หลังการกลับเข้ามารุกตลาดเมืองไทยอย่างจริงจังอีกครั้งของค่ายเกาหลี “ฮุนได” ภายใต้การทำตลาดของกลุ่ม โซจิซึ จากญี่ปุ่น ด้วยการหมายมั่นปั้นมือเลือกใช้รถฮุนไดรุ่นดีที่สุดของตัวเอง “โซนาต้า” เป็นโมเดลแรกสำหรับการขอกลับมาแจ้งเกิด
ผ่านไป 1 ปี ยอดขายของโซนาต้าเป็นอย่างไร สังเกตุได้จากจำนวนรถที่เราพบเห็นในท้องถนน(ถ้าคุณเจอนะ) และ ฮุนได คงไม่อยากเอ่ยถึงนัก แต่สำหรับยอดขายโดยรวมแล้วถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้า ด้วยยอดที่คาดว่า น่าจะถึง 1 พันคันในปีแรก จากยอดขายเป็นกอบเป็นกำของรถตู้ “ H1”
การที่โซนาต้ามียอดขายไม่เป็นที่พอใจ ฮุนได จึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก ล่าสุดนำโซนาต้ารุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรไปติดแก๊สและทำตลาดในชื่อ “โซนาต้า ซีเอ็นจี” นับเป็นรถซีดานขนาดกลางรุ่นแรกที่ได้รับการติดตั้งแก๊ส เอ็นจีวี แม้จะเป็นการติดตั้งภายหลังไม่ใช่การประกอบในไลน์ผลิต แต่ก็ได้รับการรับประกันอย่างเป็นทางการจากผู้ผลิตเช่นรถรุ่นอื่นของฮุนได
นอกจากนี้ โซนาต้า ซีเอ็นจี ยังคงราคาขายเดิมเท่ากับรุ่น 2.0 ที่ไม่ได้รับการติดตั้งแก๊ส คือ 1.075 ล้านบาทในเกรด EL และ 1.095 ล้านบาทในเกรด SP เนื่องจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการสนับสนุนของภาครัฐเป็นส่วนลดเงินสดจำนวน 50,000 บาทต่อคัน โดยไม่รอช้า ฮุนได จัดทริปทดสอบสมรรถนะของเจ้า โซนาต้า ซีเอ็นจี อย่างทันท่วงที ซึ่ง “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” เข้าร่วมเหมือนอย่างเคย
สำหรับตัวรถโซนาต้า 2.0 ซีเอ็นจี ใช้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร แบบ 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว CVVTi ให้กำลังสูงสุด 144 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 185 นิวตันเมตรที่ 4,500 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด อุปกรณ์แก๊สเป็นระบบหัวฉีด(MPI) ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ความจุถังแก๊ส 100 ลิตรน้ำ หรือเติมแก๊สNGVได้ประมาณ 15 กิโลกรัม
ฮุนได เลือกใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา ในการทดสอบครั้งนี้ ขาไปใช้ ถนนบูรพาวิถี ส่วนขากลับเลือก ถนนมอเตอร์เวย์ โดยขาไปทีมงานฮุนไดเติมแก๊สมาให้เต็มถังเราจึงเดินทางด้วยแก๊ส ขากลับใช้น้ำมันเพราะหาปั๊มเติมแก๊สไม่ได้ และถึงมีก็ต้องใช้เวลารอนานมาก (ทีมงานฮุนได เขาลองมาแล้ว จึงบอกให้เลี่ยงการเติมแก๊ส เพื่อรักษาเวลาของการเดินทาง)
เราขอเริ่มต้นด้วยการขับจากในเมือง เรานั่งกันไป 3 คนช่วงแรกเราเป็นผู้ขับยังคงวิ่งด้วยน้ำมันเพราะต้องรอให้อุณหภูมิของเครื่องยนต์ร้อนตามเกณฑ์ที่ระบบแก๊สต้องการ ระบบจึงจะตัดมาวิ่งด้วยแก๊สแบบอัตโนมัติ โดยเราจะไม่รู้เวลาที่ระบบเปลี่ยน แต่พอจะสัมผัสได้จากความรู้สึกเวลาเหยียบคันเร่ง การตอบสนองจะแตกต่างไป โดยเฉพาะในช่วงการเร่งคิกดาวน์ จะอืดกว่าเล็กน้อย
