อย.เรียกผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ เข้าชี้แจงมาตรการควบคุม พร้อมออกประกาศเพิ่มเติมครอบคลุมอาหารที่ไม่มีนมเป็นส่วนประกอบ เช่น แป้ง พาสต้า ครีมเทียม หลังต่างประเทศมีการสำรวจสารปนเปื้อน ทั้งประสานกรมปศุสัตว์ ก.เกษตรฯ ตรวจเข้มด่านเกรงการสำแดงเท็จเป็นอาหารสัตว์ หลังพบมีหมูตายยกเล้า และตรวจพบสารเมลามีนเป็นเหตุ
วันนี้ (22 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เชิญผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์วางอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปกว่า 80% มาทำการประชุมชี้แจงมาตรการการควบคุมมิให้มีอาหารปนเปื้อนสารเมลามีนจำหน่ายภายในประเทศ โดยมีนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พร้อมทั้งกล่าวว่า จากการทำการประชุมชี้แจงวันนี้ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจถึงมาตรการการตรวจสอบ ซึ่งต้องทำการเอาใจใส่อย่างเคร่งครัดเพราะหากมีการละเลย ทั้งผู้ประกอบการ และในส่วนของ อย.ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมทั้งคู่ สำหรับการนำเข้านั้นต้องมีการตรวจสอบอย่างชัดเจน ต่อจากนี้ไปเมื่อเราขอความร่วมมือในการตรวจสอบก็ต้องเอาใจใส่อย่างจริงจัง ซึ่งหากมีการตรวจพบก็จะมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมาย
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการควรลงขันกันตั้งเป็นกองทุน สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสในอาหารที่ปนเปื้อน ที่ทำให้ผู้ประกอบการผู้อื่นเสื่อมเสียรวมถึงอาจจะสร้างห้องปฏิบัติการส่วนกลาง เพื่อให้มีการตรวจที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งสามารถขอการสนับสนุนของภาครัฐให้เป็นผู้วางมาตรฐานได้
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในการประชุม คณะกรรมการอาหารในวันนี้ (22 ต.ค.) มีมติให้สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องมาตรฐานการปนเปื้อนสารเมลามีนในอาหารอื่นที่ไม่มีนมเป็นส่วนผสม โดยจะต้องไม่มีสารดังกล่าวปนเปื้อนเกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อาทิ แป้ง พาสต้า ครีมเทียม ฯลฯ เพราะที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้มีการสำรวจสารเมลามีนในอาหารชนิดอื่นๆ ที่โปรตีนสูงด้วย คาดว่า มีผลบังคับใช้ประมาณ 1 อาทิตย์
ทั้งนี้ ในประกาศฉบับเดิมนมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมที่นำเข้าจากประเทศจีนจะมีการอายัดและต้องแสดงหลักฐานใบตรวจวิเคราะห์ว่าไม่พบสารเมลามีน แต่ในส่วนของประกาศ อย.ฉบับใหม่นั้นกำหนดเพียงค่าสารปนเปื้อนที่ไม่ควรเกินค่ามาตราฐาน แต่ไม่ถึงกับต้องมีการอายัดหรือมีใบตรวจวิเคราะห์รับรองแต่อย่างใด
“ส่วนที่พบล่าสุดเป็นขนมปังสอดไส้ครีม ชีสแซนด์วิช จูลี่ส์ นำเข้าจากประเทศมาเลเซียนั้น ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการใดๆ กับสินค้าที่มาจากมาเลเซีย เพราะต้องรอดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ อย.นำตัวอย่างอาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมจากประเทศมาเลเซียอาทิ บิสกิต เวเฟอร์ ฯลฯ ไปตรวจวิเคราะห์อีกครั้ง ซึ่งภายใน 4-5 วัน จึงจะทราบผล หากพบสารเมลามีนก็คงต้องประมวลมาตรการที่ดำเนินการกับอาหารจากมาเลเซียอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้าน่าจะทราบผลวิเคราะห์และประมวลมาตรการอีกครั้ง”นพ.พิพัฒน์ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่มีการตื่นตัวเรื่องสารเมลามีน และได้ประสานงานกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำให้พบข้อมูลบางส่วนที่พบว่ามีความผิดปกติของการนำเข้าอาหารจากด่านบริเวณชายแดน โดยเฉพาะด่านบริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าแบบสำแดงเท็จว่าจะเป็นอาหารสัตว์ แต่แท้ที่จริงเป็นนมสำหรับคน ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวการตายของสุกรยกเล้า ซึ่งได้ไปตรวจสอบพบว่าสุกรท่อไตอักเสบ และพบว่าเมลามีนเป็นสาเหตุด้วย ซึ่งได้กำชับขอความร่วมมือกับด่านในการให้ความร่วมมือคุมเข้มในเรื่องเหล่านี้แล้ว
