xs
xsm
sm
md
lg

ฉะผู้สมัครผู้ว่าฯ เมินพัฒนาชีวิตคนกรุง แฉ 10 ชื่อถนนอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ปีนี้
นักวิชาการติงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่มีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองชัดเจน ชี้ ทุ่มงบสร้างรถไฟฟ้าไม่ใช่คำตอบเดียว ต้องลดการใช้รถส่วนตัว เน้นเดิน-ขี่จักรยาน พร้อมจัดวันคาร์ฟรีเดย์ 21 ก.ย.นี้ พร้อมเผย 10 ถนนกรุงเทพฯ มลพิษพุ่ง ราชปรารภ-สุขุมวิท-อาจณรงค์ ด้านตากสิน-อนุสาวรีย์ รถติดหนักจนเสียงดังทะลุมาตรฐาน

วันนี้ (16 ก.ย.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเสวนา “คุณภาพชีวิตคนเมือง...กับผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่” ในโอกาสวัน Car free day 2008” ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และประธานกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใดพูดถึงนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อน ที่สำคัญ ยังไม่มีใครกล้าพูดว่า ประชาชนต้องทำอะไรบ้าง เพราะการแก้ปัญหาไม่อาจทำเพียงลำพัง ซี่งนอกจากคนกรุงเทพฯ ควรที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาแล้ว ก็ควรจะติดตามการทำงานของนักการเมืองด้วย ว่าได้พลักดันหรือปฏืบัติหน้าที่ตามที่ได้หาเสียง หรือประกาศนโยบายไว้มากน้อยแค่ไหน เพราะเราคงไม่มีหน้าที่เพียงใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเดียว

“เมื่อพิจารณานโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งต้องประสานกำกับนโยบายกับท้องถิ่น และส่วนกลาง คือ รัฐบาล พบว่า แต่ละคนมีจุดเด่นและนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ แต่การเน้นนโยบายด้านจราจรด้วยการสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้งบประมาณสูง อีกทั้งอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง หากมองว่าปัญหาการจราจร คือ ปริมาณรถและความคล่องตัว ยังมีวิธีแก้อีกหลายวิธี ที่สำคัญคือ ลดปริมาณการใช้รถ ทำให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะจริงๆ ใช้จักรยาน และการเดินให้มากขึ้น” ดร.เจษฏ์ กล่าว

ดร.เจษฏ์ กล่าว ต่อว่า สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ควรเร่งทำเป็นลำดับต้นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต คือ 1.สร้างงาน อาชีพ ให้ประชากร โดยประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และภูมิภาค 2.สร้างสิ่งแวดล้อม เช่น สวนสาธารณะ ที่พักผ่อน 3.ปรับความคล่องตัวบนถนน เน้นความปลอดภัย ลดปริมาณการใช้รถส่วนตัว 4.แก้ปัญหามลภาวะ เช่น ขยะ สิ่งปฏิกูล ไม่ใช่แค่กำหนดเวลาการเก็บ แต่ต้องหาวิธีลดขยะในครัวเรือนด้วย

ด้านศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กรรมการบริหารแผน สสส.กล่าวว่า การทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ มิติหนึ่งคือคุณภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งการจัดการระบบขนส่งมวลชน ให้ความสะดวกสบาย ประชาชนใช้รถส่วนตัวน้อยลง หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชน ส่งเสริมการเดิน การใช้จักรยาน ที่ผู้บริหารกรุงเทพฯ ต้องสร้างความพร้อม ไม่ใช่แค่รณรงค์ให้ขี่จักรยานแค่วันเทศกาล ขีดเส้นทางจักรยานไว้บนถนน แต่ต้องคิดเรื่องความปลอดภัย มีความต่อเนื่อง การลดมลพิษ ลดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่จึงจะเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งไม่ต้องคิดใหญ่เสมอไป แต่ต้องคิดจากสิ่งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่หากจะทำก็ไม่ใช่เรื่องยากและสามารถทำได้จริง

“อย่างการลดค่าจัดเก็บขยะของผู้ว่าฯ ที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำ เราควรรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยของตัวเอง ทั้งนี้ควรมีการขึ้นค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะด้วยซ้ำ ไม่ควรมากลัวเสียคะแนนเสียงโดยการไปลดภาษี เนื่องจากต้องการให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ต้องสร้างจิตสำนึกในการลดปริมาณขยะและการแยกขยะกับประชาชนด้วย จึงอยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดตรงนี้ เพราะหากเงินภาษีที่ได้จากการเก็บขยะ สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งประชาชนก็จะเข้าใจเอง” ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของ กทม.อาจต้องขึ้นการกับการแก้ไข พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 โดยให้รองผู้ว่าฯ เดิมมีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่อง การศึกษา การคลัง การโยธา สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข แต่อาจต้องมาดูการแก้ไขปัญหาในระดับเขตด้วย เพราะปัญญาแต่ละพื้นที่ในเขตเมืองกับชานเมืองปัญหาก็แตกต่างกัน ซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ก็ล้าหลังมาก หากมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ก็สามารถทำได้

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า การรณรงค์และเตรียมความพร้อมให้ประชาชนกันมาใช้จักรยาน หรือการเดิน เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งวันที่ 21 ก.ย.นี้ กรุงเทพมหานคร ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และ สสส.จะจัดกิจกรรมวันปลอดรถ Car free day 2008 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 3 พันคน และจะร่วมกันแปรขบวนจัรยานเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย พร้อมทั้งมีกิจกรรมพร้อมๆกันในอีก 40 จังหวัด

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ที่สำรวจคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ปี 2550 โดยการตรวจฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 โมครอนพบ 10 ถนน ที่เกินค่ามาตรฐาน คือ 1.ราชปรารภ 2.สุขุมวิท 3.อาจณรงค์ 4.บำรุงเมือง 5.สาธุประดิษฐ์ 6.หลานหลวง 7.เยาวราช 8.พิษณุโลก 9.สุขาภิบาล 1 และ 10.ถนนพระราม 1 ส่วนสถานการณ์เสียง พบถนนที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานทุกวัน คือเกิน 70 เดซิเบล คือ ถนนอินทรพิทักษ์และถนนตรีเพชร ส่วนถนนที่การจราจรหนาแน่นที่มีเสียงเกินมาตราฐาน 3 อันดับ คือ 1.ตากสิน 2.สุขุมวิท 3.บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

“หนึ่งในสาเหตุสำคัญของมลพิษอากาศและเสียง คือ การจราจร หากลดปริมาณรถยนต์บนถนนลงได้ ปัญหาก็จะลดลงด้วย ซึ่ง สสส.ร่วมกับ สมาคมนักผังเมืองไทย จัดการสำรวจทางเท้าเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงทางเท้าให้เหมาะกับการเดิน คาดว่า จะส่งผลสรุปให้ กทม.ได้ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกำลังกาย ด้วยการเดิน การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น