เครื่อข่ายเหล้าเชียร์ “เฉลิม” ควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอล์ สั่งทำโพลสวนดุสิตถามความเห็นประชาชน เห็นด้วยหรือไม่ห้ามขายเหล้าในวันเทศกาลสำคัญ ฟันธงส่วนใหญ่เห็นด้วย เชื่อ บริษัทเหล้าไม่คัดค้านหากข้องใจเข้าพบได้ เตรียดจัดเวิร์กช้อปครั้งใหญ่หลังรัฐบาลแถลงนโยบายหาแนวทางแก้ปัญหาผับ เธค ร้านเหล้าปั้นอยู่ในสถานศึกษา
วันนี้ (3 ต.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.บัณทิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พร้อมด้วยนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ รวมถึงเครือข่ายป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาแอลกอฮอล์ และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและองค์กรภาคี และเยาวชนกว่า 20 คน เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนนโยบายกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ได้อ่านร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง วัน หรือเวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่กรมควบคุมโรคได้เสนอมาแล้ว เบื้องต้นเห็นด้วยตามที่ได้เสนอมา เพราะมีแนวคิดตรงกัน อย่างไรก็ตาม ต้องศึกษารายละเอียดให้ครอบคลุมจะดูให้กระชับ รอบคอบ รัดกุม ซึ่งต้องมีการนัดคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติพิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศ
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่รอประกาศมีผลบังคับใช้ จะประสานไปยังผศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ให้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ว่า มีความคิดเห็นอย่างไรหาก ร.ต.อ.เฉลิม จะดำเนินการกำหนดให้มีวันห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในวันช่วงเทศกาลสำคัญ ซึ่งในระบบประชาธิปไตยจะฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย ดังนั้น การทำโพลก็เพื่อป้องกันการครหาเพราะอาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งคาดว่า น่าจะทันในช่วงปีใหม่นี้ และขอฟันธงล่วงหน้าว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้
“บริษัทเหล้าจะมาค้านอะไร ไม่ได้ให้ห้ามขายทุกวัน วันอื่นก็มี ต้องกินเหล้ากันทุกวันเลยหรือ ซึ่งโดยหลักการจะมาขายกันทุกวันก็ไม่เหมาะสม ขนาดวันที่มีการเลือกตั้งห้ามขายก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ซึ่งนอกจากจะมีกำหนดเวลาในการขาย ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00 น.แล้วจะมีการจะโซนนิ่งพื้นที่ในการขายแอลกอฮอล์ด้วย ผมไม่เชื่อว่าจะมีคนคิดคัดค้าน บริษัทเหล้าต่างหากที่ต้องมาเอาใจ หากจะมาขอเข้าพบก็ให้เข้าพบอยู่แล้ว ถ้าไม่มาจะให้ผมไปหาก็ได้” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ส่วนร้านเหล้าเบียร์ สถานบันเทิง หรือป้ายโฆษณาที่อยู่ใกล้สถานศึกษา หลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งใหญ่ร่วมกันในการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจะขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการและรับฟังข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณา โดยจะต้องเดินสายกลางมัชฌิมา ตึงไปก็ไม่ได้และไม่ทำอะไรก็ไม่ได้
“ผมมีแนวคิดในการกำหนดห้ามขายแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งชัดเจนว่า 90% ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์เกิดจากการเมาสุรา ซึ่งเคยลงไปสุ่มตัวอย่างด้วยตัวเองในจังหวัดแทบภาคอีสาน ส่วนใหญ่ประชาชนจะขี่มอเตอร์ไซต์แล้วดื่มเหล้าเมา จึงได้สั่งให้มีการจัดเวรยามเฝ้าควบคุมทุกหมู่บ้าน ถ้าเมาก็ไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน รวมทั้งขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และตำรวจมีความเห็นตรงกันว่าเหล้าเป็นต้นเหตุ ซึ่งพอมาที่สธ.ก็พบว่าเขาทำไว้แล้วเกือบเสร็จ ก็จะง่ายขึ้นในการดูแลควบคุมแอลกอฮอล์” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ได้ยื่นข้อเสนอให้ สธ.ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และลดปัญหาผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ 1.เดินหน้านโยบายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น สงกรานต์ ลดยกระทง ปีใหม่ โดยใช้อำนาจตามาตรา 16(3) พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 2.ให้พิจารณาเอาผิดกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่โฆษณาละเมิดกฎหมาย 3.แก้ไขปัญหาร้านเหล้าเบียร์ ร้านเหล้าปั่น สถานบันเทิง ป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ ที่อยู่ใกล้โรงเรียนเกินไป ทั้งๆ ที่มติครม. กำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดการโฆษณา และ 4.เร่งรัดให้จัดประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเต่งตั้งกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนของผู้แทนองค์การเอกชน ตามมาตรา 10(4)
