xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือกิจกรรมประชาธิปไตย สอนอย่างไรเด็กไทยไม่โกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยระดับ ป.1-3
ในภาวะที่ประเทศไทยตกอยู่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองไม่อาจกระพริบตาได้นั้น เชื่อว่าหลายคนอาจจะเอือมกับคำว่า “ประชาธิปไตย” เต็มแก่ เพราะนักการเมืองหลายคนก็อ้างเอาคำว่าประชาธิปไตยมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง เพื่อให้อยู่ในอำนาจได้อย่างที่ต้องการ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนเพียงแค่ลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารแผ่นดินตามช่องทางอื่นๆ ที่พึงกระทำด้วย

จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) หนึ่งในองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จัดทำ “คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตย” ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ทั้ง 4 ช่วงชั้น สำหรับครูอาจารย์ฉบับใหม่ขึ้น

เบื้องต้น สพฐ.ได้จัดทำ และจัดพิมพ์คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 เสร็จเรียบร้อยแล้วช่วงชั้นละ 10,000 เล่ม โดยแจกนำร่องให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เขตพื้นที่ละ ประมาณ 50 โรงเรียน

ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับ โดยจุดประสงค์เพื่อให้ครูในสังกัด สพฐ.นำคู่มือประกอบการเรียนการสอนประชาธิปไตยไปใช้สอนนักเรียน เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชนไทยมีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สร้างพลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย และตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีในสังคมไทย

วันเพ็ญ สุทธากาศ นักวิชาการศึกษา 8 ว.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ซึ่งรับผิดชอบดูแลเนื้อหาคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยฯ เปิดเผยว่า การจัดทำคู่มือดังกล่าวนั้น กระทรวงศึกษาฯ เคยทำมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อประมาณปี 2547-2548 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ประกาศใช้ใหม่ๆ ซึ่งการจัดคู่มือครั้งนั้น นำเอากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ มาวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาไหน ช่วงชั้นไหน เป็นการจัดทำคู่มือตามตัวกฎหมาย

“การทำคู่มือครั้งนี้ เราได้หารือกันว่า เนื้อแท้ของประชาธิปไตยมันต้องอยู่ในวิถีชีวิต การพัฒนาประชาธิปไตยถึงจะมีความยั่งยืน ดังนั้น จึงทำออกมาในรูปของกิจกรรมที่ครู อาจารย์จะหยิบออกไปใช้สอนนักเรียน หรือจัดเป็นกิจกรรมสอดแทรกในวิชาอื่นๆ ได้ เน้นไปที่การปลูกฝังประชาธิปไตยในวิถีชีวิตตั้งแต่เด็กเล็กระดับประถมศึกษาไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย”

**สอนเด็กเล็กให้เคารพความแตกต่าง
วันเพ็ญ อธิบายถึงเนื้อหาที่มุ่งเน้นให้เกิดขึ้นกับเด็กในแต่ระดับผ่านกิจกรรมที่คู่มือฯ นำเสนอว่า ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กิจกรรมต่างๆ ที่นำมาให้เด็กปฏิบัตินั้น จะเน้นไปที่การเป็นสมาชิกที่ดีของสถาบันทางสังคม ซึ่งในวัยนี้สถาบันที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของเด็กได้แก่ สถาบันครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ดังนั้น กิจกรรมที่ครูจะนำไปสอนจะทำให้เด็กได้เรียนรู้หน้าที่ของตนเองในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะการปฏิบัติให้อยู่ในกฎระเบียบข้อตกลงร่วมกัน เช่น กฎระเบียบของห้องเรียน ที่สำคัญคือการปลูกฝังให้เด็กยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม และการทำงานเป็นทีม หรือการสมมติบทบาทให้นักเรียนเป็นผู้นำ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว

“ลักษณะกิจกรรมที่ครูจะนำไปสอนนักเรียนนั้น จะเน้นไปที่การปฏิบัติเป็นหลัก แต่จะไม่เน้นเรื่ององค์ความรู้ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ และซึมซับเป็นวิถีชีวิต ให้เด็กรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ให้เขาได้รู้ว่าหากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนเองปัญหาก็จะไม่เกิด และทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข”

