xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉมพระโกศทองคำทรงพระอัฐิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ร่วมแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน และแกะสลักเครื่องสด กรมศิลปากรเผยโฉมพระโกศทองคำลงยาสีประดับพลอยทรงพระอัฐิ “พระพี่นาง” น้ำหนักทอง 2 พันกรัม ระบุดอกไม้จันทน์เพื่อถวายในหลวง-พระราชินีและพระบรมวงศ์ เพื่อใช้ถวายพระเพลิงพระศพเสร็จแล้ว พร้อมเปิดตัว “วงบัวลอย” ที่จะใช้บรรเลงขณะถวายพระเพลิง ขณะที่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ จัดกิจกรรมพิเศษ “สมเด็จเจ้าฟ้าในใจประชา” ตามหา 6 บุคคลที่เคยเข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิด พสกนิกรร่วมสักการะพระศพวันสุดท้ายเนืองแน่น พร้อมร่วมชมซ้อมใหญ่มหรสพสมโภชพระเมรุ

วานนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 กรมศิลปากร ได้มีการแถลงข่าวรายละเอียดการจัดสร้างพระโกศทองคำลงยาสีประดับพลอย ทรงพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยน.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น กล่าวว่า ถือเป็นภารกิจสุดท้ายที่กรมศิลปากรได้จัดทำถวาย โดยก่อนหน้านี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมศิลปากรจัดทำพระโกศทรงพระอัฐิ แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งทางกรมศิลปากร ก็ได้มอบหมายให้นายนิยม กลิ่นบุปผา ผู้เชี่ยวชาญศิลปกรรม 9 กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ
         
ทั้งนี้ เมื่อออกแบบเสร็จสิ้นก็ได้นำแบบทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย จากนั้นเมื่อมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างได้ ก็ได้จัดสร้างขึ้น โดยเริ่มเมื่อประมาณ 4 เดือนที่แล้ว

“พระโกศทรงพระอัฐิที่ได้ทำขึ้นนี้ องค์พระโกศพร้อมฝา เป็นทองคำลงยาสีแดง อันเป็นสีวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ใช้ทองคำทั้งหมด 2,000 กรัม แต่องค์พระโกศมีน้ำหนักทั้งสิ้น 2,419.05 กรัม โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมามาจากส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ส่วนของเรือนเงินประดับพลอย ดอกไม้ไหวชั้นบน 8 ดอก ดอกไม้ไหวชั้นกลาง 8ดอก ดอกไม้ไหวชั้นล่าง 8 ดอก ดอกไม้เอว 16 ดอก เฟื่องพู่ระย้าปากพระโกศ 8 ชุด งานส่วนเดียวที่กรมศิลปากรต้องจัดจ้างช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะให้ร่วมทำคืองานฝังพลอยประดับองค์พระโกศ

นอกจากองค์พระโกศแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ คือสุวรรณฉัตร 7 ชั้น ตามพระอิสริยยศ มีพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งตามโบราณราชประเพณีนั้น ขณะที่องค์พระโกศพระอัฐิ ประดิษฐานอยู่ในพระวิมาน จะใช้ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่หากมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เช่นวันสงกรานต์ ซึ่งจะมีการนำพระโกศทรงพระอัฐิออกมา จะประดับยอดพระโกศทรงพระอัฐิด้วยยอดฉัตร

ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ นั้น จะมี “เส้า” เป็นลักษณะแท่นสูง สำหรับไว้รองรับฝาพระโกศเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดออกเพื่อบรรจุพระอัฐิ และ “ถ้ำศิลา” ที่ทำจากหินอ่อนที่ขาวนวล ที่จะทรงพระอัฐิภายในพระโกศทรงพระอัฐิทองคำ
     