“อย.ไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการที่นำเข้านม หรืออาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมที่นำเข้าจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีนมาสุ่มตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน แต่ถ้าหากได้ดำเนินการก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกันทุกฝ่าย คือ อย.ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ที่ ไม่ใช่ของจีน แต่กลับตรวจพบ และต้องมาประกาศภายหลังให้สาธารณชนทราบ ซึ่งทำให้เสียชื่อเสียงต่อบริษัท อย.จะไม่ประกาศก็ไม่ได้ ซึ่งขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองในการตรวจหาสารเมลามีนอยู่ 6 แห่ง ได้แก่ 1.ห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และห้องแล็บเอกชนคือ 4.เอสจีเอส 5.โอมิก 6.ไอคิวเอ” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการหารือวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมมาหารือเพื่อความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนบริษัท ทั้ง 6 บริษัทที่ตรวจพบสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน มาหารือเป็นพิเศษว่าจะดำเนินการอย่างไรไม่ให้มีสารเมลามีนเลย เพราะแม้ว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็ไม่อยากให้มีสารเมลามีนรวมถึงบริษัท มาร์คกิ้นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำเข้าจูลี่ส์ ว่า ต่อไปจะมีมาตรการอย่างไรให้ อย.มั่นใจได้ว่าจะไม่มีสารเมลามีนในอาหารอีก
น.ส.จิตรา เศรษฐอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร 9 ชช.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้สหภาพยุโรปได้สั่งให้มีการตรวจอาหารที่มีโปรตีนสูงๆ แล้ว นอกจากนมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบเท่านั้น นอกจากนี้ อยากให้ผู้ผลิตนมที่รับน้ำนมดิบแทนที่จะตรวจค่าไนโตรเจนเพื่อแสดงถึงค่าโปรตีนในน้ำนมเท่านั้น ให้ตรวจกรดอะมิโนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเมลามีนเป็นโปรตีนสังเคราะห์ อาจทำให้ค่าไนโตรเจนสูงได้ แต่หากตรวจกรดอะมิโนจะทำให้ทราบว่ามีเมลามีนหรือไม่
“พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการควรจัดทำบันทึกสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการสั่งวัตถุดิบนำเข้าว่าซื้อจากใคร ที่ไหน รวมถึงการขายสินค้าให้ใครด้วย ทั้งนี้หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น อย.สามารถคุมสถานการณ์ปัญหาได้ทันที พร้อมกันนี้จากการประชุมคณะกรรมการอาหาร กระทรวงพาณิชย์จะรับไปพิจารณาว่า หากผลิตภัณฑ์นม หรืออาหารที่มีนมเป็นส่วนผสมนำเข้าอาจะต้องมีการนำแสดงหลักฐานแหล่งกำเนิดสินค้า” น.ส.จิตรา กล่าว
ด้านนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัด สธ.กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการเอาสินค้าออกจากชั้น และหยุดการผลิต หากพบว่าสินค้ามีการปนเปื้อนสารเมลามีน ดีกว่ายอมให้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบภายหลัง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า และเรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเรื่องของจิตวิทยา ที่จะทำอย่างไรจะขอความร่วมมือของผู้ประกอบการเพื่อดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา ประเทศไทยโชคดีมากที่เป็นปลายทาง ดังนั้น อยากเตือนว่าการจะทำธุรกิจกับจีน ควรทำการตรวจสอบเพราะมีของปลอมเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า นาฬิกา ซึ่งสิ่งของเหล่านั้นถึงผู้บริโภคจะนำมาใช้ก็ไม่เป็นไรเพราะเป้นของนอกกาย แต่หากเป็นอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่ควรทำร่วมกัน คือ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องดึงความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาโดยเร็วที่สุด