xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเหล้าฯแฉ บ.น้ำเมาโฆษณาผิด กม.เกลื่อน เบนมอร์แชมป์ จี้ สธ.-สตช.เล่นงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายต้านเหล้าฯ แฉ บริษัทน้ำเมาฝ่าฝืน กม. โฆษณาเหล้า-เบียร์ โชว์ภาพขวดเต็มๆ พรึ่บทุกสื่อเกือบ 400 แบบ 23 ยี่ห้อ ทั้ง ป้ายตู้ไฟ-บิลบอร์ด-แบนเนอร์ เกลื่อนถนนทั่วกรุง เบนมอร์ แชมป์ทำผิด ตามด้วย สิงห์ ไฮเนเก้น-ฮันเดรด ต้องโดนปรับไม่ต่ำกว่า 2 ร้อยล้าน ภาคประชาชนจี้ สธ.-สตช.เล่นงาน “อาจารย์คมสัน” ยันจับเลย ผิดชัวร์ ไม่ต้องรอตีความ เครือข่ายเด็กและเยาวชน วอน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ หยุดละเมิดกฎหมาย

วันที่ 25 ส.ค.ที่โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์ มีแถลง “ผลการเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” โดย นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 6 เดือนแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายคือ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ยอมดำเนินการใดๆ กลับถ้อยทีถ้อยอาศัยกับบริษัทน้ำเมา โดยอ้างว่าให้เวลาปรับตัว ซึ่งตรงกับข้อเสนอของ สมาพันธ์เพื่อช่วยภาครัฐลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ สชอ.ที่มีบริษัทเหล้า-เบียร์ยักษ์ใหญ่ 5 บริษัทเป็นแกนสำคัญ นำโดย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอท เฮนเนสซี่ ที่ขอผ่อนผันกฎหมายไปก่อน 6 เดือน

“การสำรวจของเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ พบ ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำตัวเหนือกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรา 32 ที่ห้ามโฆษณาภาพผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ แต่ข้อมูลใน กทม.วันที่ 7-13 ก.ค. 2551 บนถนนสายหลัก 5 สาย คือ 1.ลาดพร้าว 2.รามคำแหง 3.รามอินทรา 4.พัฒนาการ 5.สุขุมวิท พบการฝ่าฝืนโฆษณาภาพผลิตภัณฑ์ 23 ยี่ห้อ ผ่านสื่อดังนี้ 1.ป้ายตู้ไฟ 2.ธงราว/ธงญี่ปุ่น 3.แบนเนอร์ 4.บิลบอร์ด 5.ผ้าปูโต๊ะ คิดเป็นมูลค่าการเสียค่าปรับถึง 11.5 ล้านบาท ไม่นับรวมค่าปรับรายวันอีกวันละ 50,000 บาทต่อวัน หรือราว 207 ล้านบาท มีสื่อโฆษณาภาพบรรจุภัณฑ์ผิดตามมาตรานี้ถึง 394 กรณี” นายคำรณ กล่าว

นายคำรณ กล่าวอีกว่า บริษัทที่ทำผิดมากที่สุด คือ 1.บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์ Benmore, Johnie Walker, Smirnoff และสเปย์รอยัล 114 กรณี หรือ 28.93% 2.เครือบริษัท สิงห์ คอเปอเรชั่น จำกัด/บุญรอด โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์เบียร์สิงห์และเบียร์ลีโอ 76 กรณี หรือ 19.29% 3.บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์เบียร์ไฮเนเก้น เบียร์ไทเกอร์ เบียร์เชียร์ 46 กรณี หรือ 11.68% และ บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์ 100 PIPER DELUXE และ Chivas Regal 46 กรณี หรือ 11.68 4.บริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์เดวาร์ เดวาร์ไวท์เลเบิล และวิลเลี่ยม ลอว์สัน 35 กรณี หรือ 8.88%

“อันดับ 5 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์เบียร์ช้าง, เฟดเดอบรอย, เบลน 285 และแสงโสม 33 กรณี หรือ 8.38% 6.บริษัท ซานมิเกล เบียร์ ประเทศไทย จำกัด โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์เบียร์ซานมิเกล, เบียร์ซานมิกไลท์, เบียร์บลูไอซ์ 30 กรณี หรือ 7.61% 7.บริษัท บราวน์-ฟอร์แมน ไทยแลนด์ ฯ ผู้นำเข้า จัดจำหน่ายโดยบริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์วิสกี้ แจ็ค แดเนียลส์ เท็นเนสซี่ และ วอดก้า ฟินแลนด์เดีย 8 กรณี (2.03%) 9.บริษัท สยามไวเนอรี่ จำกัด โฆษณาภาพผลิตภัณฑ์สปาย ไวน์ คูลเลอร์ 6 กรณี หรือ 1.52%” นายคำรณ กล่าว

นายคำรณ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลเหล่านี้ชี้ชัดว่านายทุนบาป ทำเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป ท้าทายอำนาจรัฐ ทุกเครือข่ายจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ประณามบรรดาบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ละเมิดกฎหมาย และขอเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการเคารพกฎหมาย ดีกว่ามุ่งสร้างภาพรับผิดชอบสังคม (CSR) แฝงการตลาด หลอกลวงสังคม 2.ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 3.บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่าผลักภาระปัญหาให้ตกอยู่กับผู้ประกอบการรายย่อย สถานบันเทิง และร้านค้าทั่วไป เพราะการปรับเปลี่ยน หรือแก้ไขสื่อโฆษณาต่างๆให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“วันที่ 26 ส.ค. นี้ เวลา 09.30 เครือข่ายเด็กและเยาวชน ที่รณรงค์ป้องกัน นักดื่มหน้าใหม่ จะเดินทางไปร้องขอกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ หน้าบริษัทดิอาจิโอ โอเอท เฮนเนสซี่ (สาธร) และต่อไปยัง บ.ไทยเบฟเวอเรจ (วิภาวดีรังสิต) และ บ.สิงห์ คอเปอเรชั่น (สามเสน) ให้หยุดละเมิดกฎหมาย พร้อมแสดงละครล้อเลียน ผลกระทบกับเยาวชน ทั้งนี้จะเข้าพบผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ รมว.สาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นจริง โดยจากวันนี้จนถึงสิ้นปี 2551 เครือข่ายภาคประชาชนจะเก็บข้อมูล การกระทำ ความผิดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกรูปแบบ เพื่อฟ้องสังคมและฟ้องร้องดำเนินคดี ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น”นายคำรณ กล่าว

นางอนงค์ สานุสันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีถิ่นอีสาน กล่าวว่า ในภาคอีสานพบป้ายโฆษณาเบียร์อีสาน ที่มีภาพขวดเบียร์ ชัดเจน รวมทั้งพบการโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ปกหลังเต็มหน้าอีกหลายฉบับเบียร์อีสานนอกจากจะย่ำยีคนบ้านเฮา โดยใช้ชื่อ “อีสาน” แล้ว ยังไม่เคารพกฎหมาย สำหรับความผิดมาตรา 32 ของบริษัทเหล้า-เบียร์ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาบริษัทจะต้องจ่ายค่าปรับรายวัน ถึง 152 วัน เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 7,600,000 บาท และถูกปรับอีกไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกพิพากษาถึงจำคุกอีกด้วย หรือว่ากำไรที่ได้จากการขายน้ำเมานี้ มันมีมากมายจนพร้อมที่จะจ่ายค่าปรับ

นายคมสันต์ โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การโฆษณาภาพผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องตีความ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ต้องเร่งจัดการ ไม่เช่นนั้นกฎหมายจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจว่ายาก เนื่องจากธุรกิจแอลกอฮอล์มีมูลค่าเป็นแสนล้าน การจะได้กฎหมายมาก็ยาก มาถึงการบังคับใช้ก็ยากขึ้นไปอีก ซึ่งโทษแค่ปรับ ไม่มีผลอะไรกับธุรกิจเลย ควรเป็นเรื่องการพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาต ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง หากเจ้าพนักงานไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ก็ต้องฟ้องร้องถึงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น