xs
xsm
sm
md
lg

มะลิ-เอสแอนด์พี วุ่นยอดวูบ สธ.พบแอบใช้นมผิดวัตถุประสงค์นำเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะลิกุมขมับ วิกฤตเมลามีนฉุดยอดวูบในรอบ 10 ปี เตรียมผุดแคมเปญเรียกความเชื่อมั่น ปรับตัวสู่เทรดดิ้งเฟิร์มลุยอินโดจีน ด้าน เอส แอนด์ พี ชี้ เมลามีนปนเปื้อนนมเป็นวิกฤตครั้งแรกรอบ 35 ปี กระทบอุตฯ เบเกอรี่ในช่วงไฮซีซัน ด้าน สธ.ประสาน ก.คลัง-ก.เกษตรฯ ให้ข้อมูลนมที่นำเข้าจากจีน ส่ง อย.ตรวจซ้ำ เผยมีนมที่นำเข้าเป็นอาหารสัตว์ลักลอบผลิตเป็นเบเกอรี่ ยันผลตรวจกรมวิทย์น่าเชื่อถือที่สุด

นายสุวิทย์ ผลวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนมข้นหวานตรามะลิ นมข้นจืดเบิดวิงซ์ ออร์คิด เปิดเผยว่า ถือเป็นวิกฤตครั้งแรกในรอบ 45 ปีของบริษัท กรณี อย.ได้สั่งเก็บนมข้นจืดตรามะลิ ที่ตรวจสอบพบเมลามีนเกินมาตรฐาน 37 เท่า หรือมีปริมาณเมลามีน 92.82 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากที่ อย.กำหนดในผลิตภัณฑ์นม มีเมลามีนได้ไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตในวันที่ 16/01/08 โดยสินค้าล็อตดังกล่าวจำนวน 4 หมื่นกระป๋อง โดยใช้วัตถุดิบที่นำเข้านิวซีแลนด์

ทั้งนี้ บริษัทได้เก็บผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 3 รายการ ได้แก่ 1.เนยออร์คิด 2. ครีมเทียมข้นหวานเบิดวิงซ์ 3.และนมข้นแปลงไขมันหวานตรามะลิ จำนวนทั้งสิ้น 4.3 แสนกระป๋อง คาดว่า จะรู้ผลการตรวจสอบจาก อย.เร็วๆ นี้ พร้อมกับวัตถุดิบและสินค้าอื่นๆ อีก 15 รายการ รวมทั้งสิ้น 18 รายการ คาดว่า จะรู้ผลสัปดาห์หน้าพร้อมแถลงข่าว อย.เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน

“ผมไม่เชื่อว่า ปริมาณการปนเปื้อนเมลามีนเกินมาตรฐาน 92.82 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน จะเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต หรือวัตถุดิบที่นำเข้า เพราะเป็นปริมาณสูง ซึ่งสูตรการผลิตนมข้นจืดใช้วัตถุดิบที่เป็นนมผงในปริมาณที่ไม่มากนัก จึงเป็นข้อสงสัย ที่คงต้องตรวจสอบร่วมกับ อย.ต่อไป เราพร้อมแสดงความรับผิดชอบหาก อย.จะสั่งปรับหรือดำเนินการตาม กฎหมาย รวมทั้งหากพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคเป็นโรคนิ่วจากบริโภคผลิตภัณฑ์ของบริษัทจริง ก็พร้อมจะรับผิดชอบทุกประการ”

ผลประกอบการสิ้นปีนี้ จากกรณีเหตุการปนเปื้อน และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คาดว่า ยอดขายไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ยอดขายกว่า 5,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากปกติโตปีละ5-10% ซึ่งมาจากนมข้นหวาน 70% เนย 20% และนมข้นจืด 10% อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับการตรวจสอบจากทาง อย.แล้วเรา คงจะต้องมีการปรับแผนการทำตลาดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นแบรนด์มะลิกลับคืนมาจากผู้บริโภคอย่างน้อย 6 เดือน

นายสุวิทย์ กล่าวว่า บริษัทจะหันมาขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มจาก 25% เป็น 30% ส่วนในประเทศจาก 75% เป็น 70% เนื่องจากยอดขายในประเทศมีแนวโน้มลดลง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และวิกฤตความเชื่อมั่น คาดว่า ในอนาคต บริษัทคงปรับตัวสู่การเป็นเทรดดิ้งเฟิร์ม รับจ้างขายสินค้าในประเทศแถบอินโดไชน่าแทนที่ลงทุนการทำตลาด เพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมนมรุนแรง

***อัด 10 ลบ.ฟื้นความเชื่อมั่น***
นายประเวศวุฒิ ไรวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายคุกกี้เอสแอนด์พี เปิดเผยว่า กรณีผลิตภัณฑ์คุกกี้เอสแอนด์พีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พบสารปนเปื้อนเมลามีน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา บริษัทได้หยุดจำหน่ายคุกกี้ 13 รายการ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากนมมาผลิตทั้งหมดร่วม 20 รายการ ทุกจุดจำหน่าย 280 แห่งทั่วประเทศ และบริษัทได้ส่งคุกกี้ทั้ง 13 รายการ ตรวจห้องแล็บวิจัยโภชนาการ IQA Laboratory Co.,Ltd ในฮ่องกง ซึ่งไม่พบสารปนเปื้อนเมลามีนในคุกกี้ของเอสแอนด์พี ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.คาดว่า 2-3 วันถึงจะทราบผล

