อดีตที่ปรึกษา กม.แฉ “แพทยสภา” หมดเปลือก ถูกหมอนายทุนกุมอำนาจ ช่วยเหลือพวกพ้อง ไม่ต่างจากพวกนักการเมือง ทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธาต้องพึ่งศาลมากกว่ากฎหมายวิชาชีพ รับไม่ได้สมคบนักการเมืองเอาโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์
รศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมายของแพทยสภา กล่าวในงานการประชุมวิชาการโรงพยาบาลชุมชนประจำปี 2551 ว่า ขณะนี้แพทย์มีความกังวลเกรงว่าจะมีเรื่องการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว แพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของราชการทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะตามขั้นตอนผู้ได้รับความเสียหายจะร้องเรียนไปยังกฎหมายด้านวิชาชีพ คือ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ก่อนที่จะไปพึ่งกระบวนการยุติธรรมในคดีแพ่งและอาญา
รศ.แสวง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าขณะนี้แพทยสภาที่ทำหน้าที่เป็นสภาวิชาชีพและถือกฎหมายที่ดูแลกันเองเข้าใจผิด จากหลักการที่ทั่วโลกปฏิบัติ ทำให้เป็นการช่วยเหลือพวกเดียวกัน มีการหาเสียงเป็นนักการเมือง ทำให้ประชาชนไม่ศรัทธาในกลไกนี้จึงหันไปพึ่งศาลมากขึ้น
“ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายของแพทยสภามา 10 กว่าปี แต่ตอนนี้ได้ขอถอนตัวออกมาแล้วและกล้าที่จะยืนยันว่าขณะนี้แพทยสภาถูกกลุ่มทุนยึดไปแล้ว ไม่ต่างกับการหาเสียงของพรรคการเมือง ผมเลยไม่รับปรึกษา ซึ่งเขาเองก็อยากได้นักกฎหมายที่เข้าไปเพื่อชมการทำงานของแพทยสภา ซึ่งไม่ใช่ผม พฤติกรรมเช่นนี้ของแพทยสภาถือว่าพวกเขาทำร้ายตัวเอง ทำให้ประชาชนหมดความศรัทธาในองค์กรและหันไปพึ่งศาลในการขอความยุติธรรมมากขึ้น” รศ.แสวง กล่าว
รศ.แสวง กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาได้เตือนการทำงานของแพทยสภามาโดยตลอดว่า อย่าเอาการแพทย์เป็นธุรกิจ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการเอาโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่กลับมีแพทย์กลุ่มหนึ่งเข้าไปหานักการเมืองที่ในขณะนั้นต้องการครอบครองโรงพยาบาลเอกชนจึงทำให้เป็นเช่นทุกวันนี้ รวมถึงการห้ามโฆษณาตัวผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เช่นเดียวกับทนายความ ซึ่งขณะที่ทำงานอยู่ในแพทยสภาก็พยายามต่อต้านในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด แต่แพทยสภายุคนี้กลับแก้ไขกฎหมายให้ดำเนินการได้ ดังนั้นจึงถือว่ามีความเสี่ยงมากที่ธุรกิจโรงพยาบาลจะเข้าข่ายข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (GATT)
รศ.แสวง กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในการหาเสียงของแพทยสภายังมีการออกนโยบายด้วยว่า จะออกกฎหมายที่ไม่ให้แพทย์ถูกฟ้องคดีอาญา และขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังติดอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแพทย์อาจไม่ต้องรับผิดทางอาญาอยู่แล้ว เว้นแต่ทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์วิชาชีพ ซึ่งหากเป็นการฆ่าคน ลักทรัพย์ก็ถือว่าเข้าข่ายมีความผิด แต่หากเป็นการประกอบวิชาชีพต้องประมาทร้ายแรงนอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลอย่างผิดๆ ด้วยว่า แพทย์ทำผิดกฎหมายอาญาจะถูกตำรวจใส่กุญแจมือทันที ซึ่งความเป็นจริงไม่สามารถกระทำได้ แม้ว่าจะเป็นคดีร้ายแรงเพียงใด การใส่กุญแจมือได้ในกรณีที่จะหลบหนีหรือมีทีท่าว่าจะทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นเท่านั้น
“ในกฎหมายยังระบุด้วยว่า การประมาทร้ายแรงนั้น ในกฎหมายคือ ต้องจงใจประมาทเลินเล่อ ขาดความระมัดระวังโดยตามวิสัยและพฤติการณ์ เท่ากับว่าหากใช้ความระมัดระวังแล้วแต่เกิดความผิดพลาดขึ้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความประมาท ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการก็มีพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 ที่ระบุให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิดต่อผู้เสียหาย และการจะไล่เบี้ยเก็บกับผู้ปฏิบัติงานนั้นก็เป็นเรื่องยาก อีกทั้งคดีที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นคดีเฉพาะ จึงขอให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนทั้งหลายสบายใจได้” รศ.แสวง กล่าว
รศ.แสวง กล่าวด้วยว่า สำหรับคดีที่โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2545 ที่แพทย์ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังผู้ป่วยระหว่างผ่าตัดไส้ติ่งแล้วเสียชีวิต และล่าสุดทางศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแพทย์รายดังกล่าวด้วย ตนได้เข้าไปมีส่วนให้เข้าไปดูเรื่องกฎหมายในช่วงท้ายๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าเละมาแล้ว แต่ก็ทำให้ดีที่สุด ซึ่งได้แนะนำว่าให้นำเงินช่วยเหลือไปบรรเทาก่อน จากนั้นก็ได้หารือกับทีมกฎหมายและตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการประชุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งวัน แต่มีตัวแทนแพทยสภาเข้าตอน 11.00 น. ทานข้าวเที่ยงแล้วก็กลับ แถมยังได้ยินข่าวว่าไปหาเสียงกับแพทย์ว่าเขาทำคดีนี้ด้วยซ้ำ
“แพทยสภายังชอบออกมาให้ข้อมูลเถียงข้างๆ คูๆ ว่า หากศาลตัดสินว่าแพทย์ผิดจะทำให้แพทย์หมดกำลังใจ ไม่กล้าผ่าตัด ซึ่งถือว่าเป็นการบีบบังคับศาล เมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเรื่อน่าจะจบ เพราะคุยกับญาติเขาเรียบร้อยแล้ว แต่เห็นญาติผู้เสียชีวิตปรากฏในสื่อว่าจะไม่ยอมอีก จึงไปทราบทีหลังว่า มีแพทย์บางคนมาเยาะเย้ย ถากถางทำจนเละ แทนที่จะดีขึ้น เรื่องจึงคาราคาซัง ผมจึงเรียนให้ผู้ใหญ่โทร.ไปขอโทษ และถามหาชื่อหมอคนที่กระทำเรื่องดังกล่าว และให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นโทร.ไปด่า เพราะพวกเราเหนื่อยที่จะให้เรื่องมันจบ แต่กลับมาทำเช่นนี้” รศ.แสวงกล่าว