเชียร เป็นผู้ฝึกสอนและควบคุมการแสดง
สถาพร นิยมทอง ผู้ควบคุมเวทีดนตรีสากล
“วันนี้บอกความรู้สึกจากใจเลย ว่า ภูมิใจ และเป็นเกียรติมาก ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดง เพราะเป็นการตอบแทนพระกรุณาธิคุณของพระพี่นางฯ ที่ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของประชาชน ยากที่จะหาสิ่งใดเปรียบ อยากเชิญชวนให้พ่อแม่พี่น้องมาร่วมชมการแสดงที่พวกเราจัดขึ้นด้วยความเต็มใจ และเต็มที่ เพราะเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติเป็นยิ่งนัก" นายรัชฐิกร กล่าว
นักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ให้ความสนใจการแสดงบนเวทีอย่างยิ่ง
น.ส.สุกัญญา ชมพูรัตน์ อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ กล่าวถึงการเข้าร่วมการแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ว่า วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายให้แสดงโขน ชุดรามาวตาร โดยใช้นักเรียนของวิทยาลัยเป็นผู้แสดงซึ่งแบ่งเป็นชั้นปี ได้แก่ นักเรียนประกาศวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 ชั้นปีที่ 2 ชั้นปีที่ 3 และระดับปริญญาตรี จำนวน 40 คน
อ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์
“การแสดงโขนจะมีการแบ่งการแสดงออกเป็นหลายชุด เช่น ชุดรามาวตาร ชุดศึกนาคบาศ โดยแต่ละวิทยาลัยจะฝึกซ้อมชุดที่ตนได้รับผิดชอบ ใช้เวลาการฝึกซ้อมประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะมีการซ้อมรวมกันทั้ง 12” น.ส.สุกัญญา กล่าว

น.ส.สุกัญญา กล่าวอีกว่า ทางวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ ครูอาจารย์ นักเรียนรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายให้แสดงโขนในงานพระราชพิธีพระราชทานพระศพในครั้งนี้ และได้แสดงถึงการทดแทนพระกรุณาธิคุณแด่พระองค์ด้วย
หุ่นกระบอกบนเวทีที่3 เล่นเรื่องพระอภัยมณี
ในขณะที่ น.ส.วีรภัทรา แจ้งสว่าง นักเรียนชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ กล่าวถึงการได้รับมอบหมายให้แสดงโขนในครั้งนี้ ว่า ในครั้งนี้ได้รับมอบหมายให้แสดงเป็นเทวดานางฟ้า ซึ่งเป็นเกียรติที่ได้รับมอบให้เป็นหนึ่งในตัวแสดง และนับว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้แสดงในงานพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ เพราะโดยปกติก็แสดงตามงานเทศกาลที่สำคัญต่างๆ

พระอภัยมณี สินสมุทร นางสุวรรณมาลี

กำลังโหลดความคิดเห็น