xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้ผลตรวจชายเลี้ยงเป็ดชาวพิจิตรที่เสียชีวิตและลูกชาย เบื้องต้นติดเชื้อฉี่หนู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ชี้ ผลตรวจชายเลี้ยงเป็ดชาวพิจิตรที่เสียชีวิตและลูกชาย เบื้องต้นติดเชื้อฉี่หนู โดยได้ส่งตรวจยืนยันทั้งหวัดนกและฉี่หนูที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทราบผลเย็นนี้ ส่วนผู้สัมผัสในพื้นที่ 12 คนจะเฝ้าระวังต่อไปอีก 10 วัน หากมีไข้จะให้ยาต้านไวรัสทันที ส่วนอาการลูกชายวัย 12 ปี ที่นอนรักษาตัวที่ รพ.พิจิตร ขณะนี้อาการดีขึ้น ย้ำเตือนประชาชนอย่านำสัตว์ปีกป่วยตายมากินเด็ดขาด

วันนี้ (1 ต.ค.) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากระทรวงระดับ 11 ด้าน เวชกรรม นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปติดตามความคืบหน้าผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก 2 ราย อยู่ที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร เป็นชายวัย 48 ปี เสียชีวิต และลูกชายอายุ 12 ปี ที่ขณะนี้นอนรักษาตัวที่ รพ.พิจิตร หลังจากที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2549

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เดินทางมาติดตามข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นการด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก และหากเกิดจากเชื้อไข้หวัดนกจริง จะได้ควบคุมป้องกันโรคได้ทันการณ์ โดยผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และรายงานให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ทราบตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2551 ได้เก็บตัวอย่างเสมหะและเลือดส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครสวรรค์ ผลการตรวจ 2 ครั้งด้วยวิธี พีซีอาร์ (PCR) พบว่าไม่ใช่เชื้อไข้หวัดนก แต่อาการเข้าได้กับโรคฉี่หนู ต้องรอผลการตรวจยืนยันทั้ง 2 โรค จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะทราบในเย็นวันนี้

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะยังไม่พบเชื้อไข้หวัดนก แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้มาตรการการป้องกันควบคุมโรคในคนตามหลักสากลอย่างเข้มงวด โดยส่งทีมควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว เข้าสอบสวนโรคในหมู่ที่ 14 ต.ทุ่งใหญ่ทั้งหมด พบผู้สัมผัสเชื้อจำนวน 12 คน เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้เสียชีวิต 2 คน คือ ลูกชายวัย 12 ปี และภรรยา ในจำนวนนี้มีเพียงลูกชายคนเดียวที่มีไข้ต่ำๆ ได้ส่งตัวเข้ารับการรักษาในห้องแยกปลอดเชื้อที่รพ.พิจิตร เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 และให้กินยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที ซึ่งผลการตรวจเลือดพบว่าติดเชื้อไข้ฉี่หนู จากการเข้าเยี่ยมอาการในวันนี้ เด็กดีขึ้น ไม่มีไข้ ปอดปกติ กินอาหารได้ดี ส่วนอีก 11 ราย ได้ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และ อสม.ติดตามอาการทุกวัน จนครบ 10 วัน หากพบว่ารายใดมีไข้ จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและให้กินยาต้านไวรัสทันที ซึ่งจะป้องกันการเสียชีวิตได้

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตรายนี้ มีอาชีพเลี้ยงเป็ด 1,600 ตัว และเป็ดเริ่มทยอยตายตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 24 กันยายน รวม 15 ตัว ได้ใช้มือเปล่าจับซากเป็ดไปฝัง และเริ่มมีอาการปวดขาอย่างแรงเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2551 ต่อมาวันที่ 29 กันยายน เวลาประมาณ 04.00 น.มีอาการเหนื่อย จุกแน่นท้อง อาเจียน ไม่มีไข้ ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะไม่ค่อยออก จึงเข้ารับการรักษาที่ รพ.โพธิ์ประทับช้าง ก่อนส่งไปรักษาต่อที่รพ.พิจิตร และอาการทรุดลง แพทย์เอ็กซเรย์พบน้ำท่วมปอด มีอาการไตวาย และเสียชีวิตในเวลา 10.00 น.เช้าวันที่ 30 กันยายน 2551

นพ.ปราชญ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในช่วงนี้มีฝนตกหนัก อาจจะมีสัตว์ปีกป่วยและตายได้ ขอย้ำเตือนประชาชน อย่านำสัตว์ปีที่ป่วยหรือตายผิดปกติมาชำแหละกินอย่างเด็ดขาด ต้องแจ้งเจ้าหน้าปศุสัตว์หรืออสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ และใช้อุปกรณ์ป้องกันเช่น สวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหลายๆชั้น ขณะสัมผัสซากสัตว์ปีกเพื่อฝังกลบ และหากมีไข้ มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ขอให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกให้ทราบ อย่าปิดบังเด็ดขาด

กำลังโหลดความคิดเห็น