นอกจากนี้ยังมีดอกไม้จันทน์ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อใช้ถวายพระเพลิงพระศพฯ โดยเป็นดอกไม้จันทน์สำหรับสองพระองค์เป็นแบบเฉพาะ ลายกนกและมีขนาดใหญ่ ส่วนของพระบรมวงศ์อื่นๆ เป็นขนาดที่ย่อมกว่าและใช้ลายใบเทศ โดยดอกไม้จันทน์บางส่วน เป็นดอกไม้จันทน์ที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นไม้จันทน์ที่ดีมาก หอมมากโดยเฉพาะเวลาเผา

สุดท้ายคือฟืนไม้จันทน์ประดับพระจิตกาธานจำนวน 16 ท่อน เป็นไม้จันทน์จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมากลึงและปิดทองประดับลายบริเวณส่วนปลาย

ด้าน นายนิยม กลิ่นบุปผา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม นายช่างศิลปกรรม 9 ชช. สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อธิบายแนวคิดการออกแบบองค์พระโกศทองคำ ทรงอัฐิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า การออกแบบยังคงแนวคิดดั้งเดิมตามพระราชพิธีพระศพแบบโบราณราชประเพณี เป็นแนวเครื่องทองใหญ่ โดยองค์พระโกศทองคำ ประกอบด้วยฐานสิงห์ มีฐานชั้นบัวเป็นฐานรองรับ ชั้นบนมีฝาครอบ ทั้งหมดจะลงยาสีแดง และเขียว แต่จะเน้นสีแดง เพราะเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ

รอบตัวพระโกศชั้นบน ประดับด้วยดอกไม้ไหว 8 ดอก ชั้นกลาง 8 ดอก ชั้นล่าง 8 ดอก และดอกไม้เอวอีก 16 ดอก มีทั้งหมด 8 ชุด รวมถึงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เฟื่องพู่ระย้าปากพระเกศ เครื่องประดับรอบพระโกศทั้งหมดจะทำด้วยเงินประดับพลอย สีขาว ส่วนฉัตรเป็นสุวรรณฉัตร 7 ชั้น ลงทองคำประดับพลอย และเส้ารับฝาพระโกศ เป็นไม้กลึงแกะสลักปิดทอง
       
ส่วนถ้ำศิลาที่จะทรงพระอัฐิภายในพระโกศทองคำด้วยว่า ตัวถ้ำทำด้วยหินอ่อนสีขาวนวล และทีเลือกเอาหินอ่อน เพราะเป็นวัตถุตามธรรมชาติ มีความเย็น

ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำพระโกศทองคำประกอบไปด้วยนายสมชาย ตติยวัฒนสิริ นายสายันต์ ยอดนวล นายสายัณห์ มณีสุวรรณ นายธีระชัย จันทรังสี นางอัจฉริยา บุญสุข นางวรรีย์ ดวงแก้ว นายอภิสิทธิ์ จุลพรรณ์ นายธนิตย์ แก้วนิยมและนายยงยุทธ วรรณโกวิท

สาธิตการบรรเลงเพลงวงบัวลอย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังการแถลงข่าวเผยพระโกศทองคำทรงพระอัฐิ ได้มีการสาธิตการบรรเลงเพลงของ “วงบัวลอย” ซึ่งถูกเรียกตามเพลงที่ใช้เล่นประโคมช่วงพระราชทานเพลิงคือ “เพลงบัวลอย” นั่นเอง โดยอ.ปี๊บ พวงลายทอง หนึ่งในนักดนตรีประจำวงบัวลอยอธิบายว่า ในวงบัวลอยจะมีเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือ ปี่ชวา กลองแขกตัวผู้ (ให้เสียงสูง) กลองแขกตัวเมีย (ให้เสียงต่ำ) เหม่ง

“วงบัวลอยนี้จะใช้เฉพาะงานศพหรืองานพระศพ และใช้กับผู้ทรงคุณแห่งแผ่นดินเท่านั้น” อ.ปี๊บกล่าวและว่าวงบัวลอยจะบรรเลงในวันที่ 15 พ.ย. เวลา16.30-22.00 น.

