xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ เผย “พระโกศทองลงยาสีประดับพลอยทรงพระอัฐิ” พระพี่นางฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมศิลปากรเผยโฉมองค์พระโกศทองคำลงยาสีประดับพลอยทรงพระอัฐิ “พระพี่นาง” น้ำหนักทอง 2 พันกรัม พร้อมฉัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เส้า ถ้ำศิลาบรรจุพระอัฐิทำจากหินอ่อนสีขาว ระบุดอกไม้จันทน์เพื่อถวาย “ในหลวง-พระราชินี” และพระบรมวงศ์ เพื่อใช้ถวายพระเพลิงพระศพ และฟืนประดับพระจิตกาธานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันก็เปิดตัว "วงบัวลอย" ที่จะใช้บรรเลงขณะถวายพระเพลิงพระศพ ด้าน "นอ.อาวุธ"ระบุงานจัดสร้างพระเมรุและอาคารประกอบทั้งหมดเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว

วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 กรมศิลปากร ได้มีการแถลงข่าวรายละเอียดการจัดสร้างพระโกศทองคำลงยาสีประดับพลอย ทรงพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยน.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น กล่าวว่า ถือเป็นภารกิจสุดท้ายที่กรมศิลปากรได้จัดทำถวาย โดยก่อนหน้านี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมศิลปากรจัดทำพระโกศทรงพระอัฐิ แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งทางกรมศิลปากร ก็ได้มอบหมายให้นายนิยม กลิ่นบุปผา ผู้เชี่ยวชาญศิลปกรรม 9 กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ

ทั้งนี้ เมื่อออกแบบเสร็จสิ้นก็ได้นำแบบทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย จากนั้นเมื่อมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างได้ ก็ได้จัดสร้างขึ้น โดยเริ่มเมื่อประมาณ 4 เดือนที่แล้ว

“พระโกศทรงพระอัฐิที่ได้ทำขึ้นนี้ องค์พระโกศพร้อมฝา เป็นทองคำลงยาสีแดง อันเป็นสีวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ใช้ทองคำทั้งหมด 2,000 กรัม แต่องค์พระโกศมีน้ำหนักทั้งสิ้น 2,419.05 กรัม โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมามาจากส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ส่วนของเรือนเงินประดับพลอย ดอกไม้ไหวชั้นบน 8 ดอก ดอกไม้ไหวชั้นกลาง 8ดอก ดอกไม้ไหวชั้นล่าง 8 ดอก ดอกไม้เอว 16 ดอก เฟื่องพู่ระย้าปากพระโกศ 8 ชุด งานส่วนเดียวที่กรมศิลปากรต้องจัดจ้างช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะให้ร่วมทำคืองานฝังพลอยประดับองค์พระโกศ

นอกจากองค์พระโกศแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ คือสุวรรณฉัตร 7 ชั้น ตามพระอิสริยยศ มีพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งตามโบราณราชประเพณีนั้น ขณะที่องค์พระโกศพระอัฐิ ประดิษฐานอยู่ในพระวิมาน จะใช้ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่หากมีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เช่นวันสงกรานต์ ซึ่งจะมีการนำพระโกศทรงพระอัฐิออกมา จะประดับยอดพระโกศทรงพระอัฐิด้วยยอดฉัตร

ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ นั้น จะมี “เส้า” เป็นลักษณะแท่นสูง สำหรับไว้รองรับฝาพระโกศเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดออกเพื่อบรรจุพระอัฐิ และ “ถ้ำศิลา” ที่ทำจากหินอ่อนที่ขาวนวล ที่จะทรงพระอัฐิภายในพระโกศทรงพระอัฐิทองคำ

