“กษมา” วิตกการคืนอัตราเกษียณเต็มร้อยอาจสะดุด เพราะมติ ครม.ออกภายหลังสำนักงบจัดสรรงบผ่านไปแล้ว ฝาก เสมา 1 ติดตาม เผยพบโรงเรียนขาดแคลนครูเกิน 30% สูงถึง 250 แห่ง เตรียมเกลี่ยครูที่ได้จากการคืนอัตราเกษียณไปเติม แนะให้บรรจุครูตรงสาขาขาด
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องการให้การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดมีคุณภาพ จึงมีนโยบายลดจำนวนโรงเรียนที่ขาดแคลนครูเกิน 30% ของกรอบอัตราครูที่โรงเรียนต้องได้รับ เพื่อไม่ขาดแคลนครูมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ จากการสำรวจล่าสุดพบว่า โรงเรียนในสังกัดที่ขาดแคลนครูเกิน 30% นั้น มีจำนวนทั้งหมด 250 แห่ง ทาง สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีนี้จะต้องทำให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครูเกิน 30% หมดไป โดยตนได้ให้นโยบายในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศในวันนี้ พร้อมกำชับให้ สพท.ได้รับจัดสรรอัตราเกษียณคืนไปแล้วให้นำอัตราเกษียณดังกล่าวเกลี่ยไปให้โรงเรียนกลุ่มนี้เป็นอันดับแรก
ขณะนี้ สพฐ.ขาดแคลนครูอยู่ประมาณ 48,000 ราย และเจ้าหน้าที่ธุรการอีก 20,000 รายเพื่อมาทำงานธุรการแทนครู ถ้า สพฐ.ได้รับคืนอัตราเกษียณปี 51 คืนเต็ม 100% จะบรรเทาปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติคืนอัตราเกษียณปี 51 ให้ สพฐ.100% ประมาณ 5,000 อัตราแล้ว แต่ มติ ครม.ออกมาภายหลังการจัดทำงบประมาณผ่านพ้นไปแล้ว ดังนั้น คงต้องรอให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบดังกล่าวมาให้ คาดว่าต้องใช้ประมาณ 500 ล้านบาท เรื่องนี้เป็นงานเร่งด่วนอันดับต้นๆ ที่ต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่เข้ามาผลักดันให้
คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้กำชับให้ สพท.ทุกแห่งดูแลให้การบรรจุครูในโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนมัธยมนั้น เลือกรับครูที่เอกตรงตามวิชาที่ร.ร.ขาดแคลน โดยเฉพาะการบรรจุครูในวิชาหลักๆ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ อย่างประเทศเวียดนาม หากครูไม่รู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉานเขาจะไม่ให้สอนภาษาอังกฤษได้ พร้อมกันนี้ สั่งให้ สพท.ไปสำรวจด้วยว่าโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่มีจำนวนนักเรียนเข้าเรียนระดับ ม.ต้น ลดลงหรือไม่ เพราะการขยายเปิดระดับมัธยมนั้นต้องใช้ครูเพิ่มจำนวนมาก หากนักเรียนเข้าเรียนน้อยเกินไปอาจพิจารณายุบเปิดแค่ระดับประถมศึกษาเช่นเดิม ซึ่งจะช่วยประหยัดครูไปได้
ทั้งนี้ ฝากนโยบายกับ สพท.ว่า จะต้องพัฒนาให้โรงเรียนในสังกัดทุกผ่านการประเมินของสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพิ่มนั้น ต้องไม่มีโรงเรียนใดอยู่ระดับปรับปรุง ปัจจุบัน โรงเรียนมัธยมศึกษา ร้อยละ 85 และโรงเรียนประถมศึกษา ร้อยละ 75 ผ่านการประเมิน ของ สมศ.แล้ว สำหรับโรงเรียนที่อยู่ในระดับปรับปรุงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น