นายคำรณ กล่าวต่อว่า ส่วนการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องควรห้ามขายเหล้าวันเทศกาลหรือไม่ พบว่า ไม่ว่าจะสำรวจกี่ครั้งหรือให้องค์กรหน่วยงานใดเป็นผู้สำรวจ เสียงส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นตรงกันคืออยากให้งดขายเหล้าในช่วงวันเทศกาล อาทิ 1.มหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงวันที่ 20 มิ.ย.2551 สำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีการประชาคม ทั้ง 75 จังหวัด พบว่า เห็นด้วยกับการห้ามจำหน่ายสุราในช่วงเทศกาลสำคัญ 854 อำเภอ คิดเป็น 97.4% โดยส่วนใหญ่ 56% มีความเห็นว่าควรห้ามจำหน่ายในช่วงวันหยุดทั้งหมดของเทศกาล รองลงมา คือ เห็นควรห้ามจำหน่ายในช่วงวันหยุดวันแรกและวันหยุดวันสุดท้ายของช่วงเทศกาล 13.3% และ เห็นควรห้ามจำหน่ายในบางวันของช่วงวันหยุดของเทศกาล เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ 10.7%
นอกจากนี้ 2.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2,757 ตัวอย่าง ช่วงระหว่างวันที่ 18-21 เม.ย.2551 ประเมินผลพฤติกรรมการซื้อขายเหล้าของคนไทยและการห้ามขายเหล้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า 61.1% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าเห็นด้วยกับการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล มีเพียง 19.2% ที่ไม่เห็นด้วย ขณะที่ 19.7% ไม่แสดงความคิดเห็น
“กลุ่มที่เห็นด้วยนี้ เห็นว่า ควรห้ามจำหน่ายตลอดช่วงเทศกาลถึง 74.6% เห็นว่าควรห้ามจำหน่ายเฉพาะวันแรกของเทศกาล 5.9% เห็นว่า ควรห้ามจำหน่ายเฉพาะวันสุดท้ายของเทศกาล 3.3% และ เห็นด้วยกับการห้ามจำหน่ายเฉพาะวันแรกและวันสุดท้ายของเทศกาล 16.2%” นายคำรณ กล่าว
3.กรุงเทพมหานครดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ เรื่อง การงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 21,834 คน ผ่านทางเว็บไซต์ของ กทม.และ ผ่านรายการวิทยุ สวพ.91 จส.100 และ ร่วมด้วยช่วยกัน ระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-9 พ.ค.2551 พบว่า 70% เห็นด้วยกับการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันหยุดสงกรานต์และปีใหม่ โดยส่วนใหญ่57.62% เห็นด้วยกับการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกวันในช่วงวันหยุดเทศกาล และ มี 16.35% ที่เห็นด้วยกับการงดจำหน่ายเฉพาะวันแรกและวันสุดท้ายของเทศกาล ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยกับการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีเพียง 21.77%
ด้านนพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อำนาจในการออกประกาศ สธ.ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีประสิทธิภาพเป็นอำนาจของสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ของ สธ.ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้าจะทำหนังสือเสนอ รมว.สธ.เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานประธานคณะกรรมการนโยบาย เพื่อให้มีการประชุมนัดแรก ซึ่งหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมเมื่อใดนั้น ไม่สามารถทราบได้ แต่หากไม่มีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้เลยก็ไม่สามารถออกประกาศควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมได้
“ในประเด็นเรื่องร้านเหล้าปั่นที่อยู่รอบสถานศึกษานั้น หากมีการประชุมของคณะกรรมการอีกชุดคือ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มี รมว.สธ.เป็นประธาน ก็จะนำเรื่องร้านเหล้าปั่นเป็นเรื่องแรก โดยจะให้ที่ประชุมสรุปว่าจะควบคุมร้านดังกล่าวอย่างไร หากที่ประชุมสมควรว่าสมควร ก็สามารถกำหนดรัศมีว่าควรอยู่ห่างจากสถานศึกษาเท่าใด และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายออกเป็นประกาศต่อไป” นพ.มล.สมชาย กล่าว
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ตนเองได้ลงนามเสนอ รมว.สธ.เพื่อให้เสนอนายกรัฐมนตรีมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรีก็ส่งเรื่องกลับมาใหม่ ซึ่งตนเองได้ทำหนังสือดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาเพื่อส่งให้รมว.สธ.เสนอไปให้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งแล้ว
“คาดว่า หากมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯและดำเนินการออกประกาศเรื่องวันหรือเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 น่าจะมีผลบังคับใช้ไม่ทันกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552นี้ แต่น่าจะทันกับการควบคุมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2552 อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มใหญ่ เพื่อทราบถึงความเห็นของประชาชนต่อมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจนใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น” นพ.ไพจิตร์ กล่าว