xs
xsm
sm
md
lg

ส้วมไทยผ่านเกณฑ์ต่ำ สธ.ระดมเครือข่ายเร่งพัฒนาคลุมส้วมรถไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยปี 2551 ส้วมสาธารณะไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงร้อยละ 31 มากที่สุด คือ ส้วมในห้างสรรพสินค้า รองลงมาคือ ส้วมโรงพยาบาล ขณะที่ส้วมในศาสนาสถานผ่านเกณฑ์ต่ำสุด เร่งระดมภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาส้วมสาธารณะไทยในปี 2552 ครอบคลุมส้วมรถไฟ ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานให้ได้ร้อยละ 60 ของแต่ละประเภท เสนอให้ 1-7 เมษายนของทุกปีเป็นสัปดาห์รณรงค์เรื่องส้วม

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบโล่แก่ผู้ให้การสนับสนุนพัฒนาส้วมสาธารณะไทย 9 หน่วยงาน และมอบโล่แก่แหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านมาตรฐานการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ 8 แห่ง และประชุมคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน ผู้บริหาร นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด 120 คน เพื่อระดมความเห็นการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาส้วมสาธารณะของประเทศไทยใน พ.ศ.2552-2554

นายวิชาญ กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาส้วมสาธารณะ ทั้งในสถานที่ราชการ วัด สถานีขนส่ง ปั๊มน้ำมัน ตลาดสด แหล่งท่องเที่ยว โรงเรียน ร้านอาหารทั่วประเทศ ให้ได้มาตรฐาน 3 ด้าน คือสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย (HAS) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2548 ให้ได้ร้อยละ 60 ของส้วมสาธารณะทั้งหมด ภายใน พ.ศ.2550 จากการสำรวจความสำเร็จโครงการ ล่าสุดในเดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 15,818 แห่ง จากส้วมสาธารณะที่สำรวจทั้งหมด 51,025 แห่ง หรือผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 31 ยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก

นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า ส้วมที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด ได้แก่ ส้วมในห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 79 รองลงมา คือ ส้วมโรงพยาบาล ร้อยละ 66 ส้วมแหล่งท่องเที่ยว ร้อยละ 51 สถานีขนส่งร้อยละ 44 สวนสาธารณะและตลาดสด ร้อยละ 40 สถานที่ราชการร้อยละ 39 ปั๊มน้ำมันร้อยละ 32 ส่วนร้านอาหารผ่านเกณฑ์ร้อยละ 26 โดยส้วมที่ยังผ่านเกณฑ์น้อยมากคือ ส้วมในศาสนสถาน ผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น สำหรับในปี 2552 นี้ จะขยายให้ครอบคลุมถึงส้วมรถไฟ พร้อมประสานให้สถานที่ต่างๆ สร้างส้วมสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุให้เพียงพอด้วย ซึ่งขณะนี้มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

ด้าน แพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมอนามัยได้เร่งสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาส้วมสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 27 ภาคี และในปี 2551 จะร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับปรุงส้วมทั้งที่สถานีรถไฟ และส้วมบนตู้รถไฟด้วย และตั้งเป้าหมายพัฒนาส้วมทั้งหมด 12 ประเภท ได้แก่ 1.ศาสนสถาน 2.สวนสาธารณะ 3.ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส 4.ตลาดสด 5.สถานีรถโดยสาร ท่าเรือและสนามบิน 6.สถานที่ราชการ 7.โรงพยาบาล 8.โรงเรียน สถานศึกษา 9.แหล่งท่องเที่ยว 10.ร้านอาหาร 11.ส้วมริมทาง และ 12.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ให้ได้มาตรฐานสะอาด เพียงพอและปลอดภัย ไม่มีกลิ่นเหม็น ให้ได้ร้อยละ 60 ของแต่ละสถานที่

นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐาน ก็คือเจ้าของส้วม ผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบ ผู้ดูแลความสะอาดส้วม และที่สำคัญผู้ใช้ส้วม มีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธีคือนั่งบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงในโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม ที่ผ่านมาพบคนไทยใช้ถูกต้องเพียงร้อยละ 47 ในปี 2552 นี้จะรณรงค์ให้คนไทยใช้ส้วมถูกต้องให้ได้ร้อยละ 90 และจะให้วันที่ 1-7 เมษายนของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์เรื่องส้วม ทั้งนี้มาตรฐานส้วมจะต้องไม่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค จากผลสำรวจพบว่าบริเวณที่มีอุจจาระปนเปื้อนมากที่สุดคือ พื้นห้องส้วม ร้อยละ 50 รองลงมา ที่รองนั่งโถส้วม ร้อยละ 31 ที่กดน้ำราด ร้อยละ 8
กำลังโหลดความคิดเห็น