สธ. สั่งเฝ้าระวังการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคนอย่างเคร่งครัด หลังพบไก่พื้นบ้านติดเชื้อตายที่อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เผยผลการค้นหาของทีมสอบสวนโรค เบื้องต้นยังไม่พบผู้สัมผัสไก่มีอาการป่วยแต่อย่างใด ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 10 วัน เตือนประชาชนบริโภคไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น และหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยสบู่ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังไอจามและหลังเข้าห้องน้ำ
ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวการตรวจสอบซากไก่พื้นบ้านตายผิดปกติ ที่หมู่ 5 ต.ทุ่งเสลี่ยม อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ว่า ได้มอบหมายให้นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจังหวัดสุโขทัยเคยเป็นพื้นที่เสี่ยงโรคไข้หวัดนกมาก่อน ให้เพิ่มความระมัดระวังการติดเชื้อในคนอย่างเข้มงวด เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ได้ให้นพ.บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย พร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำนักงานควบคุมโรคพื้นที่เขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ลงไปพื้นที่หมู่ 5 ต.ทุ่งเสลี่ยม อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยันเชื้อจากซากไก่ที่ตาย และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลทุ่งเสลี่ยม อสม.ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ ห้ามนำไก่ที่ตายมาทำเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด หากต้องเก็บซากไก่มาทำลาย ต้องสวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาๆหลายชั้นทุกครั้ง อย่าจับด้วยมือเปล่า และเฝ้าติดตามอาการผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิดทุกวัน เป็นเวลา 10 วัน หลังจากที่พบไก่ตายจำนวนมากเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 เป็นต้นมา หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามข้อ กล้ามเนื้อและร่างกาย ไอแห้งๆ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ตาแดงหรือบวม ให้ส่งตัวรักษาในโรงพยาบาลทันที
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ตรวจสอบประวัติผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือมีปัญหาปอดอักเสบ ปอดบวมโดยละเอียด ให้ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกป่วยตายทุกราย เพื่อให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ทั้งยาต้านไวรัสและห้องแยกปลอดเชื้อ
"เนื่องจากคนสามารถติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดนกจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อหรือตาย โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับมูลสัตว์ ปัสสาวะ น้ำมูก น้ำลาย ขน อวัยวะต่างๆ หรือเลือดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะติดที่มือ สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ทางปาก จมูก และตา ดังนั้นต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด โดยการสวมถุงมือ หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆด้วยสบู่ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังไอจาม และหลังเข้าห้องน้ำ ส่วนไก่และไข่ที่มีขายตามท้องตลาดสามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องทำให้สุก งดรับประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อรวมทั้งโรคไข้หวัดนก" นพ.ปราชญ์ กล่าว