วันเพ็ญ ได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ครูสามารถนำไปใช้กับเด็กนักเรียนในระดับชั้น ป.1-3 แบบง่ายๆ เช่น การให้นักเรียนรู้จักการเข้าคิว ห้ามแซงคิว หรือการจัดเวรทำความสะอาดห้องเรียน หรือการเลือกหัวหน้าชั้น เป็นต้น
คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยระดับ ป.4-6
**มีคุณธรรมประชาธิปไตยไทยเจริญ
“มาถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่เด็กระดับนี้จะได้สัมผัสกับโลกภายนอกมากขึ้น กิจกรรมในคู่มือฉบับนี้ จะเน้นไปที่ การสร้างคุณลักษณะบุคลิกประชาธิปไตยให้เกิดกับนักเรียน เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ภายใต้วัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งจะมีเรื่องของสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ของตนเองเข้ามาด้วย”

นักวิชาการศึกษา กล่าวต่อไปอีกว่า เด็กในระดับชั้น ป.4-6 จะได้เรียนรู้เรื่องสิทธิเด็ก ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็ก และกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเด็ก โดยเด็กจะได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง จากข่าว หรือภาพข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน โดยครูจะหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่าง ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร จะป้องกันเหตุซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างไร

สำหรับคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยในระดับ ป.1-3 และ ป.4-6 สพฐ.ได้จัดพิมพ์เสร็จแล้วทั้ง 2 เล่ม ส่วนคู่มือฯ ระดับ ม.1-3 และ ม.4-6 อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ โดย วันเพ็ญ ให้ข้อมูลว่า เนื้อหาของระดับมัธยมศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่สิทธิ์ และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การเป็นพลเมืองที่ดีระดับชาติ และการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ในการเลือกตั้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ สพฐ. ได้เชิญศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคม ศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตพื้นที่ละ 3 คน เข้าร่วมประชุมชี้แจงการใช้คู่มือดังกล่าว ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งกิจกรรมประชาธิปไตยที่อยู่ในคู่มือทั้งหมดนั้น นักวิชาการศึกษา ย้ำว่า ครู อาจารย์สามารถนำไปสอนบูรณาการร่วมกับวิชาอื่นๆ ได้ทุกวิชา โดยในเร็วๆ นี้ สพฐ.จะนำเอาเนื้อหาคู่มือฯ ทุกระดับชั้น บรรจุงในเว้บไซต์ของ สพฐ.ในรูปแบบ e-book เพื่อให้ครู อาจารย์ได้ดาวน์โหลดไปใช้ต่อไป

“หัวใจของประชาธิปไตยคือคุณธรรม และจริยธรรม หากเด็ก และเยาวชนถูกปลูกฝังเรื่องคุณธรรมให้รู้จักรับผิดชอบต่อสิทธิ์ และหน้าที่ของตนเอง ไม่ดูถูกผู้อื่น เคารพสิทธิ์คนในสังคมเดียวกัน รับรองว่าประชาธิปไตยจะเจริญงอกงาม ซึ่งการเรียนการสอนประชาธิปไตยนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการจัดบรรยากาศในสถานศึกษาให้มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะการจะปลูกฝังให้เด็กรักประชาธิปไตยนั้น ต้องอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นกระบวนการขัดเกลาตั้งแต่เยาว์วัย จะสอนเฉพาะในห้องเรียนไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ยอมรับค่านิยมผิดๆ ได้ หลายคนบอกว่าหากนักการเมืองจะโกงกินบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะใครๆ ก็โกงกัน ทั้งๆ ที่คุณธรรมพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีคือความซื่อสัตย์ แต่เรากลับบอกว่าไม่เป็นไร นี่คือความผิดเพี้ยนของประชาธิปไตยในปัจจุบันที่เราต้องช่วยกันปลูกฝังให้กับเด็กเล็กๆ ใหม่ ที่สำคัญจะฝากความหวังไว้กับการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ ครอบครัว ชุมชน จนถึงสังคมทุกส่วนต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศของประชาธิปไตย หรือสร้างบรรยากาศของการมีคุณธรรมให้เกิดขึ้นนั่นเอง”วันเพ็ญกล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น