xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จัดใหญ่ฉลองเสาชิงช้าครบรอบ 2 ปี บูรณปฏิสังขรณ์ คนยังจองกล้าสักอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.จัดยิ่งใหญ่ฉลองเสาชิงช้าครบรอบ 2 ปี แห่งการบูรณปฏิสังขรณ์ 25-26 ก.ย.นี้ เชิญชวนประชาชนร่วมงาน พร้อมชมมหรสพมากมาย ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.ขณะที่ยอดจองกล้าไม้สักมงคลกว่า 50,000 ต้นแล้ว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ย.2552 ขอเชิญชวนประชาชนและชาวกรุงเทพฯ ร่วมในพิธีบวงสรวงและพิธี รับพระราชทานกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 2 แห่งการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) โดยในช่วงเวลา 18.00-24.00 น.ซึ่งจะมีการแสดง การละเล่น และการแสดงศิลปะพื้นบ้านเพื่อเฉลิมฉลองในพิธีอันเป็นมงคลนี้ โดยเวลา 19.00 น.เป็นต้นไป ร่วมฟังการเสวนา เรื่องเล่าเสาชิงช้า โดย ส.พลายน้อย ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา นายพิชัย ไชยพจน์พานิช นายสุรพล วัฒนวิจารณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม และปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับประวัติศาสตร์และเกร็ดความรู้ รวมถึงศิลปะ ตำนาน การแสดง มหรสพโบราณ และความรู้เกี่ยวกับไม้สักทองมงคลที่กลายมาเป็นเสาชิงช้าในปัจจุบัน
 
จากนั้นจะเป็นการขับขานบทกวี ยอยศเสาชิงช้า โดย ชินกร ไกรลาศ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งจะโชว์ลีลา และน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งเนื้อร้องที่แต่งเป็นพิเศษให้เห็นถึงคุณค่าของเสาชิงช้า เพื่อฉลองเสาชิงช้าในปีนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงเพลงพื้นบ้าน ลำตัด เพลงเรือ จากศิลปินพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้าน และร่วมย้อนรำลึกถึงการพากย์หนังโบราณ โดย รอง เค้ามูลคดี และทีมงาน ซึ่งจะมาร่วมกันสาธิตและถ่ายทอดการพากย์หนังไทยในอดีตให้ผู้ร่วมงานได้ชมถึงความสนุกสนาน และความสามารถเฉพาะตัวของผู้พากย์แต่ละคน นอกจากนี้ ยังมี การแสดงละครใน ตอน อิเหนาบวงสรวง ซึ่งเป็นการแสดงศิลปะของการรำอันอ่อนช้อยสวยงาม อีกทั้งความสุภาพของบทร้องและการเจรจา ซึ่งในต้นกรุงรัตนโกสินทร์จะใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงเท่านั้น และการแสดงดนตรีไทย โดย ขุนอิน โตสง่า และวงออฟบีท กับลีลาการตีระนาดที่ไม่เหมือนใคร รวมทั้งยังมีบทเพลงพิเศษมาแสดงในโอกาสนี้ด้วย

ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ชมสุดยิ่งใหญ่กับการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา ซึ่งจะเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในชุดเรื่องเล่าเสาชิงช้า ตอน “จากไม้สู่เมือง เรืองรองวัฒนธรรม สืบสานตำนาน เรื่องเล่าของเสาชิงช้า” พบกับขบวนแห่ยิ่งใหญ่ตระการตา และการแสดงละครชาตรี จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ เรื่อง “ระเด่นลันได” โขนนั่งราว หนึ่งในโขนโบราณที่หาชมได้ยากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นที่นิยมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะใช้ราวไม้กระบอกที่อยู่หน้าฉากเป็นที่สำหรับนั่ง ผู้แสดงจะเอาเท้าพับนั่งบนราว อีกเท้าหนึ่งห้อยลงเหยียบพื้นโรง ในอดีตจะเล่นกันมากในงานของชาวบ้าน เนื่องจากเล่นกันง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน

การแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุดพิเศษ โดยครูมืด (ประสาท ทองอร่าม) ร่วมด้วยศิลปินจากกรมศิลปากรกว่า 100 ชีวิต ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการแสดงโขนที่มีวิวัฒนาการเหมาะกับสมัยของผู้ชม ทั้งบทสำหรับแสดงโขนเพื่อให้เรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เสียความเป็นศิลปะชั้นสูง อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับตัวละคร และแทรกความบันเทิงควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้คนไทยหันมาอนุรักษ์และสนับสนุนการแสดงโขนให้มากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลา 2 วันของพิธีบวงสรวงเสาชิงช้า ยังมีการแสดงอื่นๆ เช่น การแสดงละครนอก การแสดงหุ่นกระบอก การขับเสภา ลิเกเด็ก การแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทย มวยคาดเชือก การแสดงกลองยาวโบราณ การแสดงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว และการแสดงนารายณ์ทรงสุบรรณ โดยศิลปินชั้นครูจากกรมศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป์ และคณะแสดงอีกจำนวนมาก สลับบรรยากาศด้วยการแสดงดนตรีลูกกรุง จากศิลปินชั้นครู อาทิ ชรินทร์ นันทนาคร โฉมฉาย ฉัตรวิไล เป็นต้น และการแสดงดนตรีสุนทราภรณ์วงใหญ่ การละเล่นของเด็กไทย อาทิ โพงพาง เดินกะลา รีๆ ข้าวสาร มอญซ่อนผ้า และการเล่นสะบ้า ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ภายในศูนย์เยาวชนต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร อีกด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กทม.ยังได้จัดนิทรรศการภาพแห่งประวัติศาสตร์ของการเสด็จพระราชดำเนินในการฉลองเสาชิงช้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์กล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่สกัดดีเอ็นเอจากเปลือกไม้สักทองที่นำมาทำเสาชิงช้า เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันอนุรักษ์ไม้สักทอง และขยายพันธุ์ให้ได้ 1 ล้านต้น แจกจ่ายให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์สักมงคล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2554

สำหรับผู้จองกล้าสักมงคล สามารถเลือกระบุสถานที่รับกล้าไม้ที่สะดวกที่สุด โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเลือกรับได้ที่สวนสาธารณะ 7 แห่ง ได้แก่ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนหลวง ร.9 อุทยานเบญจสิริ สวนธนบุรีรมย์ และฝ่ายขยายพันธุ์ไม้ (อ่อนนุช) นอกจากนี้ ยังสามารถรับได้ที่อาคารไบโอเทค (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ส่วนต่างจังหวัดสามารถรับได้ที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ หรือสถานีเพาะชำกล้าไม้ของกรมป่าไม้ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยพิมพ์ใบจอง พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงเพื่อนำไปรับกล้าสักมงคลตามสถานที่ที่ระบุไว้

ขณะนี้ยอดจองกล้าสักมงคลในพื้นกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 11,717 ต้น และยอดจองกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 57,865 ต้น ซึ่งเกินจำนวนกล้าสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้าที่เพาะพันธุ์ได้ในปี 2552 ซึ่งมีจำนวนเพียง 20,000 ต้นเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ที่มีลำดับจอง 1-20,000 สามารถขอรับกล้าไม้ได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2552 เป็นต้นไป ลำดับถัดจากนั้นจะขอรับได้ในปี 2553 โดยปี 2553 ไบโอเทคจะสามารถแจกจ่ายจำนวนกล้าสักมงคลที่เพาะพันธุ์ได้อีก 280,000 ต้น และปี 2554 จำนวน 700,000 ต้น ทั้งนี้ ขอให้ผู้จองต้นสักมงคลตรวจสอบกำหนดวันรับต้นสักทองทางเว็บไซต์ โดยพิมพ์หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของผู้สั่งจอง ซึ่งระบบจะแจ้งกำหนดวันรับให้ทราบ อย่างไรก็ตาม ประชาชนและหน่วยงานยังสามารถจองกล้าสักมงคลได้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 1 ล้านต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในปี 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น