ตามหา 6 บุคคลที่เคยเข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิด

นายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาพิเศษคณะอนุกรรมการ จัดนิทรรศการ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2551 ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยพระองค์มีพระกรุณาธิคุณแก่คนไทยในท้องถิ่นทุรกันดารที่ยังมีความลำบากยากเข็ญ ขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ประชาชนคนไทยทุกชนชั้นจึงขอน้อมถวายอาลัยถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

โดยคณะอนุกรรมการจัดนิทรรศการสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้จัด “นิทรรศการสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อเปิดให้ประชาชนได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณผ่าน 12 โซนนิทรรศการ อันประกอบด้วย ตามรอยพระบาทแก้วกัลยา, สมพระเกียรติยศ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ, กัลยาณิวัฒนาแห่งราชสกุลมหิดล, พระอุปถัมภ์ ค้ำจุนประชา, องค์อุทิศ เพื่อปวงชน, พระโกศจันทน์, ราชรถน้อย, ริ้วกระบวนพระอิสริยยศ, พระเมรุ, มูลนิธิในพระอุปถัมภ์, จำหน่ายของที่ระลึก และส่วนแสดงที่ได้จัดกิจกรรมพิเศษขึ้น คือ สมเด็จเจ้าฟ้าในใจประชา

“สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นพิเศษในนิทรรศการนี้ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าในใจประชา ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยได้ก่อให้เกิดภาพแห่งความประทับตรึงตราใจความทรงจำในพระจริยวัตรและพระกรณียกิจที่พระองค์ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรของพระองค์ทั่วประเทศไทย โดยจะตามหาบุคคลทั้ง 6 ในภาพ ที่เคยเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อเชิญบุคคลเหล่านี้มาถ่ายทอดถึงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่ประทับใจในการได้ใกล้ชิด ได้รับใช้ ได้สัมผัสกับพระจริยวัตรและน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์มอบให้ และนำความทรงจำนี้ถ่ายทอดสู่สาธารณชนและคนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณสืบต่อไปและเปิดรับภาพจากประชาชนทั่วประเทศที่อยู่ในความทรงจำ พร้อมเขียนถ้อยคำระลึกถึงพระองค์ท่าน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อแสดงร่วมกันบนกำแพงแก้วกัลยา”นายรัตนาวุธ กล่าว

สำหรับหลักเกณฑ์ในการตามหาบุคคลในภาพคือ 1.ส่งหลักฐานทางเอกสาร (สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, ภาพถ่าย) ที่ระบุถึงภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้นๆ มาที่ ตู้ปณ. 2466 ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 2.ให้มีหลักฐานที่เป็นพยานบุคคลแวดล้อมอย่างน้อย 3 คน โดยต้องมีอย่างน้อย หนึ่งคนที่มีฐานะทางสังคมหรือหน้าที่การงานที่เป็นที่ยอมรับ 3. ขอให้ประสานงานกรมการปกครองในการตรวจสอบหลักฐานและทางสันติบาลทำการสืบค้นอย่างไม่เปิดเผยเพื่อเป็นการยืนยันหลักฐานทางเอกสารและพยานบุคคลที่แจ้งมาว่าเป็นความจริง และ4. เชิญบุคคลที่อยู่ในภาพร่วมสัมภาษณ์และร่วมแถลงข่าวอีกครั้ง และร่วมในวันพิธีเปิด ณ จุดที่ภาพนั้นๆ จัดแสดง

ทั้งนี้ นิทรรศการ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เปิดให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าชม ระหว่างวันที่ 18-30 พฤศจิกายน 2551ในเวลา 10.00-21.00 น. ณ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวง

พระเทพฯ เสด็จทรงแกะสลักเครื่องสด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมด้วย ร.อ.จิทัศ ศรสงคราม นัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เดินทางมาชมและเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่ทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ที่สโมสรข้าราชบริพาร โดยมีนายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม เจ้าหน้าที่บริหารงานในพระองค์ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง พาชมการสลักหยวกและการทำเครื่องสด
       
ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ปลื้มใจที่เห็นนักเรียนวิทยาลัยในวังชายและหญิง ทั้งเก่าและใหม่มาร่วมทำงาน และสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ ยังเยี่ยมชมการสลักหยวก ฝีมือของปู่ประสม สุสุทธิ ช่างแทงหยวกโบราณด้วย

ซ้อมใหญ่มหรสมพสมโภชพระเมรุ

เมื่อเวลา 16.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้มีการจัดการซ้อมใหญ่การแสดงมหรสพสมโภชพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยมีการจัดการแสดงประชันกันถึง 3 เวที โดยเวทีแรก เป็นเวทีของการแสดงหนังใหญ่และการแสดงโขน ด้านเวทีที่สองเป็นการแสดงการบรรเลงเพลงสากล และเวทีที่3 เป็นเวทีของหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็กจากนาฎยศาลา(โจหลุยส์) และละครนอก ซึ่งตั้งแต่เวลา 15.00 น. ก่อนเวลากำหนดเริ่มซ้อม ก็ได้มีประชาชนผู้สนใจเดินทางมารอชมการแสดงทั้ง 3 เวที เป็นจำนวนมาก โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยิ่งเวลาค่ำลงก็ยิ่งมีประชาชนทยอยเดินทางมาจับจองพื้นที่ดูมหรสพกับอย่างคับคั่ง

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังเดินเยี่ยมชมว่า ทุกเวทีมีความพร้อมและเต็มที่กับการแสดงจริงในวันที่ 15 พ.ย.ที่จะถึง จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชน และชาวต่างชาติ เดินทางมาร่วมงาน เพราะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ และหาชมได้ยาก โดยเฉพาะการแสดงมโหรสพสมโภชโบราณที่สืบทอดมายาวนาน

ด้าน นายการุณ สุทธิกูล ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กล่าวว่า ทุกอย่างพร้อมแสดงในวันจริงหมดแล้ว เหลือเพียงบางส่วนที่ยังต้องปรับปรุง หลังจากได้เห็นภาพการซ้อมใหญ่ เช่น เรื่องขนาดเวที และเรื่องแสง สี เสียงที่ใช้ประกอบการแสดง เพื่อที่วันจริง เสียงจะได้ไม่ตีกัน และมีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยทุกเวทีจะเริ่มการแสดงพร้อมกันในเวลา 1 ทุ่มตรง และจะหยุดพร้อมกันเวลา 3 ทุ่มครึ่ง

จากนั้นจะเริ่มแสดงอีกทีในช่วงเวลา 5 ทุ่มเป็นต้นไป แต่จะเลิกการแสดงไม่พร้อมกัน คือ เวทีการแสดงหนังใหญ่ และโขน เรื่องรามเกียรติ์ จะเล่นการแสดงถึง 6 โมงเช้า เวทีการบรรเลงดนตรีสากล จะเล่นการแสดงถึง ตี 4 ครึ่ง ส่วนเวที การแสดงหุ่นกระบอก การแสดงนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก คณะโจหลุยส์ และการแสดงละครนอกจะเล่นการแสดงถึง ตี 3 ตรง

นายศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติปีพ.ศ.2548 สาขานาฏศิลป์ คณบดีคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในฐานะแม่งานใหญ่ดูแลเวทีที่ 3 อันเป็นเวทีจัดการแสดงหุ่นกระบอก หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ และการแสดงละครนอก กล่าวว่า ละครนอกซึ่งเป็นการแสดงชุดเดียวของเวทีที่ใช้ผู้แสดงเป็นคนจริงๆ โดยในการณ์ได้เลือกเรื่อง “สุวรรณหงส์” ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมนำมาเล่นเป็นละครนอกมากที่สุดมาเล่น

“เฉพาะละครนอกก็ใช้กว่า 100 ชีวิตแล้วครับ คราวนี้ผมขึ้นเวทีกับอ.ปกรณ์(พรพิสุทธิ์) บนเวทีโขน รับหน้าที่เชิดหนังใหญ่เป็นตัวพระนารายณ์ ส่วนอ.ปกรณ์ท่านเชิดพระอิศวร จนถึงวันนี้การซ้อมของทุกฝ่ายพร้อมแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ การซ้อมร่วมกันก็ไม่มีปัญหาอะไร”นายศุภชัยกล่าว

