สธ.เผยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของผู้ป่วยที่ต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกที่จังหวัดพิจิตรทั้ง 4 ราย ไม่พบเชื้อไข้หวัดนก เป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ทุกรายอาการดีขึ้น ย้ายออกห้องแยกปลอดเชื้อแล้ว เตือนประชาชนห้ามนำเป็ดไก่ที่ตายมาชำแหละทำเป็นอาหาร หากต้องเก็บซากมาทำลาย ต้องสวมถุงมือยางหรือสวมถุงพลาสติกหนาๆ หลายชั้นทุกครั้ง อย่าจับด้วยมือเปล่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากซากเป็ดหรือสัตว์ปีก
จากกรณีที่มีการเสนอข่าวพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก 4 ราย ได้แก่ ด.ช.กฤษดา เที่ยงอยู่ อายุ 6 ปี ด.ญ.นัดดา เที่ยงอยู่ อายุ 10 ปี นางทับทิม พรมศรี อายุ 62 ปี ทั้ง 3 มีภูมิลำเนาอยู่ ตำบลเนินบ่อ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร และนางวรรณา โตรำรำ อายุ 70 ปี อยู่หมู่ 2 ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เข้ารักษาตัวที่ห้องแยกปลอดเชื้อ โรงพยาบาลสามง่าม จังหวัดพิจิตร หลังจากพบว่ามีประวัติสัมผัสไก่พื้นเมืองที่ล้มป่วยตายในหมู่บ้านจากนั้น 2-3 วันมีอาการไข้ขึ้นสูง ไอ เหนื่อย หอบ เข้าข่ายต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกนั้น
วันนี้ (30 ก.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ไข้หวัดนกของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำนักงานควบคุมโรคพื้นที่เขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ไปโรงพยาบาลสามง่าม จังหวัดพิจิตร เพื่อเก็บเลือดและเสมหะของผู้ป่วย ส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์จังหวัดนครสวรรค์เป็นการด่วน ผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยทั้ง 4 ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด โดยพบ 3 รายติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ธรรมดา อีก 1 ราย ผลการตรวจเป็นลบ ไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนก ขณะนี้ผู้ป่วยทั้งหมดอาการดีขึ้น ได้ย้ายออกจากห้องแยกปลอดเชื้อเพื่อรอดูอาการ หากอาการดีขึ้นสามารถกลับบ้านได้
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. ให้ความรู้ชาวบ้านที่ตำบลเนินบ่อ ตำบลหนองโสน เน้นห้ามนำเป็ดไก่ที่ตายมาทำเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด หากต้องการเก็บซากมาทำลายต้องสวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาๆ หลายชั้นทุกครั้งอย่าจับด้วยมือเปล่า และเฝ้าติดตามอาการผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิดที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย 4 ราย จำนวน 12 รายทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อและร่างกาย ไอแห้งๆ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ตาแดงหรือบวม ให้ส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลทันที
สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดนกในคน มีการได้เฝ้าระวังต่อเนื่อง จากการเฝ้าระวังการป่วยทั้งจากทุกหมู่บ้าน และตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปอดอักเสบที่รักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทุกวัน และการดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. ทำให้ไม่มีผู้ป่วยมากว่า 2 ปีแล้ว โดยรายสุดท้ายพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2549
และจากการติดตามสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลกจากองค์การอนามัยโลกในปี 2551 นี้ พบว่ายังมีปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกรวม 20 ประเทศ มีรายงานคนป่วยจากโรคไข้หวัดนกรวม 34 ราย เสียชีวิต 26 ราย ใน 5 ประเทศได้แก่ จีน ป่วย 3 รายเสียชีวิตทั้งหมด อียิปต์ป่วย 7 ราย เสียชีวิต 3 ราย อินโดนีเซียป่วย 18 ราย เสียชีวิต 15 ราย เวียดนาม ป่วย 5 รายเสียชีวิตทั้งหมด และบังกลาเทศป่วย 1 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต