xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เอาจริงจ้องดัดนิสัยบิ๊ก สพท.เซ็งผู้บริหารไม่ทำงาน-ร.ร.เล็กถูกเมิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เสนอผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา-รองฯ แบ่งงานกันบริหารอย่างชัดเจน โดยเฉพาะโรงเรียน คือ เพื่อช่วยให้รับทราบปัญหาของโรงเรียนแต่ละแห่ง รับการทำงานของ สพท.ถูกวิจารณ์แง่ลบมานานแล้ว กรณีผู้บริหารเพียบแต่ไม่มีผลงาน หากจี้ชัดใครคุม ร.ร.ไหนและหมั่นดูแลเก็บข้อมูล พัฒนาสถานศึกษาและคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สพฐ.ได้มีการเสนอให้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (รอง ผอ.สพท.) แบ่งงานกันบริหารอย่างชัดเจนโดยเฉพาะโรงเรียนคือ กำหนดลงไปเลยว่า ผอ.สพท. หรือ รอง ผอ.สพท.คนไหนดูแล วิธีนี้จะช่วยให้รับทราบปัญหาของโรงเรียนแต่ละแห่ง จากนั้นผู้ที่รับผิดชอบเป็นโรงเรียนแห่งนั้นจะต้องนำปัญหามาหาทางแก้ไข ทั้งนี้ ตั้งเป้าไปที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนให้สูงขึ้น

“ข้อเสนอให้ ผอ.สพท. รอง ผอ.สพท.จัดสัดส่วนโรงเรียนเพื่อรับผิดชอบนั้น พูดกันมาหลายครั้งแล้ว ซึ่ง บาง สพท.ก็ปฏิบัติ บางแห่งก็ไม่ปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องแต่ละ สพท.มีรอง ผอ.สพท.จำนวนมาก โดยมี 10-11 คน กลับไม่มีผลงานที่ชัดเจน”

ด้านนายพิษณุ ตุลสุข ในฐานะผู้อำนวยการพื้นที่การศึกษาจังหวัดตาก เขต 1 บอกว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวเพราะแต่ละคนจะได้รู้ว่าตนเองต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง และจะเป็นตัวชี้วัดว่า ใครทำงาน ใครแก้ปัญหา หรือใครไม่ทำงาน ตรงนี้จะเห็นชัดเจน เพราะจะมีการเปรียบเทียบกับผู้บริหารคนอื่นโดยอัตโนมัติ ที่สุดผู้บริหารทุกคนจะได้มุ่งมั่นขยันทำงาน เพื่อให้ตนเองมีผลงานที่โดดเด่น

ทั้งนี้ ยอมรับว่า การทำงานของ สพท.ได้ถูกวิจารณ์ในแง่ลบมานานแล้ว เรื่องมีผู้บริหารจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยมีผลงาน หากระบุว่าใครดูโรงเรียนแห่งไหนบ้าง แล้วลงไปดูโรงเรียนเก็บข้อมูลรายละเอียดถึงสภาพความเป็นอยู่ และปัญหา ก็จะนำไปสู่การพัฒนาสถานศึกษา คุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น

เช่นเดียวกับ นายนพพล เหลาโชติ ผอ.ร.ร.มัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล อยู่ในชนบท โรงเรียนตะเวนชายแดน โรงเรียนชายขอบ ฯลฯ ซึ่งอยู่ห่างไกล การเดินทางไปกลับลำบาก ทำให้ขาดผู้หลักผู้ใหญ่ไปให้กำลัง ไม่มีใครไปดูความเป็นอยู่ของเขาว่าต้องการอะไรบ้าง ถ้า สพฐ.กำหนดเป็นนโยบายอย่างชัดเจน แล้วผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบโรงเรียนแห่งนั้นเดินทางไปเดือนละครั้ง 2 สัปดาห์ครั้ง เพื่อให้เห็นกลับตาตนเองหรือรับทราบปัญหาโรงเรียนที่รับผิดชอบ และหาวิธีแก้ปัญหา มั่นใจว่าเพียง 1 ปี 2 ปี จะพบว่าโรงเรียน นักเรียนมีคุณภาพชีวิตดีและผลการเรียนของเด็กดีขึ้นอย่างแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น