ถวายความอาลัยวันสุดท้ายล้นหลาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าวานนี้ (13 พ.ย.) จะเป็นวันสุดท้ายที่สำนักพระราชวังเปิดให้พสกนิกรเข้ากราบถวายสักการะพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ก็ยังมีประชาชนเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอดผู้เข้ากราบถวายสักการะพระศพฯ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-13 พ.ย. มีจำนวนทั้งสิ้น 1,465,911 คน ส่วนยอดเงินถวายเป็นพระกุศลมีทั้งสิ้น 162 ,033 ,927.42 บาท

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ากราบถวายสักการะพระศพฯ จะเดินทางต่อไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวงเพื่อร่วมชมความงามของพระเมรุ และบริเวณรอบที่ประดับด้วยดอกไม้นานาพันธุ์อย่างงดงาม มีหลายคนบันทึกภาพเก็บเป็นความทรงจำที่ได้เดินทางมายังสถานที่ส่งพระองค์สู่สวรรคาลัย อีกทั้งได้ซื้อภาพพระเมรุ เข็มกลัดเหรียญที่ระลึก และพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย

หลายหน่วยงานตั้งโรงทานบริการ 

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้พิจารณาจัดตั้งโรงทาน สำหรับบริการอาหารแก่ประชาชนที่เดินทางมาร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ระหว่างวันที่ 14 - 16 พ.ย.จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย บริเวณท้องสนามหลวง

ด้านทิศเหนือฝั่ง ม.ธรรมศาสตร์ 4 เต็นท์ ดังนี้ โรงทานคณะสงฆ์และชาวรามัญ โรงทานพอ.สว. จังหวัดอุดรธานี บริเวณท้องสนามหลวง ด้านทิศเหนือฝั่งศาลฎีกา 4 เต็นท์  ดังนี้ โรงทานวัดป่าถ้ำใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับโรงทานวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี  และโรงทานร่วมกตัญญู บริเวณโรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงทานวัดป่าน้ำตกเขมโก (หลวงปู่สังวาล เขมโก) จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับโรงทานวัดหนองบัว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2551 บริเวณโรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงทานมูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ร่วมกับโรงทานวัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม(หลวงปู่เจ๊ยะ จุนโท )

นอกจากนี้ กทม.ได้จัดรถสุขาสาธารณะเคลื่อนที่ บริการแก่ประชาชนที่เดินทางมาร่วมพระราชพิธีฯ โดยจัดไว้จำนวน 30 คัน  กำหนดจุดจอด 12 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จำนวน 1 คัน จุดที่ 2 บริเวณถนนมหรรณพ 1 คัน จุดที่ 3 บริเวณท่ารถตู้ไปจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 4 คัน จุดที่ 4 บริเวณถนนข้าวสาร จำนวน 1 คัน จุดที่ 5 บริเวณลานจอดรถสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 1 คัน จุดที่ 6 บริเวณตรอกสาเก ด้านข้างโรงแรมรัตนโกสินทร์ จำนวน 2 คัน
 
จุดที่ 7 ริมคลองผดุงกรุงเกษม ด้านหลังสำนักงานอัยการสูงสุด จำนวน 2 คัน จุดที่ 8 ริมคลองผดุงกรุงเกษม ด้านหลังศาลฎีกา จำนวน 6 คัน จุดที่ 9 ริมคลองผดุงกรุงเกษม ด้านหลังศาลยุติธรรม จำนวน 3 คัน จุดที่ 10 บริเวณอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึก จำนวน 4 คัน จุดที่ 11 บริเวณด้านข้างโรงละครแห่งชาติ จำนวน 3 คัน และจุดที่ 12 บริเวณด้านกองการท่องเที่ยวของกทม. จำนวน 2 คัน
กำลังโหลดความคิดเห็น