นอกจากนี้ยังมี ดอกไม้จันทน์ ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อใช้ถวายพระเพลิงพระศพฯ โดยเป็นดอกไม้จันทน์สำหรับสองพระองค์เป็นแบบเฉพาะ ลายกนกและมีขนาดใหญ่ ส่วนของพระบรมวงศ์อื่นๆ เป็นขนาดที่ย่อมกว่าและใช้ลายใบเทศ โดยดอกไม้จันทน์บางส่วน เป็นดอกไม้จันทน์ที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นไม้จันทน์ที่ดีมาก หอมมากโดยเฉพาะเวลาเผา

สุดท้ายคือฟืนไม้จันทน์ประดับพระจิตกาธานจำนวน 16 ท่อน เป็นไม้จันทน์จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมากลึงและปิดทองประดับลายบริเวณส่วนปลาย

ด้านนายนิยม กลิ่นบุปผา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม นายช่างศิลปกรรม 9 ชช. สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อธิบายแนวคิดการออกแบบองค์พระโกศทองคำ ทรงอัฐิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า การออกแบบยังคงแนวคิดดั้งเดิมตามพระราชพิธีพระศพแบบโบราณราชประเพณี เป็นแนวเครื่องทองใหญ่ โดยองค์พระโกศทองคำ ประกอบด้วยฐานสิงห์ มีฐานชั้นบัวเป็นฐานรองรับ ชั้นบนมีฝาครอบ ทั้งหมดจะลงยาสีแดง และเขียว แต่จะเน้นสีแดง เพราะเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ

รอบตัวพระโกศชั้นบน ประดับด้วยดอกไม้ไหว 8 ดอก ชั้นกลาง 8 ดอก ชั้นล่าง 8 ดอก และดอกไม้เอวอีก 16 ดอก มีทั้งหมด 8 ชุด รวมถึงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เฟื่องพู่ระย้าปากพระเกศ เครื่องประดับรอบพระโกศทั้งหมดจะทำด้วยเงินประดับพลอย สีขาว ส่วนฉัตรเป็นสุวรรณฉัตร 7 ชั้น ลงทองคำประดับพลอย และเส้ารับฝาพระโกศ เป็นไม้กลึงแกะสลักปิดทอง

ส่วนถ้ำศิลาที่จะทรงพระอัฐิภายในพระโกศทองคำด้วยว่า ตัวถ้ำทำด้วยหินอ่อนสีขาวนวล และทีเลือกเอาหินอ่อน เพราะเป็นวัตถุตามธรรมชาติ มีความเย็น

ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำพระโกศทองคำประกอบไปด้วยนายสมชาย ตติยวัฒนสิริ นายสายันต์ ยอดนวล นายสายัณห์ มณีสุวรรณ นายธีระชัย จันทรังสี นางอัจฉริยา บุญสุข นางวรรีย์ ดวงแก้ว นายอภิสิทธิ์ จุลพรรณ์ นายธนิตย์ แก้วนิยมและนายยงยุทธ วรรณโกวิท

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังการแถลงข่าวเผยพระโกศทองคำทรงพระอัฐิ ได้มีการสาธิตการบรรเลงเพลงของ “วงบัวลอย” ซึ่งถูกเรียกตามเพลงที่ใช้เล่นประโคมช่วงพระราชทานเพลิงคือ “เพลงบัวลอย” นั่นเอง โดย อ.ปี๊บ พวงลายทอง หนึ่งในนักดนตรีประจำวงบัวลอยอธิบายว่า ในวงบัวลอยจะมีเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือ ปี่ชวา กลองแขกตัวผู้ (ให้เสียงสูง) กลองแขกตัวเมีย (ให้เสียงต่ำ) เหม่ง

“วงบัวลอยนี้จะใช้เฉพาะงานศพหรืองานพระศพ และใช้กับผู้ทรงคุณแห่งแผ่นดินเท่านั้น” อ.ปี๊บกล่าวและว่าวงบัวลอยจะบรรเลงในวันที่ 15 พ.ย. เวลา16.30-22.00 น.




















กำลังโหลดความคิดเห็น