NBT ถ่ายทอดสด สัมมนาปาหี่ เชิญ “จาตุรนต์-ปลื้ม” เชลียร์รัฐบาล พร้อมโจมตีพันธมิตรฯ กล่าวหาไม่ยอมรับกติกา พาบ้านเมืองถอยหลัง ด้าน “ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ” นักวิชาการประจำเวทีพันธมิตรฯ ค้านตั้ง ส.ส.ร.3 ซื้อเวลา โดนหน้าม้าถามเหน็บแนม “เมื่อไหร่จะคืนทำเนียบ”
วันนี้ (20 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.ชมรมสมาชิกวุฒิสภาได้จัดเสวนา "วิกฤติและโอกาสประชาธิปไตยไทย" โดยมี ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวที และถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยในงานเสวนาดังกล่าวได้เชิญบุคลในแวดวงวิชาการ การเมือง และสื่อสารมวลชน มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ว่า จะเป็นไปในทิศทางใด และควรจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร
ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในฐานะตัวแทนของแวดวงนักการเมืองได้แสดงทัศนะว่า ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองในขณะนี้ เกิดจากคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งภายหลังได้กล่าวว่า คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ที่ไม่ยอมรับกฎกติกาของบ้านเมือง พยายามเปลี่ยนแปลงระบบทางการเมือง ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่อันตรายมาก เพราะความคิด หรือระบบที่คนกลุ่มนี้เสนอมา เป็นความคิดที่ล้าหลัง นั่นคือ การตัดระบบรัฐสภา หรือลดระดับความสำคัญของระบบรัฐสภาออกไป ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการทำให้ประชาชน และ ส.ส.ถูกแยกออกจากกัน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
ดังนั้น ตนจึงมองว่า การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองขณะนี้ สังคมไทยควรศึกษาและเรียนรู้ เรื่องระบบการทำงานของทั่วโลก แล้วอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายระดมปัญญากันเพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการที่จะหาทางที่จะนำบ้านเมือง และการเมืองให้พัฒนาไปข้างหน้าให้ได้ แต่สำหรับแนวคิดการเมืองที่ต้องการลดบทบาทของรัฐสภานั้น ถือเป็นการนำประเทศถอยหลังเข้ากรุ เป็นวิธีที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด
ขณะที่ ม.ล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล หรือ “ปลื้ม” ที่อ้างตัวเป็นตัวแทนภาคสื่อมวลชน ได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ตนคิดว่า ทางแก้ทางแรกที่ควรจะต้องทำ นั่นคือ ทุกฝ่ายต้องไม่ใช้สื่อมวลชนในการระดมผู้คนออกมาให้อยู่ในฝ่ายของตน ซึ่งตนมองว่าในสถานการณ์ทุกวันนี้ สื่อถูกควบคุมโดยคนไม่กี่คน เพื่อใช้หาประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง ดังนั้น หากยังมีการกระทำเช่นนี้อยู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันก็คงหาทางออกยาก
ม.ล.ณัฎฐกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ตนเชื่อว่า สถานการณ์ในวันนี้ที่ฝ่ายหนึ่งกำลังคิดหานวัตกรรมใหม่ๆ ในการที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นักการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่แก้ไขปัญหาทางการเมืองไม่ได้จริง เป็นการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกต้อง เพราะตนเชื่อว่า ไม่ว่านักการเมืองจะโกงกินขนาดไหน แต่นวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาใช้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นักการเมืองในทุกวันนี้ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
อย่างเช่น ระบบตุลาการภิวัฒน์ ในตอนนี้ที่หลายคนกล่าวถึง แต่ตนคงไม่เรียกเช่นนั้นแต่จะขอเรียกว่า “ตุลาการปฏิวัติ” เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ มันคือ เป็นการลดอำนาจของฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนออกไปเลย แต่ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าตนมองว่า บทบาทของตุลาการในปัจจุบันไม่เหมาะสม ตนยังคิดว่าบทบาทของตุลาการในทุกวันนี้ยังเหมาะสมอยู่ ยกเว้นบางครั้งบางคราว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ตนเป็นห่วงมาก ว่าหากวิกฤติการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้หมดไปแล้ว แต่อำนาจตุลาการปฏิวัติ อาจจะยังคงหยั่งรากลึกลงไปในบ้านเมืองแล้วก็ได้
ด้าน ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนเห็นว่า แนวทางในการแก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองในทุกวันนี้ของรัฐบาล โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ชุดที่ 3 ขึ้นมานั้น ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ถือเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะมีแต่จะทำให้เสียเวลา และไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้ ทั้งนี้ ตนก็ยังคงเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี เป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกฝ่ายต้องไม่ลืมว่า ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องเป็นประชาธิปไตยทั้งรูปธรรม และนามธรรม ไม่ใช่ยึดถือแต่ระบบการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งจะมีการทุจริตหรือคดโกงกันมาอย่างไรก็ได้
นอกจากนี้ ตนยังมองสิ่งสำคัญที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพึงกระทำ หรือพึงมีในสถานการณ์แบบนี้ และทุกสถานการณ์ ก็คือ รัฐบาลควรจะต้องออกจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ เมื่อมีประชาชนตั้งข้อสงสัย ไม่จำเป็นต้องออกตามระบบ หรืออ้างแต่ว่าได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนเท่านั้น เพราะตัวอย่างในต่างประเทศก็มีให้เห็นมากมาย ว่า ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งมาอย่างล้นหลาม แต่เมื่อประชาชนมีข้อสงสัยในตัวรัฐบาล ก็ยินยอมลาออกแต่โดยดี
ทั้งนี้ เมื่อ ดร.ปราโมทย์ กล่าวจบ ผู้ดำเนินรายการได้แจ้งว่า มีประชาชนที่เข้าร่วมฟังเสวนา ฝากคำถามมาถาม ดร.ปราโมทย์ มากมาย เช่นว่า ในฐานะที่ ดร.ปราโมทย์ ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ อยู่บ่อยครั้ง จึงอยากถามว่า เมื่อไหร่พันธมิตรฯ จึงจะคืนทำเนียบรัฐบาลให้ประชาชน ดร.ประโมทย์ กล่าวว่า คำถามนี้ตนคงตอบไม่ได้ เพราะตนไม่ใช่แกนนำพันธมิตรฯ หากตนไปบอก หรือเสนอใครว่าให้ออกจากทำเนียบเมื่อใด ก็คงไม่มีใครเชื่อตนอยู่ดี ส่วนหากถามตนว่าพันธมิตรฯ ควรออกจากทำเนียบรัฐบาลเมื่อใดนั้น ตนคงขอสงวนความคิดและความรู้สึกของตนไว้เป็นเรื่องส่วนตัว
อีกทั้งในการที่ตนขึ้นไปกล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ นั้น ตนก็ได้รับเชิญให้ขึ้นไปพูด ขึ้นไปให้ความรู้ ซึ่งหากกลุ่ม นปช.จะเชิญตนไปพูดบนเวที นปช.บ้าง ตนก็ยินดี หากกลุ่ม นปช.สามารถคุ้มครอง แล้วก็ดูแลความปลอดภัยให้กับตนได้
อนึ่ง สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้ เกือบทุกคนบนเวที ต่างมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน นั่นคือ มุ่งโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงมุ่งโจมตีและถามคำถามเชิงเหน็บแนมต่อ ดร.ปราโมทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นไปร่วมเวทีพันธมิตรฯ บ่อยครั้ง