ที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้นมข้นจืดตรามะลิ จากบริษัท อุตสาหกรรมไทย จำกัด เป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์คุกกี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทาง อย.ได้ประกาศว่าพบสารเมลามีนสูงในนมข้นจืดของบริษัทดังกล่าว ทำให้ขณะนี้บริษัทได้หยุดการใช้นมข้นจืดจากบริษัทอุตสาหกรรมไทย และใช้นมข้นจืดจากซัปพลายเออร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัทโฟร์โมสต์และบริษัทเนสท์เล่ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้รับการรับรองจากทางอย.แล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทจะนำคุกกี้ทั้ง 13 รายการ ออกจำหน่ายตามชั้นวางปกติ โดยเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากซับพลายเออร์รายใหม่ หลังจากที่ได้รับการรับรองจากทาง อย.เป็นที่เรียบร้อย

“โอกาสที่คุกกี้มีสารปนเปื้อนจากเมลามีน ซึ่งพบในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อาจเกิดจากวัตถุดิบการผลิตในแต่ละครั้งเกิดความผิดพลาดจากการตรวจสอบ ยอมรับว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤติครั้งแรกของการดำเนินธุรกิจเบเกอรี่และคุ๊กกี้ของเอสแอนด์พีในรอบ 35 ปี หรือนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจ”

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทหยุดจำหน่ายคุกกี้ได้ 3-4 วัน โดยหลังจากที่ข่าวแพร่ออกไปวันที่ 2 เท่านั้นยอดขายลดลง 10% ซึ่งขณะนี้บริษัทสูญเสียโอกาสการขาย 3 ล้านบาท และคาดว่าวิกฤติการสารเมลามีนปนเปื้อนในนมจะกระทบต่ออุตสาหกรรมเบเกอรี่โดยรวม โดยเฉพาะช่วงเทศกาลส่งท้ายปลายปี ซึ่งผู้บริโภคนิยมซื้อไปเป็นของขวัญ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้บริษัทคาดเดาไม่ได้ว่าปลายปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นตามปกติเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซันหรือไม่

นายประเวศวุฒิ กล่าวว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์คุ๊กกี้ในปลายปีนี้ บริษัทเตรียมทุ่มงบการตลาด10 ล้านบาท มากกว่าสถานการณ์ปกติ โดยเน้นสื่อสารถึงการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนเมลามีน ส่วนผลประกอบการปีนี้คาดว่ามีอัตราการเติบโตเกิน 10% จากเป้าหมายเดิมตั้งเป้าเติบโต 14% โดยปัจจุบันเอสแอนด์พีมีสินค้าร่วม 1,000 รายการ แบ่งเป็นรายได้ คุ๊กกี้ 10% อีก 90% เป็นเบเกอรี่และอื่นๆ

***สธ.ชี้ลักลอบใช้นมผิดวัตถุประสงค์**
ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอความร่วมมือให้ด่านศุลกากรทั่วประเทศตรวจสอบการนำเข้านมจากประเทศจีน ที่แจ้งวัตถุประสงค์เพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรแจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ของอย.ประจำด่านอาหารและยา เพื่อสุ่มตรวจนมที่มีการนำเข้าทุกลอตซ้ำ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีการนำนมดังกล่าวมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เบเกอรี่ ที่คนนำมาบริโภค ขณะเดียวกัน ก็ขอความร่วมมือกระทรวงเกษตรฯ ให้เจ้าหน้าที่ด่านปศุสัตว์ทั่วประเทศส่งนมและผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้าเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ให้เจ้าหน้าที่อย.ทำการตรวจสอบเช่นเดียวกัน

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้กำชับเจ้าหน้าที่ประจำด่านอาหารและยาทั่วประเทศ ประสานกับเจ้าหน้าที่ของด่านศุลกากรและด่านปศุสัตว์ เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์จากนมต่างประเทศ โดยเฉพาะของจีนอย่างเข้มงวด และให้รอผลการตรวจหากการปนเปื้อนสารเมลามีนจากกรมวิทย์ ก่อนที่จะนำสินค้าออกจากด่าน ซึ่งมีระบบการเฝ้าระวังที่กระชับรัดกุมและมีความชัดเจนโดยด่านอาหารและยาทั้ง 32 ด่านมีความพร้อมอยู่แล้ว รวมถึงมีการส่งเจ้าหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดย้อนหลังด้วย

“ขณะนี้ได้มีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมตรามะลิแล้ว 50 รายการ ซึ่ง อย.ได้ทำการตรวจแล้วจำนวน 30 รายการ แต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนก หากบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ตรามะลิ ระบุว่า จากการตรวจวิเคราะห์จากห้อปฏิบัติการเอกชนแล้วตรวจไม่พบนั้น ก็มีคำถามว่า การตรวจวิเคราะห์มาจากผลิตภัณฑ์ในล็อตการผลิตไหน เนื่องจากอย.ได้ทำการอายัดผลิตภัณฑ์ไปแล้วกว่า 3 แสนกระป๋อง แต่ถ้าเป็นล็อตอื่นก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่พบการปนเปื้อนเมลามีน ส่วนวัตถุดิบกว่า 4 แสน กิโลกรัมขณะนี้ผลการวิเคราะห์ยังไม่ออก ต้องรอผลอย่างเป็นการอีกประมาณ 5 วัน ทั้งนี้ หากผลตรวจตรงกันคงไม่เป็นไร แต่หากไม่ตรงกันในทางกฎหมายแล้วจะต้องยึดผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทย์ ซึ่งมีความน่าเชื่อถือแน่นอน ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สุ่มตรวจเบื้องต้นยังไม่พบสารเมลามีนปนเปื้อน” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น