ทั้งนี้เราไม่มีตัวเลขมายืนยันแต่อย่างใด มีเพียงความรู้สึกของเราเท่านั้น ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกขณะที่อีกคนไม่รู้สึกก็เป็นได้ ส่วนการขับด้วยความเร็วคงที่ไม่ว่าจะเป็นย่านความเร็วใด ความรู้สึกไม่แตกต่างจากการวิ่งด้วยน้ำมัน สำหรับการวิ่งด้วยแก๊สบนเส้นบูรพาวิถีเราทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ชม. เข็มไมล์ก็เริ่มขึ้นช้า แต่ยังน่าจะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่านี้อีกนิดหน่อย
เราชื่นชอบเป็นพิเศษในเรื่องของการเก็บเสียงรบกวนของเจ้าโซนาต้า แม้วิ่งด้วยความเร็วถึง 140 กม./ชม. เสียงดังจากภายนอกได้ยินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้านของสมรรถนะการขับขี่โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากนำไปเทียบกับคู่แข่งอย่างโตโยต้า คัมรี่ หรือฮอนด้า แอคคอร์ด แล้วในความเห็นส่วนตัวของเรารู้สึกว่า โซโนต้า ยังนิ่งและสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ขับไม่เท่ากับคู่แข่ง
ช่วงที่สองของการขับเราเปลี่ยนมาเป็นผู้โดยสาร เพื่อทดลองนั่งที่เบาะหลัง ความรู้สึกกระเทือนเวลารถวิ่งมีเพียงเล็กน้อย ยังคงหลับได้สบายๆ โดยช่วงล่างหลังได้รับการปรับแต่งใหม่ เพื่อรองรับถังแก๊สเอ็นจีวี ซึ่งมีน้ำหนักมาก และแม้จะปรับแต่งแล้ว แต่หากมองด้านข้างจะเห็นได้ชัดว่า ความสูงของล้อหลังยังเตี้ยกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับล้อรถด้านหน้า
สำหรับพื้นที่เก็บของในกระโปรงท้ายรถหลังการติดตั้งถังแก๊สลงไปแล้ว หายไปประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ปกติ แต่ยังคงมีเหลือพอสำหรับกระเป้าเป๋หรือกระเป๋าเดินทางขนาดย่อมได้
เราวิ่งขาไปจนกระทั่งแก๊สหมดถัง (ดูจากที่แสดงผลซึ่งติดตั้งอย่างลงตัวในแผงคอนโซล) ได้ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 170 กม. ทีมงานฮุนไดเติมแก๊สเต็มถังมาเป็นเงิน 130 บาท เมื่อหารกันแล้วและหักส่วนการวิ่งที่เป็นน้ำมันน่าจะมีเพียงไม่กี่กม. (เข็มน้ำมันตอนแรกที่วิ่งออกมายังอยู่ในระดับเกือบเท่าเดิม) ยังไงค่าเดินทางคิดเป็นเงินไม่ถึง 1 บาท ต่อ 1 กม. แน่นอน
ส่วนขากลับเราวิ่งด้วยน้ำมันเพียงอย่างเดียว โดยสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 190 กม./ชม. บนเส้นมอเตอร์เวย์ ทำให้รู้สึกว่า ความแตกต่างระหว่างการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันกับแก๊สมีผลต่อสมรรถนะพอสมควร แต่เกจ์วัดน้ำมันแสดงผลจากเกือบเต็มถังที่พัทยา มาถึงจุดส่งคืนรถในกรุงเทพฯ เกจ์น้ำมันหล่นมาอยู่ประมาณครึ่งถัง คาดว่าใช้น้ำมันไปราวๆ 20 ลิตร ถ้าให้คิดเป็นเงินน่าจะอยู่ประมาณ 600 บาท
สรุป เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับค่าความประหยัดระหว่างการใช้น้ำมันกับแก๊สเอ็นจีวี อย่างไรเอ็นจีวี ก็ประหยัดกว่ามากมาย ซึ่งผู้บริโภคคงต้องชั่งใจเอาระหว่าง ความประหยัดกับสมรรถนะที่ลดลงไปบ้าง และความเสี่ยงในด้านของการมีถังแก๊ส (ที่ใครบางคนเรียกว่า ระเบิด) พ่วงไปด้วยตลอดเวลา ท่านให้ความสำคัญกับสิ่งไหนมากกว่ากัน รวมถึงต้องใจเย็นรอการเกิดขึ้นของปั๊มแก๊สเอ็นจีวีจนเพียงพอต่อความต้องการของการใช้งาน
อย่างไรก็ตามแฟนประจำ ของ ผู้จัดการมอเตอริ่ง ก่อนตัดสินใจเลือกคบหากับเจ้าโซนาต้า โปรดอย่าลืมว่าภายในสิ้นปีนี้ เราจะได้พบกับ “โซนาต้า ไมเนอร์เชนจ์” อย่างแน่นอน ดังข่าวที่เราเคยเสนอไปแล้ว